ชาวบ้านวังหีบร้องเรียนเร่งแก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ หวั่นกระทบวิถีชีวิต ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้านประธาน กมธ.การที่ดินฯ รับปากนำเรื่องเข้าที่ประชุมเดินหน้าแก้ปัญหา
วันที่ 15 พ.ย. 66 อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะ กมธ. การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะ กมธ. ปกรณ์ อารีกุล อนุกรรมาธิการฯ รับยื่นหนังสือจาก วุฒิชัย แก้วลำหัด ผู้แทนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการวังหีบ ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และคณะ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบและยับยั้งการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ/เขื่อนวังหีบ
เนื่องด้วยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 อนุมัติในหลักการและให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการตามโครงการอ่างเก็บน้ำ/เขื่อนวังหีบต่อไปนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้สร้างผลกระทบต่อประชาชน ทั้งการคุกคามประชาชนในพื้นที่ การสร้างความชัดแย้งให้กับประชาชนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีโครงการอ่างเก็บน้ำ/เขื่อนวังหีบ ตั้งอยู่บนพื้นที่ชุมชนวังหีบแล้วจะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน และวิถีชีวิต ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของประชาชนและพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์
ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ชาวบ้านวังหีบคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการศึกษาให้ครบถ้วนทุกมิติก่อนเดินหน้าโครงการ ฯ แต่กลับไม่มีความคืบหน้า จึงขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ/เขื่อนวังหีบ โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการศึกษาทุกมิติ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
ด้าน อภิชาติ ศิริสุนทร กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ในฐานะ คณะ กมธ. การที่ดินฯ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวโดยตรงจะนำเข้าสู่การประชุมคณะกมธ. และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับโครงการเขื่อนวังหีบนั้นเป็นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง มีเนื้อที่จำนวน 1 พันกว่าไร่ เป็นที่ดินลาดชัน ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และมีเขตติดต่อกับอุทยานน้ำตกโยงอีกด้วย
โดยเขื่อนวังหีบมีขนาดความสูง กว่า 70 เมตร มูลค่าการรก่อสร้าง กว่า 2,300 ล้านบาท เหตุผลของการสร้างนั้นอ้างว่าใช้เพื่อกักเก็บน้ำช่วงหน้าแล้ง แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ส่งเสริมการท่องเที่ยว และอาชีพประมง