แนะประมงพื้นบ้าน ฟ้องศาลปกครอง กรณีไม่กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เตรียมยื่นทวงถาม รมว.เกษตรฯ เร่งกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 57 พ.ร.ก.การประมง 2558 พรุ่งนี้  นักวิชาการ ย้ำเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด

วันนี้ ( 6 มิ.ย.65 ) เข้าสู่วันที่ 11 ที่เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จัดกิจกรรมล่องเรือรณรงค์ “ ทวงคืนน้ำพริกปลาทู “ หยุดจับ หยุดขาย หยุดซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อนจากปัตตานี สู่เจ้าพระยา  ซึ่งวันนี้ได้เคลื่อนขบวนจากท่าน้ำวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ มุ่งหน้าท่าพระอาทิตย์ สวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร กทม.

โดยเป้าหมายของการรณรงค์วันนี้ กลุ่มประมงพื้นบ้าน ต้องการสร้างการรับรู้ต่อผู้บริโภคคนเมือง เนื่องจากข้อมูลการสำรวจของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พบผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำวัยอ่อนหรือสัตว์น้ำเค็มที่ยังไม่ได้ขนาด ขายในโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า คิดเป็นร้อยละ 47 หมายถึงการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคคนเมือง ซึ่งชาวประมงบอกว่าไม่ได้เป็นการกล่าวโทษผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคอาจจะยังไม่รับรู้ปัญหา จึงหวังสร้างความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดการสนับสนุนและยุติการจับการซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน  

เมื่อเคลื่อนขบวนเรือ ถึงสวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร  กลุ่มประมงพื้นบ้าน ได้จัดเตรียมสถานที่ปักหลักจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน โดย ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เตรียมยื่นทวงถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เร่งกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนในวันที่ 7 มิ.ย.​นี้

ด้าน  ปริญญา เทวานฤมิตรกุล   ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ระบุว่า วันนี้ได้นำทีมกลุ่มพายเรือคายัคเก็บขยะ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมให้กำลังใจและร่วมพายเรือรณรงค์กับขบวนของประมงพื้นบ้านด้วย  และในฐานะนักกฎหมายเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ว่าเหตุใดถึงไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ตามกฎหมาย ในการกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

ทั้งนี้ ​เนื่องจากพระราชกำหนดการประมงปี 2558 ที่ออกหลังการรัฐประหารยึดอำนาจ 1 ปี  ในมาตรา 57 มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยมาตรานี้ระบุ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งอันนี้มีสองส่วนคือ ห้ามจับสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าที่ในประกาศกำหนด เพื่อให้การคุ้มครอง ไม่ใช่อ้างว่าติดแหมาด้วย  หรือไม่ตั้งใจ ดังนั้นเลยเขียนคุ้มครองไว้ คือนอกจากห้ามจับ ยังห้ามนำขึ้นเรือด้วยถ้าเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก

“อีกทั้ง มาตรา 57 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นคนออกข้อกำหนด ว่าเป็นขนาดเล็กแค่ไหนห้าม ใหญ่แค่ไหนถึงจับได้  แล้วจะมีเงื่อนไขใดบ้างก็ให้อำนาจ รมว.ทั้งหมด  คำถามคือ พ.ร.ก.การประมงออกปี2558 แต่ปีนี้ 2565 มัน7 ปีแล้ว กระทรวงเกษตรฯทำอะไรอยู่ ก็ต้องถามรมว.เกษตรฯ ว่า ท่านทำไมต้องปล่อยให้ชาวประมงพื้นบ้าน ต้องล่องเรือมา 10 วัน ในเรื่องที่เป็นหน้าที่ของท่าน ตามกฎหมาย ถ้า พ.ร.ก.เพิ่งออกเมื่อปีที่แล้วหรือ 2 ปี ยังพอทำเนา นี่มัน 7 ปีแล้ว ผมว่ามันไม่มีเหตุผลใดที่จะบอกว่าไม่ออก เป็นเรื่องที่ท่านต้องชี้แจง จะมาเฉยๆแบบนี้ไม่ได้ในเมื่อกฎหมายบอกว่าเป็นหน้าที่“

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี 
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี 

พร้อมกันนี้ ยังระบุว่า การที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายไม่ดำเนินการกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ปฏิเสธไม่ได้ที่จะถูกตั้งข้อสงสัย ข้อสังเกตจากสังคม ได้ 2 อย่าง คือเป็นเรื่องปัญหาที่มันเกี่ยวพันกับผลประโยชน์หรือไม่ ถ้าออกข้อกำหนดมาแล้ว ว่าห้ามจับปลาขนาดเล็ก จับสัตว์ขนาดเล็ก จะกระทบประโยชน์ใครหรือไม่ หรืออีกอย่างนึงคือไม่ใส่ใจ ไม่เป็นธุระ ไม่สนใจ ซึ่งหากเป็นแบบนี้ก็แย่เลย แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน กฎหมายบอกให้อำนาจ ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำด้วย 

นอกจากนี้ยังเสนอว่า ว่าเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน สามารถใช้ช่องทางกฎหมาย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเอาผิดกับรัฐมนตรี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ที่ไม่ดำเนินการเรื่องนี้

“ผมว่านอกจากต้องไปทวงถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นคนดูแลแล้ว อีกทางที่อยากเสนอ คือชาวประมงพื้นบ้าน สามารถไปร้องต่อศาลปกครองได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ 7 ปี ยังไม่ออกข้อกำหนด แสดงว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นคือการไปขอให้ศาลท่านให้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อันนี้เป็นอีกทาง“

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี 

อาจารย์ปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการยุติการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของชาวประมงพื้นบ้าน แต่คือเรื่องของคนไทยทุกคน เพราะอ่าวไทย ทะเลในประเทศไทย เป็นพื้นที่อาหารให้กับคนทุกคน ถ้าหากเราไม่หยุดยั้งการทำประมงทำลายล้าง จับสัตว์วัยอ่อน จับลูกปลาทู จะไม่เหลือปลาเหลือสัตว์ทะเลในอ่าวไทยต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