ระบุ ขาดการผ่านความเห็นจากตัวแทนนักศึกษา กังวลเปิดช่องรัฐแทรกแซง บังคับอำนาจรวมศูนย์ หวัง สส. ไม่รับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ด้าน สส.ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกต สภานักศึกษาฯ อยู่ภายใต้การดูแลของนายกฯ กระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กรนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่
วันนี้ (9 ส.ค. 2566) ที่รัฐสภา เครือข่ายตัวแทนจากองค์กรนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้ายื่นคัดค้านร่างพระราชบัญญัติสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.สภานักศึกษาฯ เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวขาดการผ่านความเห็นจากตัวแทนนักศึกษา เปิดช่องให้รัฐเข้าแทรกแซงองค์กร และอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานของกลุ่มนักศึกษาที่เป็นอิสระ
บรรดาตัวแทนเครือข่ายองค์กรนักศึกษาทั่วประเทศ พร้อมรายนามองค์กรนักศึกษาร่วม 32 องค์กร จาก 21 สถาบัน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติได้มีการเสนอมาทั้งสิ้นสองฉบับ ฉบับแรกเสนอโดย นางสาวรุจิภา ภีระ ร่วมเข้าชื่อประชาชนจำนวน 11,650 คน และฉบับที่สอง เสนอโดย นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย โดยทั้งสองฉบับไม่ได้มีเนื้อหาที่แตกต่างกันนัก และได้เข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมในพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ตามกำหนดการจะมีการอภิปรายโดย สส. แต่ละพรรคการเมือง เมื่อ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้อภิปรายเนื่องจากกรอบเวลาที่กระชั้นชิด
คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า พ.ร.บ. ดังกล่าว มีปัญหาเป็นอย่างมากทั้งในเเง่ของการควบคุมองค์กรนักศึกษา การแทรกแซง เเละการที่รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวในกิจการสภานักศึกษา โดยชี้แจงเหตุผล 3 ข้อ
- ร่างพระราชบัญญัติไม่ได้มีการผ่านความเห็น หรือเป็นความต้องการของตัวแทนนิสิตนักศึกษาจริง ๆ กล่าวคือสภานิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือ องค์การนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ได้ต้องการให้เกิดกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้น กลับกัน ต้องการให้รัฐสภาเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ตลอดจนเปิดพื้นที่ในการเรียกร้องทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยจะเป็นการส่งเสริมหลักการเสรีประชาธิปไตยได้มากกว่าและเป็นรูปธรรม
- เนื้อหาของร่างก็ยังเต็มไปด้วยการเปิดช่องทางให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าในช่วงการเคลื่อนไหวเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา องค์กรนิสิตนักศึกษาต่าง ๆ เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในประเด็นทางการเมือง ทำให้ในหลายมาตราในกฎหมายฉบับนี้เต็มไปด้วยการเปิดช่องแทรกแซงของรัฐ
- ร่างพระราชบัญญัติจะนำมาซึ่งการรวมศูนย์การบริหารงานขององค์กรนิสิต นักศึกษา ซึ่งทำให้องค์กรนิสิต นักศึกษา แต่ละมหาวิทยาลัยจะขาดอิสระในการจัดการตนเอง ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดการกระจายอำนาจและยังไม่เห็นเหตุผลอันชอบธรรมของการพยายามรวมอำนาจขององค์นิสิต นักศึกษาเหล่านี้
โดยเนื้อหาภายใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว กำหนดให้สมาชิกสภามาจาก ‘การสรรหา’ ตามหลักเกณฑ์ที่ผูกโยงอำนาจโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี สมาชิกมีวาระครั้งละ 1 ปีนับตั้งแต่วันที่แต่งตั้ง โดยสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และจะเป็นหน่วยงานอิสระที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
ด้าน ปารมี ไวจงเจริญ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า การที่สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 18 จะกระทบต่ออิสระในการดำเนินงานขององค์กรนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งหรือไม่ นอกจากนี้ ที่มาของสมาชิกสภายังไม่เป็นธรรมและไม่ยึดโยงกับเสียงของนักศึกษาเท่าที่ควร เพราะ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล จะได้รับการจัดสรรตำแหน่งสถาบันละ 2 ตำแหน่ง (นายกองค์การบริหารฯ และประธานสภานักศึกษาฯ) ในขณะที่สถาบันเอกชนได้เพียงแค่ 1 ตำแหน่งเท่านั้น (เฉพาะนายกองค์การบริหารฯ) ตลอดจนการสรรหาโดยรัฐอีก 20 – 40 ที่นั่ง
ใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ของสภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยไว้เพียงหลักการทั่วไป ปรากฎอำนาจหน้าที่เบื้องต้น เช่น พิทักษ์รักษาสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพ ในกรอบแห่งกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และศีลธรรมอันดีงามของไทย และ ปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษามีความเสียสละเพื่อส่วนรวม ตลอดจนถึงสังคมและประเทศชาติ เป็นต้น
“เมื่อร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จึงนำไปสู่ข้อครหาถึงความพยายามที่จะเข้าควบคุมองค์การนิสิตนักศึกษาและสภานิสิตนักศึกษาให้ต้องสยบยอมต่อความไม่เป็นธรรมอันขัดต่อเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย …จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเคารพและยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยทุกท่านจะเข้าใจและไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว”
จดหมายเปิดผนึกจาก 32 องค์กรนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดการแถลงโดยตัวแทนเครือข่ายองค์กรนิสิต นักศึกษา ได้มีตัวแทนพรรคการเมืองจากพรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ เข้ารับฟังข้อคิดเห็นและรับปากว่าจะนำข้อกังวลใจของตัวแทนนักศึกษาเข้าสู่การอภิปรายถกเถียงในรัฐสภาตามกระบวนการต่อไป