Beach for life และเครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบารา ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ให้ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมาย หลังพบการใช้ประโยชน์ชายหาดปากบารา จ.สตูล กระทบต่อการท่องเที่ยวและสิทธิการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะของประชาชนทั่วไป
วันนี้ (6 ต.ค. 2566) เครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบารา กลุ่ม Beach for life และภาคประชาชนจังหวัดสตูล ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่รุกล้ำพื้นที่ชายหาดปากบารา จังหวัดสตูล
โดยรายละเอียดในหนังสือ ระบุว่า บริเวณชายหาดของทะเลปากบารา หมู่ที่ 6 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีสภาพเป็นชายหาดของทะเลซึ่งน้ำทะเลท่วมถึง เป็นสถานที่ซึ่งประชาชนไปเที่ยวเตร่และพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนบนชายหาดดังกล่าวในลักษณะต่าง ๆ อันถือได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (2) มาตลอดต่อเนื่อง ไม่ปรากฏเอกชนหรือบุคคลใดครอบครองหรือใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ประกอบกับ กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ได้ยืนยันว่า สภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวที่มีการอ้างสิทธิ์ในที่ดินนั้น มีสภาพเป็นชายหาดที่มีน้ำทะเล
ท่วมถึง และไม่พบร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด จนมาถึงปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนไม่มีที่ดินชายตลิ่งเหลืออยู่แล้ว
ปรากฏต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล สาขาสตูล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดกรมที่ดินมีการ ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ เป็น น.ส.3 ก เลขที่ 1772 เลขที่ดิน 442, 443, 444, 445 และ 446 ให้แก่เอกชนรายหนึ่งบนที่ดินดังกล่าว และเอกชนรายดังกล่าวมีการดำเนินการให้มีสิ่งปลูกสร้าง และการกระทำอื่นใด ลักษณะให้มีสิ่งปลูกสร้างบนชายหาดดังกล่าว อันเป็นการครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (2)
การกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นการดำเนินการบนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ประชาชนทั่วไป เครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบารา กลุ่ม Beach for life และภาคประชาชนจังหวัดสตูล ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ชายหาดได้ดังเดิม รวมทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการกระทบสิทธิที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ชายหาดได้
“ที่จริงสำนักงานที่ดินจังหวัดน่าจะทราบเรื่องนี้ดี เพราะว่าตรงนั้นเป็นชายหาดสาธารณะที่ประชาชนให้ประโยชน์ร่วมกัน แต่อยู่ ๆ ก็ไปปักป้ายเป็นเจ้าของ ดังนั้น ต้องกลับไปทบทวนเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นการกระทำโดยชอบหรือไม่ ทั้งกรมเจ้าท่า มหาดไทย ต้องเข้ามาร่วมพิจารณา ขณะในพื้นที่ตอนนี้เริ่มมีการปลูกสร้างร้านค้าในพื้นที่ส่วนรวมแล้ว จะทำให้ชายหาดหายไป ประเด็นของเราคือให้มีการตรวจสอบ และเพิกถอนหากมีกรรมสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนที่สาธารณะ”
สมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
การยื่นหนังสือดังกล่าง มี จารุนันท์ อภัย หัวหน้าฝ่ายช่วยอำนวยการนักบริหารกรมที่ดิน กรมที่ดิน ในฐานะผู้รับหนังสือ ระบุว่าจะเร่งดำเนินการเพื่อพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ และทบทวนรายละเอียดทางกฎหมาย โดยจะแจ้งกลับไปให้สำนักงานที่ดินจังหวัดได้รับทราบ และรับไปดำเนินการต่อ ภายในกรอบระยะเวลา 30 วัน