เรียกร้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง คืนอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม กำหนดทิศทางการพัฒนา ขณะที่ ชาวบ้าน สะท้อนผลกระทบโครงการขนาดใหญ่ทั้งรัฐ เอกชน เวทีสัญจรพรรคการเมืองฟังเสียงคนจน ครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ (8 เม.ย.65) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร ร่วมจัด “เวทีสัญจรพรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 1 โดยมีพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 พรรคหลัก เข้าร่วมรับฟังปัญหาจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ซึ่งส่วนใหญ่ มีปัญหาร่วมกันจากโครงการขนาดใหญ่ทั้งจากรัฐและกลุ่มทุน
บารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน บอกว่า เวทีนี้ชูประเด็นด้านสิทธิในการจัดการทรัพยากร การกระจายอำนาจ และการพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของความยากจน เมื่อมีการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่
ชาวบ้าน จึงมีข้อเสนอร่วมส่งต่อไปยังตัวแทนพรรคการเมือง ว่า หากอยู่ในคณะรัฐมนตรีควรจะออกนโยบาย ที่ยึดโยงกับประชาชน โดยเปลี่ยนมุมมองการพัฒนา ไม่ใช่แค่ดึงดูดนักลงทุน แต่ต้องส่งเสริมต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน และหันกลับมามองเรื่องการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน เกษตรกร เช่น ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของเสนอคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องยึดโยงกับประชาชน
“ที่เราเรียกตัวเองว่าคนจน ไม่ได้แปลว่าไม่มีเงินทอง แต่เราจนสิทธิ จนอำนาจ หลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพราะรัฐไม่เปิดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม แต่เชื่อว่าถ้ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่สุดระบุให้อำนาจประชานอย่างชัดเจน จะเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง มาสู่การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ด้วย”
บารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน
นอกจากเวทีสัญจรฯ ครั้งที่ 1 แล้ว จะมีเวทีลักษณะนี้อีก 7 ครั้ง โดยสัญจรไปทั่วประเทศ 4 ภูมิภาค ซึ่งแต่ละเวทีจะมีกลุ่มชาวบ้าน เครือข่ายภาคประชาชน มาร่วมสะท้อนปัญหา และกำหนดประเด็นหลักในแต่ละเวที โดยเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมรับฟัง
‘เหมืองแร่โปแตช’ วานรนิวาส ปมปัญหาเชิงนโยบาย มองข้ามประชาชน
หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีสัญจรฯ ครั้งนี้ คือ ชาวบ้าน ใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร พวกเขาได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่แม้จะคัดค้านกันมาอย่างยาวนาน แต่บริษัทยังเดินหน้า ขออาชญาบัตรสำรวจแร่ และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมือง
สุดตา คำน้อย ตัวแทนกลุ่มรักวานรนิวาส พาThe Active ลงพื้นที่ไปดูร่องรอยการสำรวจแร่ที่หลงเหลืออยู่ โดยบริษัทได้สิทธิ์สำรวจแร่ เมื่อปี 2558 และ ในระหว่างสำรวจ การคัดค้านของชาวบ้านกลายเป็นคดีความและข้อพิพาทเมื่อบริษัทฟ้องร้อง แกนนำชาวบ้าน 9 คนที่ออกมาประท้วง
ล่าสุดแม้อาชญาบัตรสำรวจแร่ของบริษัทจะหมดอายุไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 แต่บริษัทยังคงพยายามขอสิทธิ์ในการสำรวจเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ซึ่งชาวบ้านมองว่าการเกิดขึ้นของเหมืองแร่ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกากหางแร่ซึ่งเป็นเกลือ จะถูกขุดขึ้นมาและทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม อีกทั้งอาจเกิดปัญหาหลุมยุบเพราะเป็นการทำเหมืองใต้ดิน ประเด็นสำคัญที่สุดคือจะต้องมีการแย่งน้ำไปเพื่อการแต่งแร่จำนวนมาก ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมก็ต้องอาศัยน้ำจากแหล่งเดียวกัน
“การเกิดขึ้นของเหมืองโปแตชนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐในอดีตที่สนับสนุนกลุ่มทุน ให้ทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ด้วยหวังจะเกิดการจ้างงานและเกิดการพัฒนาในพื้นที่ สวนทางกับชาวบ้านที่มองว่าเป็นนโยบายที่แย่งชิงทรัพยากร และละเมิดสิทธิชุมชน”
สุดตา คำน้อย ตัวแทนกลุ่มรักวานรนิวาส
นอกจากเหมืองแร่โปแตช ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร แล้ว ในเวทีพรรคการเมืองฟังเสียงคนจน ยังมีชาวบ้านจาก อ.วังสะพุง จ.เลย สะท้อนปัญหาการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำ ที่ยังคงมีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม และ ชาวบ้าน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี สะท้อนปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ทำลายวิถีประมงอีกด้วย