เคลียร์ดรามา ปมที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานฯ ‘ประยงค์ ดอกลำใย’ ยัน พร้อมเสนอตัวเป็นทางเลือกจริง ไม่เกี่ยวกรณี ‘ทราย สก๊อต’ ยอมรับ ถนัดกันคนละงาน มั่นใจมีประสบการณ์ เข้าใจปัญหาชุมชนในเขตป่า ติดล็อกนโยบาย กฎหมาย ผลักชาวบ้านอยู่ตรงข้าม หวัง รัฐแก้ปัญหานี้ได้ พลิกโอกาส ดึงมวลชนช่วยดูแล ปกป้องป่าอีกเพียบ วอน สังคมไทย เชิดชูฮีโร่ อย่างมีขอบเขต คิด วิเคราะห์ ข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนวิจารณ์
จากกรณีดรามา ทราย สก๊อต (สิรณัฐ ภิรมย์ภักดี) ที่ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องพฤติกรรม และการปฏิบัติงานเกินกว่าหน้าที่ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จนทำให้ล่าสุด อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ยกเลิกคำสั่งให้ ทราย สก๊อต เป็นปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แล้ว อ้างประพฤติไม่เหมาะสมนั้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : เปิดใจ “ทราย สก๊อต” 4 ปีในงานอนุรักษ์ เมื่อทะเลคือเซฟโซน
แต่อีกด้าน ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้โพสต์ข้อความ พร้อมเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเชื่อว่ามีประสบการณ์ คุณสมบัติเหมาะสมกับภารกิจดังกล่าว จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเง่บวก และลบเช่นกัน
สำหรับกระแสที่เกิดขึ้นนั้น ประยงค์ ดอกลำใย ให้สัมภาษณ์ The Active โดยแสดงความคิดเห็นว่า เวลานี้สังคมไทย โดยเฉพาะในโลกโซเซียลฯ กำลังชื่นชม และให้ความสำคัญกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่มีฐานะทางสังคม โดยพร้อมยกย่องให้ใครก็ตามที่ตัวเองชื่นชอบเป็นฮีโร่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น สังคมเชิดชูฮีโร่ แม้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่โลกโซเซียลฯ ที่มีการสื่อสารอย่างรวดเร็ว ก็จำเป็นต้องมาพร้อมกับการคิด วิเคราะห์ ด้วยข้อมูลที่รอบด้าน เช่น ต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษาต่าง ๆ ว่าทำอะไรได้ ไม่ได้อย่างไร ขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่มีแค่ไหน โดยไม่ควรไปจินตนาการเอาว่า ที่ทำไปต่าง ๆ นั้นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ คิดว่าหากขาดข้อมูลที่ชัดเจนก็อาจเป็นปัญหา

ประยงค์ ยังเห็นว่า สำหรับกรณีการจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะใช้ให้เป็นหน้าที่ของฮีโร่คนใดคนหนึ่งไม่ได้ เมื่ออธิบดีฯ มีอำนาจสูงสุดในกรม ฝ่ายข้าราชการ แม้แต่เอกชน ประชาชน หรือ คนที่มีฐานทางสังคม เศรษฐกิจ แค่อย่างเดียวก็ไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่น หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด นี่คือหลักคิดที่สังคมไทยยังขาดอยู่มาก โดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้การยอมรับซึ่งกันและกัน แต่สังคมไทยกลับไปให้ความสำคัญกับฮีโร่คนใดคนหนึ่งมากกว่า
“ในอดีตเคยมีเจ้าหน้าที่ในกรมอุทยานฯ ที่พยายามทำตัวเป็นฮีโร่ ผูกขาดความถูกต้อง การบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ทำให้เกิดการใช้อำนาจกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่การอนุรักษ์ธรรมชาติจำเป็นต้องเกิดความร่วมมือ ความเข้าใจ เข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรมทุกภาคส่วน เรื่องของการเชียร์ฮีโร่ที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนดีเลยทำให้มีความขัดแย้งจากทั้ง 2 มุม คือ กลุ่มที่เชียร์คุณทราย ก็จะวิพากษ์วิจารณ์กรมอุทยานฯ ส่วนกลุ่มที่ชื่นชมกรมอุทยานฯ ก็จะด่าคุณทราย”
