ไทยพีบีเอส เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม “Policy Watch” ระดมความเห็น 5 ภาคส่วน พัฒนาเว็บไซต์ หวังเป็น ‘สะพานเชื่อมการสื่อสาร’ ระหว่าง นโยบาย-สื่อ-สาธารณะ สร้างพื้นที่ของการมีส่วนร่วม
วันนี้ (14 ธ.ค.2566) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดเวทีระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย (focus group) “Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย” เพื่อรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม และผู้ใช้ข้อมูลในการทำงาน เพื่อนำข้อเสนอแนะไปพัฒนาต่อยอดเว็บไซต์ Policy Watch ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ ที่จะเป็นพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ ให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่ครอบคลุม
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษา เว็บไซต์ Policy Watch กล่าวว่า Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย คือ แพลตฟอร์มที่จะเปลี่ยนการสื่อสารนโยบายสาธารณะ โดยไทยพีบีเอส ที่จะเปลี่ยนจาก “การสื่อสารเส้นตรง” สู่ “การสื่อสารสองทาง” คือ อดีตภาคนโยบายสื่อสารสิ่งที่ทำสู่สาธารณะ มาสู่การสื่อสารสองทางแบบสร้างปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม และสื่อเปลี่ยนบทบาทจาก ‘”สื่อกลาง” ที่เป็นเพียงแค่ตัวกรองและส่งเรื่องราวจากระดับนโยบายไปสู่ประชาชน กลายเป็น “สะพานเชื่อม” ความสัมพันธ์ระหว่างระดับนโยบายกับสาธารณะ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง นโยบาย สาธารณะ สื่อ
“การระดมความเห็นครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อต้องการความเห็นและเสียงสะท้อนต่อ Policy Watch โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. ความเห็นในแง่จุดยืนของไทยพีบีเอสในการทำนโยบายสาธารณะ 2. สะท้อนการใช้งาน Features หลักของแพลตฟอร์ม ว่าสามารถตอบโจทย์กับการใช้งานได้หรือไม่ 3. ชวนมาดูความเป็นไปได้ในการร่วมมือและการเชื่อมต่อข้อมูลกันระหว่าง Policy Watch กับแพลตฟอร์มของหน่วยงานต่าง ๆ”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
อานนท์ บุณยประเวศ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Green Dot สะท้อนความเห็นว่า การที่เปิดกลุ่มเล็ก ๆ สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน เมื่อจะทำอะไรบางอย่างจำเป็นต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทันสมัย สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกงาน ที่สำคัญในมุมมองของการจัดการ การรับฟังความคิดเห็นจะทำให้ประหยัดเวลา ไม่ต้องแก้ไขยุ่งยากในอนาคต ประหยัดเวลาและทรัพยากร
“สำหรับแพลตฟอร์ม Policy Watch เสนอว่า ‘แผนธุรกิจ’ คือสิ่งที่ต้องมี ไม่ได้หมายความว่าเป็นแผนหาเงิน แต่หมายถึงการกำหนดกลุ่มเป้าหมายว่า ผู้ใช้คือใคร ควรต้องสื่อสารให้ชัด ต่างจากแฟลตฟอร์มติดตามนโยบายอื่นอย่างไร ความโดดเด่นคืออะไร คู่แข่งของเราคือใคร”
อานนท์ บุณยประเวศ
สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาการทำงานของภาครัฐมักถูกตรวจสอบในลักษณะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจบลง แต่แพลตฟอร์ม Policy Watch จะเป็นเครื่องมือรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานของภาครัฐ เมื่อวาระรัฐบาลสิ้นสุดลง ประชาชนจะสามารถใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวตรวจการบ้าน และประเมินการทำงานของภาครัฐได้ โดยเสนอว่า โจทย์ต่อไปของแพลตฟอร์มดังกล่าว คือการทำให้ประชาชนและฝ่ายการเมืองมีส่วนร่วมในการ “จับตา” นโยบายได้มากขึ้น หรือทำให้แพลตฟอร์มนั้น “มีชีวิต” และ “เท่าทันสถานการณ์” หากทำได้ เราจะมีกลไกการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐที่เข้มแข็งและเป็นธรรมชาติ (Organic)
“แพลตฟอร์มนี้จะสะสมข้อมูลและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เมื่อครบวาระ 4 ปี ภาคประชาชนก็จะได้ประเมินการทำงานของรัฐ และนักการเมืองก็จะได้พัฒนาตัวเอง”
สมบูรณ์ คำแหง