‘ยานภัณฑ์’ ยื่น กมธ.แรงงาน ช่วยแก้ปัญหา จี้ ครม.บรรจุวาระใช้งบกลางเยียวยาถูกลอยแพ

พร้อมขอให้ตรวจสอบการดำเนินคดีกับตัวแทนแรงงาน ข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมสาธารณะ อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิ และเสรีภาพ

วันนี้ (7 พ.ค. 68) ตัวแทนกลุ่มพนักงานบริษัทยานภัณฑ์ ที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกรณีนายจ้างบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่จ่ายค่าจ้างแก่พนักงาน เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ให้ติดตามใน 2 ประเด็น

  • ขอให้มีการติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มพนักงานอ้างอิงข้อมูลตามเอกสารราชการด่วนที่สุด รง 0502/382 ออกโดยกระทรวงแรงงานวันที่ 11 ก.พ.68 เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลา และแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานของกลุ่มพนักงานบริษัทยานภัณฑ์ บอดี้แฟชั่นฯ แอลฟ่าสปินนิ่งและเอเอ็มซีสปินนิ่ง รวมถึงการรับมือปัญหาในระยะยาวต่อไป

  • ขอให้มีการตรวจสอบการใช้ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีกับกลุ่มแรงงานและได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการติดตามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ตัวแทนกลุ่มพนักงานฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.67 บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ได้ปิดกิจการ และเลิกจ้างลอยแพพนักงานกว่า 800 ชีวิต โดยไม่มีการจ่ายเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างหรือเงินค่าทดแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งล้วนเป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมส่วนรวม

โดยเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างควรจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของผู้ใช้แรงงาน แต่สุดท้ายแล้วพนักงานยานภัณฑ์กลับต้องปักหลักประท้วงที่ข้างถนนด้านหน้าโรงงานของตัวเอง มาตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.67 และต่อมาก็ได้ย้ายมาปักหลักที่บริเวณสำนักงาน ก.พ.ร. เก่า ข้างทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 68 มาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาทั้งหมดกว่า 5 เดือนแล้ว ที่ผู้เดือดร้อนได้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ข้างถนนด้วยแรงสนับสนุนจากเพื่อน ๆ จากหลายกลุ่มและองค์กร

หลายครั้งทางกลุ่มพนักงานได้เรียกร้องให้รัฐบาลใช้งบกลางเพื่อเร่งเยียวยาปัญหาฉุกเฉินของแนวร่วมคนงาน 4 กลุ่ม คนงานแอลฟ่าสปินนิ่ง เอเอ็มซีสปินนิ่ง บอดี้แฟชั่นฯ และยานภัณฑ์ รวมแล้วไม่เกิน 3,000 คน ใช้เงินทั้งหมด ราว 466 ล้านบาท อ้างอิงจากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ ทางกลุ่มคนงาน ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการขอเงินเปล่า ๆ หากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางมาให้กับคนงานแล้ว ทรัพย์สินของนายจ้างที่ถูกกรมบังคับคดียึดเอาไว้ก็จะถูกยกให้เป็นของรัฐบาล ซึ่งทางรัฐบาลสามารถเอาคืนคลังต่อไปได้ในภายหลัง

ข้อเสนองบกลางดังกล่าว ยังถูกสานต่อโดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้ลงนามรับรองหนังสือด่วนที่สุด รง 0502/382 เรื่องการของบฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ก.พ.68 แต่ตอนนี้เรื่องยังคงรอคอยการเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรีอยู่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เม.ย.68 ภายหลังการติดตามทวงถามอย่างต่อเนื่อง ตัวแทนคนงานได้รับทราบจากทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่า การขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจาก 8 หน่วยงาน คือ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงอุตสาหกรรม, และสำนักงบประมาณ นั้นได้รับหนังสือความเห็นตอบกลับมาอย่างครบถ้วนแล้ว และพร้อมสำหรับการทำสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นการต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่มพนักงานที่ได้รับความเดือดร้อนได้ออกเคลื่อนไหวประสานงาน แบ่งปันข้อมูลและพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของหลาย ๆ หน่วยงานข้างต้น เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขทั้งสำหรับปัญหาในเบื้องต้น และสำหรับปัญหาของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศไทยต่อไปในระยะยาวอีกด้วย เช่น เรื่องของการตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง, การปรับแก้ข้อกฎหมายว่าด้วยการยึดทรัพย์นายจ้างและลำดับเจ้าหนี้ หรือ การเร่งรัดการดำเนินคดีกับนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมายและสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ดังเช่นในการรับฟังความคิดเห็นแนวทางการจัดให้มีหลักประกันการจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง กรณีนายจ้างเลิกจ้าง วันที่ 9 เม.ย.68 จัดโดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งกลุ่มพนักงานยานภัณฑ์และผู้ได้รับความเดือดร้อนจากนายจ้างบริษัทอื่น ๆ ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ

ขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในให้กับพนักงานที่ถูกลอยแพดำเนินไป ปรากฏว่าตัวแทนซึ่งประกอบด้วย วิรุต นามณี ,สุริยะ ปะสาวะนัง ,สุนทร บุญยอด และ ธัชพงษ์ แกดำ จากกลุ่มแรงงาน ก็ได้รับทราบว่ามีหมายเรียกจากตำรวจนครบาลดุสิต ออกวันที่ 21 เม.ย.68 กล่าวหาว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งการประกาศ 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 เวลากลางวัน ซึ่งเป็นการสร้างความวิตกกังวลสำหรับผู้เดือดร้อนที่ได้ทำการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายและเข้าพูดคุยเจรจาทวงถามการแก้ไขปัญหากับทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมถึงกระทรวงและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ โดยสันติและปราศจากอาวุธมาตลอดเป็นระยะเวลาหลายเดือน

“จนถึงเวลานี้ทาง ครม.ยังไม่มีการพิจารณาวาระการอนุมัติงบเพื่อช่วยเหลือ ด้วยภาระหนี้สิน และค่าครองชีพของพนักงานหลายคน ซึ่งเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือเงินเยียวยาอื่นในมูลค่าที่เทียบเท่าก็จะสามารถบรรเทาภาระและความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานได้อย่างมาก หากมีการอนุมัติ​โดยเร็ว”

ขณะที่ เซีย จำปาทอง รองประธานคณะ กมธ. การแรงงาน ระบุภายหลังรับหนังสือว่า กมธ. มีความเห็นใจและห่วงใยต่อคนผู้ใช้แรงงาน ซึ่งได้รับเรื่องความเดือดร้อนทำนองเดียวกันจำนวนมากจากทั่วประเทศ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมของคณะ กมธ. เพื่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและให้ข้อเท็จจริง จากนั้นคณะ กมธ.จะได้สรุปเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบเพี่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานต่อไป

เบื้องต้นทราบว่า เรื่องของผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างนั้น ขณะนี้รอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี รวมทั้ง ขอเรียกร้องให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เร่งดำเนินการบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active