ประยงค์ ดอกลำใย
ที่ปรึกษาพีมูฟ ยังมองว่า สังคมโดยรวมกำลังแย่ ไม่ใช่แค่เรื่องทรัพยากร แต่รวมไปถึงเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างกรณีการผลักดันกาสิโนของรัฐบาล ก็มีหลายฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ก็ยังนำพาไปสู่ความขัดแย้ง ไม่ต่างจากกรณีของ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ซึ่งก็ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง ๆ ที่เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ต้องการให้ชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับทั้งทางกฎหมาย และสังคม ได้ถูกยอมรับมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลายเป็นถูกตีความว่ากฎหมายชาติพันธุ์ จะไปยกแผ่นดินให้คนต่างด้าว ซึ่งโซเซียลฯ เองก็มีบทบาทสำคัญที่สะท้อนความรู้สึกผู้คนออกไป โดยขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้สังคมถูกชี้นำ อย่างผิดเพี้ยนไปมาก
ย้ำเจตนา เป็นตัวกลางปิดช่องโหว่ ลดขัดแย้ง รัฐ-ชุมชนเขตป่า
ส่วนเรื่องของการเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนั้น ประยงค์ ย้ำว่า จริง ๆ ต้องออกตัวว่าไม่เคยรู้จักคุณทรายมาก่อน เพิ่งมาทราบว่าคุณทรายได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของอธิบดีฯ ซึ่งถูกมอบหมายให้ดูแลอุทยานแห่งชาติทางทะเล ดังนั้นก็เข้าใจว่า ก่อนหน้านี้อธิบดีฯ ก็สามารถแต่งตั้งใครก็ได้ที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งคุณทรายก็มีความรู้ ความสามารถด้านทรัพยากรทางทะเล ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้ตำแหน่ง
ขณะที่โดยส่วนตัวก็ยืนยันว่า มีประสบการณ์ทำงานกับชุมชนในเขตอุทยานฯ บนบก ในเขตป่า ก็เห็นว่าหลายเรื่องที่เป็นแนวนโยบาย ทั้งกฎหมายอุทยานฯ กฎหมายป่าอนุรักษ์ ออกมาไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่กลับยิ่งทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น จึงเห็นว่าประสบการณ์ของตัวเองที่รู้ และเข้าใจบริบทของชุมชนในเขตป่า น่าจะมีส่วนช่วยแก้ไขความขัดแย้งเรื่องต่าง ๆ ลงได้ จึงเสนอตัวเป็นทางเลือก
“ที่เสนอตัวไป ผมยืนยันว่า ไม่ได้เกทับคุณทราย เจตนาคือถ้าข้อเท็จจริงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังมี กฎหมายอุทยานฯ ปี 2562 และกฎหมายลำดับรองเพิ่งประกาศใช้ นี่คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ป่าอย่างมหาศาล เพราะจริง ๆ แล้วเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ระดับพื้นที่ก็ทำงานยาก ถ้ากฎหมายลำดับรองมีผลบังคับใช้ ก็มีการสะท้อนว่าอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างเจ้าหน้าที่ กับชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมจึงต้องการเสนอตัว เพื่อเข้าไปช่วยลดความขัดแย้งนั้น และช่วยปิดช่องโหว่ของปัญหาต่าง ๆ และเป็นคนคอยเชื่อมประสาน ระหว่างชุมชนในเขตป่าที่มีอยู่กว่า 4,200 ชุมชน เพราะหากแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ เชื่อว่าจะพลิกโอกาส ทำให้ชาวบ้านไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ คอยเป็นมวลชนดูแลรักษาป่า ช่วยจัดการป่าได้ ซึ่งชาวบ้านก็สามารถใช้วิถีชีวิตได้อย่างมั่นคงในพื้นที่ดั้งเดิม ถือว่าวินวินทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ทำให้ชาวบ้านยืนกันคนละฝั่งกับรัฐเหมือนอย่างทุกวันนี้”
ประยงค์ ดอกลำใย