องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชี้ เก็บส่วยสินบน เป็นต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น แนะใช้ความตื่นตัวภาคประชาชน และเทคโนโลยีแบบใหม่ ครอบระบบราชการเดิม ยุติวงจรคอร์รัปชัน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 งบประมาณแสนล้าน เป็น 1 ใน 10 โครงการของกรุงเทพมหานคร ที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นโครงการที่เอกชน-รัฐ-ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลและการตรวจสอบโครงการทั้งหมดได้ แต่ที่ผ่านมา ยังมีหลายข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เช่นเดียวกับอีกหลายโครงการ ที่สร้างความทุกข์ให้กับคนกรุงเทพฯ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย มีข้อมูลว่า เฉพาะปี 2564 มีประชาชนร้องทุกข์ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันใน กทม. ไม่น้อยกว่า 64,000 เรื่อง และต้องยอมรับว่า เรื่องที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วนหนึ่งมาจาก การทุจริตคอร์รัปชัน
The Active คุยกับ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่เปิดเผยว่า กทม. ติดอันดับ 3 ทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดในประเทศ รองจากกรมชลประทาน และกรมการปกครอง โดยมี กรมทางหลวงชนบท เป็นอันดับที่ 4 เพราะมีงบประมาณมหาศาล การตรวจสอบยาก นอกจากนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ยังเคยดึงข้อมูลจาก กรมบัญชีกลาง ออกมาวิเคราะห์ พบว่า ช่วงปี 2558-2564 มีถึง 2,111 โครงการของ กทม. ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงฮั้วประมูล
สำหรับการจัดอันดับ 10 หน่วยงานรัฐ เสี่ยงผิดปกติจัดซื้อจัดจ้าง ตามข้อมูลที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ใช้ระบบ ACT Ai ตรวจพบความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติ ระหว่างปี 2558 – 2564 คือ 1) กรมชลประทาน 6,197 โครงการ 2) กรมการปกครอง 2,513 โครงการ 3) กรุงเทพมหานคร 2,111 โครงการ 4) กรมทางหลวงชนบท 1,966 โครงการ 5) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 1,503 โครงการ 6) กรมทางหลวง 1,020 โครงการ 7) การประปาส่วนภูมิภาค 993 โครงการ 8 ) การประปานครหลวง 949 โครงการ 9) กรมทรัพยากรน้ำ 828 โครงการ 10) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 725 โครงการ
5 อันดับของการทุจริตคอร์รัปชัน ใน กทม. รอบ 10 ปี
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 5 อันดับของการทุจริตคอร์รัปชัน ใน กทม. พบมากที่สุด คือ
- สินบนเงินใต้โต๊ะ ของกำนัล พบมากในกระบวนการขออนุญาตก่อสร้าง การจดทะเบียน การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของเอกชน เพื่อให้ดำเนินการได้สะดวก ซึ่งเอกชนอาจเสนอให้โดยไม่ได้ร้องขอ
- กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง พบมากในโครงการขนาดใหญ่ เช่น ขั้นตอนร่าง TOR การบริหารสัญญา ส่วนโครงการระดับเขต พบในรูปแบบการเอื้อประโยชน์การจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ ระเบียบการเบิกจ่าย และการตรวจรับงาน
- เจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ พบมากในเรื่องการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เช่น สำนักงานเขตไม่ตรวจสอบ ผู้รับเหมาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่เทศกิจ รีดไถค่าปรับ งานประเมินภาษีไม่ถูกต้อง ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ และการไม่ออกใบเสร็จเวลาจ่ายเงิน
- ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ พบมากในกระบวนการจ้างรับเหมา เช่น ในระดับเขต มีการจ้างรับเหมาที่เอื้อประโยชน์กับเอกชน เจ้าหน้าที่ กทม. มีอำนาจเด็ดขาด เช่น การบังคับใช้กฎหมาย การใช้ดุลพินิจ และการบริหารอิทธิพลในพื้นที่ ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น สก. และผู้มีบารมี
- การใช้อำนาจเปิดเผย หรือ ไม่เปิดเผยข้อมูล เพื่อผลประโยชน์ พบกรณีที่ กทม. ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการข้อตกลงคุณธรรม ไม่ให้ความร่วมมือกับ คณะผู้สังเกตการณ์ ขาดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูล TOR
Open Data หัวใจสำคัญตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน
มานะ เปิดเผยอีกว่า ฐานข้อมูลของ กทม. ไม่ได้มาตรฐาน และไร้คนท้วงติง เพราะโดยปกติ การจัดซื้อจัดจ้างของ หน่วยงานราชการ จะต้องปรากฏอยู่ใน ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement :e-GP) ของ กรมบัญชีกลาง แต่ของ กทม. กลับพบเห็นการบันทึกน้อย และแทบไม่ได้ยินเสียงทักท้วง ทั้งที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ อีกประเด็นคือ การใช้งบประมาณของ กทม. ก็แทบจะไม่มีการเปิดเผยงบประมาณ ทำให้ประชาชนแทบไม่รู้เลยว่า หมดงบประมาณแต่ละก้อนไปกับการแก้ปัญหาเรื่องอะไรบ้าง
เขายังยกอีกตัวอย่างที่ทำให้ภาพรวมทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากใน กทม. เป็นเพราะหน่วยงานราชการทั่วไปจะใช้งบประมาณ 20% ไปกับงบฯ ลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ในทางปฏิบัติ ใช้งบฯ ส่วนนี้ไปเพียง 14-15% ที่เหลือซ่อนอยู่ในงบอื่น ๆ มากเป็น 2-3 เท่าของงบฯ ลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ตรวจสอบได้ยาก และบางโครงการไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากสภากรุงเทพมหานคร
วงจรคอร์รัปชันระดับเขต ส่วนกลาง และฝ่ายบริหารระดับสูง
มานะ อธิบายวงจรการเกิดคอร์รัปชัน ว่า มีตั้งแต่ระดับเขต ส่วนกลาง และฝ่ายบริหาร ถ้าเกิดขึ้นใน ระดับ ‘เขต’ มักเป็นเรื่องรีดไถ ส่วย สินบน ถ้าเป็น ‘ส่วนกลาง’ ปัญหาใหญ่คือเรื่องโกงกินในการจัดซื้อจัดจ้าง และถ้าเป็น ผู้บริหารระดับสูง จะเกิดคอร์รัปชันที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบวงกว้าง คือ คอร์รัปชันเชิงนโยบาย การเอื้อประโยชน์พวกพ้อง การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม และการรับส่วยจากผู้ใต้บังคับบัญชา
“เก็บส่วยสินบนจากพ่อค้า แม่ค้า ทำให้สามารถใช้พื้นที่โดยไม่เกรงใจใคร แต่เงินที่จ่าย เป็นต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น สมมติมีการเก็บเงินใต้โต๊ะจากผู้ประกอบธุรกิจ สร้างบ้าน อาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินจะกลายเป็นต้นทุนราคาขาย ก็จะบวกแพงขึ้น เปิดโอกาสให้หลีกเลี่ยงทำในสิ่งผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะคิดว่า ซื้อความถูกต้อง และได้เปรียบคนอื่น”
ความหวังภาคประชาชนหลัง ACT จับมือ กทม. ปราบโกง?
ภาคประชาชน มีความหวังกับการทำงานร่วมตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน กับ กทม. โดย มานะ มองว่า การที่ผู้ว่าฯ กทม. อย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประกาศตัวเอง สนับสนุนประชาชนสร้างธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และเตรียมพัฒนาระบบฐานข้อมูลเปิด (Open Gov) เป็นเหมือนพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และข้าราชการกว่า 90,000 คน ซึ่งจากนี้ก็จะกลายเป็น KPI ที่ใช้ปฏิบัติงานร่วมกัน
โดยมีข้อเสนอไปถึงการควบคุมคอร์รัปชัน ผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารระดับสูงต้องเข้าใจ และมุ่งมั่น เลิกความคิดเน้นใช้เงินซื้อ – สร้าง – ลงทุน มาเป็นผู้บริหารที่คำนึงถึงผลสำเร็จและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้ รับผิดชอบในสิ่งที่ทำไป ดูแลข้าราชการ กทม. ทุกคนดั่งเพื่อนร่วมงาน ให้เขาทำหน้าที่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ก้าวหน้าในหน้าที่ด้วยความสามารถ ไม่ต้องคอยวิ่งเต้นเส้นสาย โดยย้ำว่า ปัญหา กทม. เกี่ยวข้องกับ เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ที่ทำงานแบบเดิมกันมานานหลายสิบปี การจะเอาชนะ คอร์รัปชัน ด้วยวิธีไปไล่จับอาจจะทำไม่ได้ คงต้องอาศัยความตื่นตัวจากภาคประชาชน และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้พฤติกรรมแบบใหม่ ๆ ครอบระบบราชการแบบเดิม
คำถาม คือ จะทำอย่างไรให้การตรวจสอบวันนี้ และการตรวจสอบย้อนหลัง เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในอนาคต ซึ่งหากทำได้ สิ่งนี้ยังสะท้อนไปถึงคะแนนความโปร่งใส และดัชนีคอร์รัปชันไทยในอนาคตอีกด้วย