เปลี่ยน ‘ผู้ประสบภัย’ อาคารสูง เป็น ‘ผู้ช่วยเหลือ’ หลังเหตุแผ่นดินไหว

ธนาคารจิตอาสา เดินหน้าฟื้นฟูจิตใจชาวคอนโด ผ่านแนวคิด “เปลี่ยนผู้ประสบภัยให้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือ” เผยปัญหาใหญ่ของชุมชนแนวตั้ง คือเน้นแก้ปัญหาแทนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ พร้อมเปิดอบรมทักษะเยียวยาเพื่อนบ้านให้ลูกบ้าน-นิติบุคคล-พนักงาน สร้างเครือข่ายฟื้นฟูจากภายใน ขณะที่ผู้จัดการนิติฯ เสนอตั้ง “เครือข่ายนิติบุคคลคอนโดมิเนียม” เชื่อมโยงระบบสาธารณสุขและรับมือภัยพิบัติในอนาคต​​​​​​​​​​​​​​​​

วันที่ 4 เม.ย.2568 สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วม ธนาคารจิตอาสา เปิดเผยกับ The Active ถึงแนวทางฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยชี้ว่าหนึ่งในกลุ่มเปราะบางคือ “ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม” ซึ่งมักประสบปัญหาทั้งทางกายภาพและจิตใจ

“จากการพูดคุยกับเครือข่าย ทั้ง สสส., สถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพ, และสถาบันสุขภาพจิตวัยรุ่นราชนครินทร์ เราพบว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่อาศัยในชุมชนแนวตั้งอย่างคอนโดฯ ซึ่งหลายแห่งเสียหายหนักจนไม่สามารถกลับเข้าอยู่ได้”

ธนาคารจิตอาสา จึงเตรียมแผนลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผ่านกระบวนการ “เปลี่ยนผู้ประสบภัยให้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือ” โดยเริ่มจากกิจกรรมอบรมออนไลน์ในวันจันทร์ (7 เม.ย.2568) ที่จะถึงนี้ ซึ่งเปิดรับทั้งลูกบ้าน นิติบุคคล และพนักงานดูแลอาคารในคอนโดมิเนียม

ฟื้นฟูความสัมพันธ์ก่อนฟื้นฟูปัญหา

สรยุทธ ชี้ว่า ปัญหาในคอนโดฯ มักลงเอยด้วยการออกกฎระเบียบใหม่ แทนที่จะเริ่มจากการเข้าใจและเยียวยาความรู้สึกของผู้คนในชุมชน

“หลายครั้งการประชุมลูกบ้านเป็นเวทีของการโต้แย้ง ฟ้องร้อง มากกว่าการร่วมมือกันสร้างความเข้าใจ เราอยากเปลี่ยนจุดเน้นของเวทีเหล่านี้ จากการแก้ปัญหาเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาคุยกันเรื่องปัญหาในลำดับถัดไป”

แนวคิดนี้นำไปสู่การจัดอบรม “ทักษะผู้ฟัง – ผู้เยียวยา” ให้แก่กลุ่มอาสาสมัคร โดยให้ผู้เข้าร่วมฝึกสังเกตความรู้สึกของตนเองก่อน แล้วจึงออกไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ถามสารทุกข์สุขดิบ และเสนอความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เช่น การฟังปัญหา หรือช่วยประสานกับนิติบุคคล

“เราจะให้ผู้เข้าอบรมลองเดินไปเคาะห้องข้างๆ หรือแวะไปทักทายที่นิติฯ แค่ถามว่า ‘เป็นยังไงบ้าง มีอะไรให้ช่วยไหม’ เท่านี้ก็เปลี่ยนพลังงานในชุมชนได้แล้วครับ”

สร้างเครือข่ายฟื้นฟูจากภายใน

แผนระยะถัดไปคือการสร้างเครือข่ายร่วมกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เช่น แสนสิริ, ลุมพินี, ไอดีโอ ฯลฯ เพื่อร่วมกันประเมินความต้องการ (Need Assessment) และออกแบบระบบฟื้นฟูสุขภาวะในแต่ละคอนโดแบบเฉพาะจุด โดยให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายในคอนโด ทั้งลูกบ้าน พนักงาน และนิติบุคคล

จากที่เคยทำงานร่วมกับคอนโดบางแห่งมาแล้ว เห็นชัดว่า นิติฯ หลายแห่งทำงานหนักมาก แต่ไม่ค่อยได้รับความเข้าใจ หากลูกบ้านสามารถมีทักษะในการพูดคุย ฟังอย่างลึกซึ้ง และช่วยดูแลซึ่งกันและกันได้ คอนโดก็จะเป็นชุมชนที่น่าอยู่ขึ้นอย่างแท้จริง

สุดท้าย สรยุทธ ฝากแนวคิดหนึ่งที่ควรเป็นหัวใจของการอยู่ร่วมกันในคอนโด

“ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และความเข้าใจก่อนการแก้ปัญหา เมื่อเราใส่ใจความสัมพันธ์ก่อน ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ทั้งการสื่อสาร บรรยากาศ และความร่วมมือของผู้คนในพื้นที่เดียวกัน”

ออกแบบ “กลไกใหม่” ที่เชื่อมโยงคน–ชุมชน–รัฐ

สรยุทธ กล่าวว่า ธนาคารจิตอาสาไม่ได้ทำงานเฉพาะกับอาสาสมัครเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้มีส่วนร่วมหลากหลายฝ่าย ตั้งแต่คนในชุมชน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงนักวิชาการ

สิ่งที่เราพยายามทำ คือออกแบบระบบจิตอาสาให้มันกลายเป็นเครื่องมือทางนโยบายสาธารณะ ถ้าคุณมีข้อมูลว่าแต่ละชุมชนมีคนทำจิตอาสาอะไรบ้าง ใครมีทักษะเรื่องใดบ้าง คุณสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ หรือสนับสนุนกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมคือการทำงานกับชุมชนในพื้นที่เมือง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ และแรงงานนอกระบบ ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพา แต่ภายใต้โครงการของธนาคารจิตอาสา กลุ่มเหล่านี้กลับกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและดูแลพื้นที่ของตนเอง

ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือ แต่คือการออกแบบสังคมใหม่

สิ่งที่ทำให้ธนาคารจิตอาสาแตกต่างจากแพลตฟอร์มจิตอาสาทั่วไป คือความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับระบบ “เราไม่ได้ต้องการแค่จิตอาสาเพิ่มขึ้น แต่ต้องการให้ระบบรองรับจิตอาสาดีขึ้นด้วย เช่น มีการบันทึกผลกระทบ มีเครื่องมือวัด มีการใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย”

ปัจจุบันธนาคารจิตอาสามีโครงการในพื้นที่เมืองหลายแห่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างจำนวนมาก ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงระบบสวัสดิการที่ไม่ทั่วถึง แนวทางของธนาคารจิตอาสา คือการใช้พลังจิตอาสาเป็นสะพานเชื่อมระหว่างปัญหากับการมีส่วนร่วมของประชาชน

เปลี่ยน “คนทั่วไป” ให้เป็น “ผู้ออกแบบสังคม”

ท้ายที่สุด สรยุทธ มองว่า หัวใจของงานจิตอาสาในยุคนี้ไม่ใช่เพียงการช่วยเหลือกันในระดับบุคคล แต่คือการออกแบบ “ระบบ” ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถลุกขึ้นมามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างแท้จริง

“เราอยากให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเจ้าของนโยบาย เป็นเจ้าของเมือง ไม่ใช่ผู้รับอย่างเดียว”

ในวันที่ความหวังของการพัฒนาประเทศดูเหมือนจะต้องรอการเปลี่ยนแปลงจาก “บนลงล่าง” ธนาคารจิตอาสาคืออีกหนึ่งตัวอย่างของการพลิกกลับมอง “ล่างขึ้นบน” ที่ไม่เพียงแต่จุดประกายพลังของคนธรรมดา แต่ยังสร้างระบบที่ทำให้พลังนั้นยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงได้จริง

เปิดใจ “นิติบุคคล” รับมือลูกบ้านหลังแผ่นดินไหว 

จากเหตุแผ่นดินไหวที่รับรู้ได้ในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้ แม้จะไม่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อโครงสร้างอาคาร แต่กลับเผยให้เห็น “รอยรั่ว” ด้านการบริหารจัดการภายในคอนโดมิเนียมที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบรับมือภัยพิบัติที่ชัดเจน

ภญ.ธิดาพร จิรวัฒนะไพศาล ผู้จัดการนิติบุคคคล คอนโดเดอะทรัสต์ งามวงศ์วาน บอกว่า หลังจากเหตุการณ์เริ่มสงบ ทีมงานนิติบุคคลได้เร่งประสานวิศวกรเข้ามาตรวจสอบสภาพอาคารทันที โดยเริ่มจากจุดสำคัญ เช่น ห้องไฟ ลิฟต์ และโครงสร้างหลัก ก่อนจะเชิญวิศวกรโยธามืออาชีพมาตรวจสอบอย่างละเอียดในวันถัดไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกบ้าน

“หลังเหตุการณ์ ความตื่นตระหนกยังคงอยู่ หลายคนไม่กล้านอนในห้อง บางคนไม่ยอมกลับเข้าตึกเลย” เธอเล่าต่อว่า ความหวังของผู้พักอาศัยมักไปอยู่ที่ “ผู้จัดการนิติบุคคล” หรือ “ใครสักคนที่ดูแลได้” จึงเสนอให้มีการจัดกิจกรรมฟังเสียงสะท้อนของลูกบ้านและช่วยเยียวยาจิตใจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ

คอนโดมิเนียม = ชุมชนเมืองใหม่ ที่ไร้กลไกท้องถิ่น

จากประสบการณ์ที่พบเจอ ภญ.ธิดาพร บอกว่า คอนโดก็เหมือนชุมชนหนึ่ง แต่ไม่มีองค์กรชุมชนท้องถิ่นช่วยดูแล โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและภัยพิบัติ การอยู่คอนโดมันคือการอยู่ร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาเราต่างคนต่างอยู่ ไม่มีเครือข่ายนิติบุคคลที่เชื่อมโยงกันเลย

ภญ.ธิดาพร เสนอว่า ควรจัดตั้ง “เครือข่ายนิติบุคคลคอนโดมิเนียม” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางบริหาร การเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ และการสื่อสารระหว่างกันในยามฉุกเฉิน โดยเธอพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาคอนโดมิเนียมให้เป็น “ชุมชนที่ปลอดภัยและมีชีวิต”

อนาคตของงานสาธารณสุขในคอนโดมิเนียม

เมื่อมองจากบทบาทเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เธอมองว่าการมีเครือข่ายนิติบุคคลจะช่วยให้ภาครัฐสามารถส่งเสริมงานด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้กลไกของ สปสช. ในการสนับสนุนงบประมาณ เช่น การจัดคัดกรองสุขภาพ จัดกิจกรรมให้ความรู้ หรือแม้แต่การรับมือกับโรคระบาด

“ดิฉันอาศัยอยู่คอนโด ถ้าการสุ่มตัวอย่างตรวจวัณโรคของกรมมาตกที่เขตของดิฉัน ก็ยินดีเลยค่ะ” ธิดาพรกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่า การเริ่มต้นสร้างเครือข่ายในพื้นที่เช่นนี้ ต้องอาศัยทั้งคนกลางอย่าง “นิติบุคคลอาคารชุด” และความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกบ้าน

เธอเล่าต่อว่า การกระจายข้อมูล หรือแม้แต่การแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย อาจทำได้ยากในคอนโดเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนในต่างจังหวัดที่มี อสม.หรือระบบดูแลชุมชนอยู่แล้ว แต่ในเมือง วิธีการอาจต้องพลิกแพลง เช่น การวางตู้ถุงยางในห้องน้ำส่วนกลาง หรือตั้งจุดรับแบบไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเขินอาย

“มันต้องทำผ่านระบบที่ลูกบ้านเชื่อใจ เช่น นิติฯ หรือผู้ดูแลอาคาร ซึ่งรู้ดีว่าลูกบ้านเป็นใคร มีพฤติกรรมแบบไหน รับสารได้จากช่องทางใด” เธอกล่าว

แผ่นดินไหว – จุดตั้งต้นเครือข่ายสุขภาพเมือง

“ในวิกฤตมีโอกาส” ภญ.ธิดาพร ย้ำว่าวันนี้คอนโดมิเนียมกำลังเดินเข้าสู่จุดเปลี่ยนจาก “ที่พักอาศัยส่วนบุคคล” ไปสู่ “พื้นที่ชุมชน” อย่างแท้จริง ที่ต้องมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกลไกดูแลร่วมกัน โดยเฉพาะในวันที่ภัยพิบัติไม่เคาะประตูเตือนล่วงหน้า

เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนเริ่มคิดถึง “ความเปราะบาง” ในพื้นที่แนวตั้ง ไม่ใช่แค่ด้านโครงสร้าง แต่รวมถึงระบบดูแลสุขภาพและการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน

โดยเชื่อว่า วิกฤตนี้อาจเป็นโอกาสในการ “ทดลองสร้างเครือข่ายสุขภาพเมือง” ผ่านกลไกที่มีอยู่แล้ว เช่น นิติบุคคลคอนโด โดยอาศัยกิจกรรมหรือโครงการเฉพาะ เช่น การตรวจวัณโรค หรือการส่งเสริมสุขภาพจิต มาเป็นตัวเปิดพื้นที่ให้คนในคอนโดเริ่มคุยกัน เริ่มรู้จักกัน และเริ่มเป็น “ชุมชน” อย่างแท้จริง

“ถ้าเครือข่ายนิติบุคคลสามารถเข้มแข็งได้จริง การคัดกรองหรือส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ จะเข้าไปถึงเมืองได้เลยค่ะ” เธอย้ำ

แม้จะมีอุปสรรคเรื่องวิธีการและวัฒนธรรมที่ยังไม่เปิดกว้าง แต่มองว่า หากมีการออกแบบกลไกให้เหมาะสม สร้างความไว้ใจ และเปิดช่องให้ผู้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น พื้นที่แนวตั้งอย่างคอนโดก็สามารถกลายเป็น “ชุมชนเมือง” ที่ดูแลกันเองได้

“มันไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่มันคือโอกาสในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของเมือง” เธอกล่าวทิ้งท้าย พร้อมเสนอแนวคิดให้เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ที่จับต้องได้ และค่อย ๆ สร้างฐานความร่วมมือในระยะยาว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active