รัฐ-ทุน เร่งพัฒนา สิทธิชุมชนถูกทิ้ง

‘สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ’ เปิดสถานการณ์ สะท้อนภาพทรัพยากรถูกใช้เยอะ มลพิษตกค้างสะสม ป่าลดลง แต่สิทธิชุมชนและมนุษยชนถูกละเมิดจากการพัฒนาของรัฐและทุน

สิทธิชุมชน

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2568 สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) เปิดเผยสถานการณ์สิทธิสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันชุมชนในประเทศไทยพบกับปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม พุ่งเป้าเรื่องการได้กำไรเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงเสียงของชุมชน ในมิติเรื่องอาหาร ชีวิต ความเป็นอยู่ ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตคนในสังคม 

พชร คำชำนาญ ตัวแทนจากภาคเหนือและกรรมการ สคส. กล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมของภาคเหนือคือการเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นจากเหตุการณ์ปีที่แล้ว, การเติบโตของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ทั้งทุนในประเทศและทุนข้ามชาติ รวมถึงแนวคิดนักอนุรักษ์ กฎหมายไม่เป็นธรรม เรื่องการผลักภาระให้ชาวบ้านรับผิดรับชอบ สิทธิชุมชนท้องถิ่นชุมชนพื้นเมือง

“ทั้งหมดนี้ แทนที่รัฐจะแก้ แต่กลับพบว่าเขากลับนำวิธีการแก้ปัญหาที่ผิด ๆ หรือ False solutions มาใช้ในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน คนจน เกษตรกรรายย่อย ชนเผ่าพื้นเมืองกระทบทุกทาง”

พชร เล่าถึงปัญหาในเชิงรูปธรรมจากการแก้ปัญหาของรัฐ เช่น สถานการณ์ป่าไม้ ที่ดิน เรื่องคาร์บอนเครดิต เป็นสถานการณ์ร่วมของประชาชนหลายพื้นที่ หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังพบว่าวิธีการแก้ปัญหาเป็นแบบเดิม 

“เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว แย่งยึดที่ดินของประชาชน และเอาที่ดินเหล่านี้ไปฟอกเขียวเป็นพื้นที่คาร์บอนเครดิตให้กับกลุ่มทุน ขณะเดียวกัน พบพื้นที่ป่าลดลง สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง สถานการณ์ไฟป่า ฝุ่นควัน เป็นปัญหาโครงสร้าง แต่รัฐจัดการปัญหาแบบรวมศูนย์ “ห้ามเผา” เรื่องน้ำกับเขื่อนมีปัญหาเรื่องการทำ EIA ของกลุ่มทุนที่ไม่เคารพกฎหมาย ปิดกั้นข้อมูล สูญเสียพื้นที่ป่า เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน โดยยกกรณีผลกระทบที่เกิดกับแม่น้ำกก และสถานการณ์ของโครงการทำเหมืองที่กระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ 

ขณะที่ภาคเหนือตอนล่าง ตัวแทนระบุว่า พบการขยายของเมือง อย่างการขยายตัวของอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดมลพิษและการจัดการขยะที่ไม่ถูกวิธี อีกทั้งพบว่าเมืองเติบโตอย่างผูกขาด ทำให้สิทธิชุมชนถูกมองข้าม ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนา 

สำหรับภาคอีสาน อกนิษฐ์ ป้องภัย สะท้อนว่า รัฐเน้นสร้างโครงการขนาดใหญ่ อย่างกรณี โขงชีมูล ที่มีแผนผันน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม แต่กลับพบว่าโครงการที่เกิดขึ้นกลับละเลยการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เคยได้รับผลกระทบจากโครงการ ซึ่งยังมีปัญหาอื่น ๆ ทั้ง ป่าไม้ ที่ดินทำกิน และอุตสาหกรรม ไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่น

“ทรัพยากรธรรมชาติอีสานโรยราไปตั้งนานแล้ว แต่ยังถูกซ้ำเติมทุกคืนวัน ปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำ เอาแค่น้ำ แต่ไม่ประเมินว่าได้ผลหรือไม่ แปลว่าพยายามทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำหมื่น ๆ ไร่ให้มีแต่น้ำ แต่ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มันทำให้คนจนไม่มีแหล่งหากิน”

(เรียงจากซ้าย) ปวริศา บุญประสพ ภาคเหนือล่าง, ครรชิต เข็มเฉลิม ภาคตะวันออก, อกนิษฐ์ ป้องภัย ภาคอีสาน และเบญจวรรณ เพ็งหนู ภาคใต้

เช่นเดียวกับภาคตะวันออก ครรชิต เข็มเฉลิม กล่าวว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมอะไรก็ตามที่เกิดอยู่ภาคตะวันออก จะขยับไปภาคอื่น ๆแน่นอน เพราะตอนนี้รัฐกับทุนร่วมมือกันเพื่อเร่งการพัฒนา 

ครรชิต ยกตัวอย่าง เรื่อง EEC หรือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยมองว่านี่อาจเป็นต้นแบบการพัฒนาของประเทศไทย แม้ตามแผนโครงการจะระบุว่า มีเพียงสามจังหวัดเท่านั้นที่จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่

“ตอนที่เราคุยกันเรื่องอีอีซี คนภาคอื่นเฉย ๆ นะ เพราะว่ามันเป็นภาคตะวันออก แถมยังมีแค่สามจังหวัด ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา คนจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกก็เฉยตาม เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดนี้ แต่รู้หรือไม่ว่าจังหวัดอื่นที่อยู่รอบพื้นที่นี้จะรู้ซึ้งเลย ว่าก็โดนด้วยเหมือนกัน โดนดูดทรัพยากรเข้ามาอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำในจังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก”

นอกจากนี้ EEC ยังมีปัญหาตั้งแต่ผังเมืองเปลี่ยนสี การออกคำสั่งพิเศษ 4/2559 ยกเว้นผังเมือง ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาโรงงานกำจัดขยะ นอกจากนี้ภาคตะวันออกยังพบปัญหาช้างป่าที่ออกมานอกพื้นที่อนุรักษ์ และยังพบปัญหาที่เหมือนกันกับภูมิภาคอื่น ๆ คือเรื่องการจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้อุตสาหกรรมให้เพียงพอ ทำให้หลายจังหวัดของภาคตะวันออกจำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าทำเป็นแหล่งน้ำ  และมีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำพื้นที่ป่าอีกไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง 

ซึ่งพื้นที่การพัฒนาแบบ EEC ได้ขยับไปที่ภาคใต้ นั่นคือ SEC ครรชิต ให้ความเห็นว่า หากพื้นที่ภาคใต้สามารถทำสำเร็จได้ พื้นที่ภาคอื่น ๆ เตรียมรับมือได้เลย พร้อมสะท้อนว่า พื้นที่ภาคใต้จะมีระเบียงเศรษฐกิจพิเศษที่ประชาชนไม่สามารถกำหนดเองได้ จนท้ายที่สุดพบว่านโยบายเหล่านี้ ไปเกี่ยวโยงกับเรื่องของแลนด์บริดจ์ เรื่องของ Southern Seaboard หรือ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้เข้ามา 

“ถามว่า เอสอีซี ใครเป็นคนกำหนด แล้วพี่น้องภาคใต้ได้อะไร เราได้แค่ฝุ่นควันพิษ ได้แค่โรงงานอุตสาหกรรมที่เราต้องเจอกับมันตลอดแล้วเป็นแค่แรงงานเล็ก ๆ แต่ผลประโยชน์ที่ได้เป็นของใคร ที่มาเป็นกรรมสิทธิ์ 99 ปี นี่เป็นการทิ้งท้ายให้ฟังว่าถ้าเราไม่ได้กำหนดอนาคตของประเทศไทยเราเอง ไม่ใช่แค่ภาคใต้ แต่เราจะอยู่กันอย่างไร ที่บ้านของทุกคน” 

นอกจากนี้ ในวงเสวนายังมีการพูดคุยถึงข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาใหม่ที่เป็นธรรม เช่น

  • การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการประกาศพื้นที่ที่ประชาชนจะเข้าไปร่วมบริหารจัดการ เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่ป่าชุมชน ป่าบุ่งป่าทาม ป่าริมห้วย และการมีส่วนร่วมในการทำประชาคมการตั้งโรงงานที่ก่อมลพิษให้โปร่งใส 
  • ประสานภาคี นักวิชาการในมหาวิทยาลัยการจัดทำระบบข้อมูลในการสร้างการเรียนรู้กับประชาชนในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ
  • รณรงค์ผลักดันนโยบายข้อกฎหมายร่วมกับสมัชชาและเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคีอื่น ๆ
  • ให้ชุมชนใช้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ลดความสูญเสียและเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  • สร้างการผลักดันผ่านการสื่อสารสาธารณะที่ครอบคลุมมากขึ้นในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสร้างแหล่งอาหารด้านโปรตีน การจัดการป่าครอบครัวเพื่อเป็นแหล่งอาหาร การจัดการอาชีพ การจัดการป่าชุมชน
  • พัฒนาแผนปฏิบัติการข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาที่เป็นธรรมมากขึ้น ผ่านการปฏิบัติการในระดับพื้นที่และมีการเชื่อมโยงกับองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมร่วมกันดันเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกับภาคีอื่น ๆ
  • ทบทวนยุตินโยบายต่าง ๆ ที่เป็นการลิดรอนสิทธิ์ เช่น การอพยพออกจากป่า อุตสาหกรรมขุดเจาะ ที่ต้นทางการเกิดก๊าซเรือนกระจก  
สาคร สงมา ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)

สาคร สงมา ประธาน สคส. ให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว พบว่ากลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากร การพัฒนา คือ คนกลุ่มคนที่คุมเศรษฐกิจประเทศกลุ่มเล็ก ๆ ในสังคมประเทศ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่ต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน

เขากล่าวอีกว่า หากการพัฒนายังคงเดินหน้า แบบคำนึงแต่ผลกำไร ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคน ก็จะเป็นการพัฒนาที่ไปข้างหน้าไม่ได้ และหากเพิกเฉย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องมาแก้ไขกันภายหลัง ซึ่งข้อเสนอที่ได้จากการระดมความคิดเห็น โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงการจัดการที่เป็นธรรม จะถูกสื่อสารและส่งถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเห็นชอบด้วยหรือไม่

“อีกสิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรเรื่องราวเหล่านี้จะกลายเป็นกระแสของสังคมที่ไม่ใช่เพียงหน้าที่สมัชชาฯ ซึ่งกระแสความไม่เป็นธรรมเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม สังคมต้องเรียกร้องพร้อมกัน ต้องเกิดการปะทุขึ้นของสังคม จึงจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้”

สำหรับเวทีเสวนา “สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ” เป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาวิชาการสาธารณะระดับชาติ สิ่งแวดล้อม มลพิษ สุขภาพ และความยุติธรรม Environmental and Health Justice FORUM 2025 ที่ได้ร่วมระดมความเห็น ถกประเด็น สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ พลเมืองไทย เพื่อให้ได้ข้อเสนอทางนโยบาย ทั้งในระดับความตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดใช้พลาสติก ข้อเสนอต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และข้อเสนอต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมายที่สำคัญ เช่น กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพ กฎหมาย PRTR กฎหมาย EPR กฎหมาย WEEE กฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายสิ่งแวดล้อม


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active