หวังยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคไทย เร่งรัดตั้งวาระเพื่อให้ทันสมัยประชุมหน้า
วันนี้ (19 พ.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา สภาผู้บริโภค พร้อมนักกฎหมาย นักวิชาการ และ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รวมตัวเข้ายื่นเรื่องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) โดยมีร่างกฎหมายประกอบรายชื่อสนับสนุน รวม 71,454 รายชื่อ ประกอบด้วย 1. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. … จำนวน 23,872 รายชื่อ 2. พระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … จำนวน 23,877 รายชื่อ และ 3. พระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือ กฎหมายเลมอน ลอว์ (Lemon Law) จำนวน 23,705 รายชื่อ
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั้งหมด 70,000 กว่าชื่อ ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค เพราะฉะนั้นหวังว่าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ จะเป็นร่างของรัฐบาลในการนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และหวังว่าสภาผู้สภาผู้แทนราษฎรจะเร่งดำเนินการนําร่างของภาคประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุนมา 70,000 กว่าชื่อ เข้าสู่การพิจารณา และเร่งรัดในการตั้งวาระเพื่อให้ทันสมัยประชุมที่กําลังจะเกิดขึ้น
“ต้องขอขอบพระคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมกับการผลักดันกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญของประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสื่อมวลชนจะช่วยกันติดตามกฎหมายฉบับนี้ เพราะขณะนี้เรียกได้ว่ากระบวนการยุติธรรมไม่อาจเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้ หวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาส่วนหนึ่งให้กับผู้บริโภคได้จริง”
สารี อ๋องสมหวัง
‘สิทธิถูกจำกัด’ เหตุผล ที่ต้องแก้ กม.คุ้มครองผู้บริโภค
ชัยรัตน์ แสงอรุณ บอกว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่เขียนไว้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว แม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมา 3 ครั้ง แต่สิทธิ์ของผู้บริโภคไทยก็ยังถูกจำกัดไว้เพียง 5 ข้อเท่าเดิม ในขณะที่สิทธิ์ผู้บริโภคสากลมี 8 ข้อ
แต่สำหรับยุคดิจิทัล สภาผู้บริโภคเห็นว่า สิทธิ์เพียง 8 ข้อ และองค์การสหประชาชาติได้รับรองให้มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการคุ้มครองในการซื้อขายออนไลน์ ต้องไม่น้อยกว่าการซื้อขายแบบเดิม สภาผู้บริโภคจึงเสนอปรับเพิ่มสิทธิผู้บริโภคในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ เป็น 10 ข้อ เพื่อให้สิทธิผู้บริโภคไทยเท่าทันยุคสมัย และกฎหมายสามารถบังคับใช้ได้จริง ซึ่งการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับสภาผู้บริโภค เน้นการปรับปรุงสิทธิผู้บริโภคให้ครอบคลุมรูปแบบการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังปรับปรุงกลไกโครงสร้างคณะกรรมการให้มีความโปร่งใส และการตัดสินข้อพิพาทให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมา
โฆษณาเกินจริง ผู้บริโภคเสี่ยง ถึงเวลาแก้ พ.ร.บ.อาหาร
ภญ.สรีรโรจน์ สุกมลสันต์ นักวิชาการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในขณะที่การบริโภคของคนไทยได้รับการคุ้มครองด้วย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 แต่วิถีการบริโภคอาหารในปัจจุบันที่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งรูปแบบอาหาร การโฆษณา ที่มาตอบสนองต่อผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกฎหมายที่มีไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเติบโตของสังคม ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการเผชิญอันตรายจากอาหารไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเกินจริง โดย การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค ร่างนี้เสนอให้เพิ่มระบบการจัดการอาหารที่ไม่ปลอดภัย และปรับปรุงข้อกำหนดการอนุญาตและการโฆษณาอาหารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันการโฆษณาที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค
หยุดความชำรุด ด้วยเลมอน ลอว์
ขณะที่ ผศ.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับความรับผิดชำรุดบกพร่องของสินค้า ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ยังขาดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายที่ชัดเจน สิทธิของผู้ซื้อยังคลุมเครือ และไม่มีคำนิยามที่กระจ่างของคำว่าความชำรุดบกพร่อง นำมาซึ่งช่องโหว่ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองอย่างยากลำบาก ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเสนอผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า เพื่อมุ่งแก้ปัญหาสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มักมีปัญหาด้านประสิทธิภาพ โดยร่างกฎหมายนี้จะระบุถึงความรับผิดชอบของผู้ขายและสิทธิของผู้บริโภคไว้อย่างชัดเจน
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า กฎหมาย 3 ฉบับนี้ มี 2 ฉบับที่มีอยู่แล้ว และสภาผู้บริโภคขอแก้ไขเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อีกหนึ่งฉบับ คือ เลมอนลอว์ ที่ผ่านมาอย่างน้อย 3 รัฐบาล ผ่านกรรมาธิการมาแล้วหลายชุด แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่พิจารณา
“วันนี้เรามาด้วยความหวังว่ารัฐบาลชุดนี้ จะไม่ชักช้าเหมือนเดิม เพราะกฎหมายทุกฉบับมีประโยชน์ต่อประชาชน ทุกวินาทีเสียไปมีประชาชนถูกหลอกประชาชนเสียหาย เพราะฉะนั้นอยากฝากบอกทางรัฐสภาไว้ว่า การทำกฎหมายที่เร่งด่วน คือการช่วยผู้บริโภคให้ถูกหลอกน้อยลง กฎหมาย 3 ฉบับนี้ไม่ได้เขียนเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เขียนเพื่อประชาชนทั้งประเทศเพราะเราเป็นตัวแทนของผู้บริโภค”
บุญยืน ศิริธรรม
ด้าน คัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ร่างกฎหมาย 3 ฉบับที่ทางสภาผู้บริโภคนำมายื่นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเพราะทุกคนถือว่าเป็นผู้บริโภค ต้องยอมรับว่ากฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค ตอนนี้ล้าสมัยไม่ทันต่อการพัฒนาการการขายสินค้าและบริการ ดังนั้นการมีกฎหมายที่ทันต่อยุคสมัย จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค มิฉะนั้นผู้บริโภคจะตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการที่เอาเปรียบ หากกฎหมายในการแก้ไขอย่างรวดเร็วก็จะสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้ทันท่วงที โดยจะนำเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป