ภาคี สสส. ระดมความคิดสร้างความปลอดภัยบนถนน ย้ำนอกจากกม.แล้ว ต้องอาศัยการรับรู้ และแรงกระเพื่อมของประชาชนเป็นแรงเสริม พร้อมมีองค์กรกลางประสานความร่วมมือกับทุกภาคีผลักดันวัฒนธรรมใหม่ในการใช้รถใช้ถนน
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 Imagine Thailand movement ร่วมกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ของ สสส. และมูลนิธิเมาไม่ขับ จัดเวทีสาธารณะ เปิดแนวคิดแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน“ เป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม” เพื่อให้ถนนในเมืองไทยมีความปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเยาวชน และลดสถิติการสูญเสียชีวิต
ด้าน นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวใน วงเสวนาในหัวข้อ “พลังร่วมของสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ร่วมสร้างวัฒนธรรมและความปลอดภัย” ว่า การพัฒนาของเทคโนโลยี ถือเป็นแนวทางในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนได้
“เดี๋ยวนี้พอมีเทคโนลยีเรื่องกล้องเข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมได้ด้วยกล้อง เพราะถ้าคุณไม่ปฏิบัติตามกฏหมายจราจรกล้องก็จะถ่ายแล้วเอามาโพสต์ในโซเชียล แล้วก็เกิดการถกเถียงว่าเนี่ยคนตายก็เพราะคุณเนี่ยแหละ ผมก็เห็นจุดตรงนี้มันเปลี่ยนได้ เทคโนโลยี Disruption หลายวงการแล้วทำไมเทคโนโลยีจะมา Disruption วงการอุบัติเหตุบ้างไม่ได้ และอีกอย่างที่ประชาชนไม่เปลี่ยนเพราะเขามองว่าไม่มีอะไรเอาผิดเขาได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาเห็นว่าสังคมไม่ยอมรับการกระทำเขาก็จะฉุกคิด แต่ก็ต้องเริ่มด้วยตัวเราถ้าตัวเราไม่เริ่ม มันไม่มีทางสำเร็จ เราก็เลยต้องชวนคนมาเป็นหูเป็นตา”
พร้อมทั้งยกกรณีของ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกบิ๊กไบค์ชนบททางม้าลาย ว่าหลังจากมีคำพิพากษาออกมา โทษของผู้ก่อเหตุเบาจนอาจจะทำให้คนในสังคมมองว่าความผิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฏหมายจราจรซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นความผิดไม่รุนแรง และอาจจะไม่ได้กลัวกับการต้องฝ่าฝืน อีกทั้งเหนือขึ้นไปมากกว่ากฎหมาย คือ ระบบอุปถัมป์ และคอรัปชั่น ดังนั้นในประเทศไทยอาจจะ ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จะต้องอาศัยการรับรู้ และแรงกระเพื่อมของประชาชนเข้ามาช่วยอีกแรง
แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการสร้างความปลอดภัยทางถนน มีการรณรงค์ ให้ความรู้ และมีการขับเคลื่อนทั้งเชิงรับเชิงรุก แต่ประเด็นอุบัติเหตุ ประเด็นสร้างความปลอดถัยบนท้องถนนก็ยังคงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร การจัดเวทีเสวนาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยน สร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมในเรื่องของการตระหนักรู้ถึงการสูญเสียจากอุบัติเหตุ
ด้าน อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Imagine Thailand movement และผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ เปิดเผยว่า ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ชวนภาคีเครือข่าย สสส. ที่ขับเคลื่อนเรื่องอุบัติเหตุในประเทศไทยมายาวนาน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมระดมสมอง ในห้องปฏิบัติการทางสังคม Road Safety Social Lab ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกใน ประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน เช่น การยกระดับสภาพแวดล้อม กลไกเฝ้าระวัง การสร้างจิตสำนึก การใช้พลังสังคม (Social Sanction) และการปลูกฝังความรู้สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
โดยหนึ่งในกลไกสนับสนุนแนวยุทธศาสตร์ให้เกิดขึ้นได้จริง คือ การมีเจ้าภาพ หรือหน่วยงานกลาง ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนน และมีองค์กร ที่อาจจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสมาคม ให้ทำหน้าที่ ประสานความร่วมมือกับทุกภาคี ภาครัฐ ภาคประชาชน ส่งเสริมจิตสำนึก และขับเคลื่อนการสร้างวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ซึ่งหน่วยงานกลางที่คิดกันขึ้นมา คือ การตั้ง “เป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม” เพื่อประสานความร่วมมือกับทุกภาคี และเพื่อผลักดันแนวคิดการสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน