คนงานยานภัณฑ์ ยุติอดอาหารประท้วง หลังมีสัญญานบวก ชงเข้า ครม. ใช้งบฯ กลาง 466 ล. เยียวยาลูกจ้างถูกลอยแพ

ปักหลักรอความชัดเจน 22 เม.ย.นี้ ยืนยันไม่ใช่การให้เปล่า และสร้างบรรทัดฐานในการคุ้มครองแรงงานในอนาคต

วันนี้ (8 เม.ย.68) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เก่า ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล กลุ่มพนักงานยานภัณฑ์ และแนวร่วมคนงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชย ซึ่งปักหลักอดอาหารประท้วงจำนวน 6 คน มาตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.67 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใช้งบกลาง 466 ล้านบาท เร่งเยียวยาปัญหาฉุกเฉินของแนวร่วมคนงานที่ถูกลอยแพ 4 กลุ่ม กว่า 3,000 ชีวิต

ประกาศขอยุติการประท้วงอดอาหาร ตามคำขอร้องของเจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงาน และเพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีโอกาสในการใช้สมาธิหาทางแก้ไขปัญหาของแรงงานอย่างเต็มที่

มาลี เตวิชา เป็นคนแรกที่นั่งอดอาหารประท้วง รวมเป็นเวลา 27 วัน อาหารมื้อแรกของเธอในวันนี้เป็นข้าวต้ม อาหารอ่อน ๆ สำหรับร่างกายที่ไม่ได้รับสารอาหารอื่นนอกจากน้ำเปล่ามามาเป็นเวลานาน

ภาพ : แมวซาโบ

แนวร่วมแรงงาน ยังร่วมกันทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ตามวัฒนธรรมอีสาน และผูกข้อไม้ข้อมือให้กับมาลี และแนวร่วมอีก 5 คน ที่อยู่ในอาการอิดโรย บางคนมีไข้ ด้วยเชื่อว่าเป็นการเรียกขวัญให้กลับเข้าตัว และมีสุขภาพที่แข็งแรง มีจิตใจที่มั่นคงอีกครั้งหนึ่ง

มาลี กล่าวว่า การยุติอดอาหารในครั้งนี้ เกิดจากการร้องขอของเพื่อน ๆ แรงงานที่เป็นห่วงด้านสุขภาพ บางคนมีอาการเจ็บป่วย ประกอบกับเห็นทิศทางในเชิงบวก เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนคนงานได้รับทราบจากทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่าการขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจาก 8 หน่วยงาน คือ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงอุตสาหกรรม, และสำนักงบประมาณ นั้นได้รับหนังสือความเห็นตอบกลับมาอย่างครบถ้วนแล้ว

แต่ยืนยันว่าแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ จะปักหลักติดตามความคืบหน้าที่ด้านหน้า ก.พ.ร.เก่า ต่อไป เพื่อเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเร่งบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 เม.ย. 68 เรื่องการพิจารณาอนุมัติงบกลางสำหรับช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชย มิฉะนั้นทางผู้เดือดร้อนก็จะต้องดำเนินการยกระดับการประท้วงเรียกร้องอีกครั้ง

“หากการเรียกร้องสำเร็จ ไม่ใช่แค่พวกเรา แต่จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศไทยต่อไปในระยะยาวอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง การปรับแก้ข้อกฎหมายว่าด้วยการยึดทรัพย์นายจ้าง และลำดับเจ้าหนี้ หรือการเร่งรัดการดำเนินคดีกับนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ รัฐบาลและสังคมไทย”

มาลี เตวิชา

สำหรับบริษัทยานภัณ​ฑ์ จำกัด มหาชน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2495 ด้วยทุนจดทะเบียน 2.5 ล้านบาท ดำเนินการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่จนประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ต่อมาบริษัทยานภัณฑ์ได้ขยายสาขาการผลิตไปสู่ชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายทั่วประเทศ ปี 2547 และซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อขยายการผลิตพร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,600 ล้านบาท

แต่ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการปิดกิจการและเลิกจ้างลอยแพพนักงานกว่า 800 ชีวิต โดยไม่มีการจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างหรือเงินค่าทดแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งล้วนเป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ตัวแทนแรงงาน ยังระบุว่า เงินค่าชดเชยการเลิกจ้างควรจะเป็นหลักประกันความมุมานะของผู้ใช้แรงงาน แต่สุดท้ายแล้วพนักงานยานภัณฑ์กลับต้องปักหลักประท้วงที่ข้างถนนด้านหน้าโรงงานของตัวเอง มาตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.67 และต่อมาก็ได้ย้ายมาปักหลักที่บริเวณสำนักงาน ก.พ.ร. เก่า ข้างทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 68 มาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาทั้งหมดกว่า 3 เดือนแล้ว ที่ผู้เดือดร้อนได้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม

ทั้งนี้เงินทั้งหมดราว 466 ล้านบาท ที่กลุ่มแรงงานเรียกร้องจากรัฐบาลไปนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการให้เปล่า หากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางมาให้กับคนงานแล้ว ทรัพย์สินของนายจ้างที่ถูกกรมบังคับคดียึดเอาไว้ก็จะถูกยกให้เป็นของรัฐบาล ซึ่งทางรัฐบาลสามารถเอาคืนคลังต่อไปได้ในภายหลัง

ขณะที่เวลา 16.00 น. มีรายงานว่า เรือนทิพย์ รัตนราศรี ผอ.กองส่งเสริม และประสานงานคณะรัฐมนตรี ชี้แจงทางกับกลุ่มแรงงานว่า ข้อเสนอทั้งหมดจะมีความชัดเจนในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ว่าจะทันเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 เม.ย.นี้ หรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active