สานเจตนารมณ์ ‘ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม’ : ปิดช่องว่างคนต่าง Gen เคลื่อนงานเปลี่ยนแปลงสังคม

วาระ 10 ปี การจากไปของ ‘ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม’ ชูแนวคิดงานพัฒนาชุมชน หวังอาศัยบทบาทผู้มีประสบการณ์ เติมเต็ม คนรุ่นใหม่ ต่อยอดงานเปลี่ยนแปลงสังคมให้สมบูรณ์

วันนี้ (9 เม.ย.65) ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดงาน โครงการปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 8 หัวข้อ “ต่างยุค ต่างวัย การพัฒนาชุมชนและสังคม 10 ปี กับการเปลี่ยนแปลงของงานพัฒนาสังคมไทย” เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี การจากไปของ อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่ต้องการนำแนวคิดการพัฒนาชุมชนและสังคมตลอดช่วงที่ผ่านมา เชื่อมโยง เปรียบเทียบ จนนำไปสู่การพร้อมรับฟังคนต่างยุค ต่างวัย เพื่อปิดช่องว่างทางความคิด ให้สามารถทำงานร่วมกันได้

มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างยังเหมือนเดิม หากจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลง คงต้องย้อนกลับไป 50 ปี แนวคิด และความรู้สึกของคนที่ต้องการช่วยเหลือชุมชนไม่ได้ต่างไปจากเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ สิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยยกตัวอย่าง ในมิติการช่วยเหลือสังคม ซึ่งในอดีตบริษัทเอกชน ยังไม่มีกำไรมากพอที่จะมาช่วยทำ CSR : corporate social responsibility (ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ องค์กร) ตอนนั้นคิดเพียงว่าทำไปให้รอดก็ดีมากแล้ว ขณะที่ภาคการเกษตรก็ยังยากลำบาก งบประมาณของภาครัฐ ก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือเกษตรกรได้ วิธีคิดสำคัญตอนนั้น คือ การเข้าไปช่วยเหลือตรง ๆ ของมูลนิธิบูรณะชนบท จ.ชัยนาท ที่ริเริ่มโดย อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นองค์กรที่รวมกลุ่มคนอาสาไปช่วยเหลือชุมชนชนบทห่างไกล ซึ่งยังไม่มีองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) วิธีการ คือ ส่งตัวแทนเข้าไปฝังในชุมชนเพื่อศึกษาปัญหาชุมชน 4 มิติ คือ อาชีพ, สุขอนามัย, การศึกษา และหนทางที่จะทำให้ชุมชนเข็มแข็ง

มรว.ปรีดิยาธร ยอมรับว่า ชาวบ้านชอบใจวิธีการส่งคนไปศึกษาฝังตัวในชุมชน และหมู่บ้าน เป็นรูปแบบที่ อ.ป๋วย ให้ความสำคัญระดับชาติ แต่แนวคิดของ อ.ป๋วย ก็ต้องยุติลงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหมือนถูกทำลาย และยุติลงไปด้วย

ส่วนในยุคปัจจุบัน มรว.ปรีดิยาธร มองว่า แนวคิดการพัฒนาช่วยเหลือเกษตรกรทำได้ดีขึ้น สิ่งที่ต้องชื่นชมคือ แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่, เกษตรผสมผสาน ที่เปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และแนวคิดการประกันรายได้ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยสรุปแล้วยังมองว่า ความคิดความอ่านของคนที่อยากช่วยเหลือสังคมไม่ได้ต่างกัน

ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ บอกว่า ปณิธาน อ.ไพบูลย์ คือ การสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก (Empowerment) อย่างแรกคือ กลไกกฎหมาย ทำให้คนฐานราก มีสิทธิมีเสียงเข้ามาในระบบ อย่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 ม.13 ระบุให้มีตัวแทนภาคประชาสังคม 13 คน เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการใหญ่ ทำให้ได้นำเรื่องประชาชนเข้ามาทำนโยบายสุขภาพแห่งชาติ และทำสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระดับจังหวัดทุกปี ชาวบ้านต้องเรียนรู้ที่จะเป็นตัวแทนคณะกรรมการ งานวิจัยที่ให้ชาวบ้านทำ เป็นส่วนสำคัญที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของชาวบ้าน เป็นตัวอย่างของการวางพื้นฐานให้ชุมชนแข็งแรงได้จริง

ดึงประสบการณ์ ‘คนวัยเก๋า’ ต่อยอดงาน ‘คนรุ่นใหม่’ เปลี่ยนแปลงสังคม

ส่วนในมุมมองของคนรุ่นใหม่ อย่าง เอริกา เมษิณทรีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Youth in Charge เห็นว่า ผู้ใหญ่ก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีแรงขับเคลื่อนไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างไปใน Gen ปัจจุบัน คือปัญหาหลาย ๆ เรื่องยังคงค้างคาอยู่ และทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่สิ่งที่ต่างกันคือ มุมมองความเข้าใจ และเครื่องมือการแก้ปัญหา เช่น การเพิ่มรายได้ในช่วง 10 – 20 ปี ที่ผ่านมาอาจนึกถึงแต่การพัฒนาอุตสาหกรรม

แต่วันนี้คนรุ่นใหม่อาจจะมีคำใหม่ เช่น Soft power มาขยายผลต่อ คนทั้ง 2 Gen อยากเห็นความก้าวหน้าของสังคม จะทำอย่างไรให้คนที่มีประสบการณ์ และคนรุ่นใหม่ทำงานร่วมกัน เพราะเยาวชนยังมีช่องว่างอยู่มากมาย ส่วนตัวคิดว่า ผู้ใหญ่ช่วยเสริมได้ทั้งเครือข่าย งบประมาณ และความรู้ความเข้าใจในเชิงลึก เห็นโอกาสที่คนมากกว่า 2 วัยได้มาเติมเต็ม มีช่องว่างระหว่างความคิดสร้างสรรค์ และการทำได้จริง ถ้าเราสามารถทำให้เยาวชนนำสิ่งที่คิด ทำต่อได้จริง จะยิ่งทำให้ภาพอดีต และปัจจุบัน เติมเต็มให้กันได้สมบูรณ์มากขึ้น

ด้าน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร CEO & Editor-in-Chief THE STANDARD มองว่า ในอดีตจะเน้นการลงทุนทำผลกำไร แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญระบบการบริหารองค์กร ที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder Capitalism) และส่วนตัวเชื่อ ว่าแรงผลักหนึ่งมาจากคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งมองว่า ในอดีตหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม (NGOs) แบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันไม่เป็นแบบนั้น เช่น คำว่า Social Enterprise : SE เป็นคำใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเป็นคำเก่า แทบไม่มีคนพูดถึง แต่ยังคงมีการทำงานลักษณะนี้เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ครั้งใหญ่ขององค์กรเอกชนที่เคยขับเคลื่อนด้วยการทำกำไร มาเป็นแพลตฟอร์มการช่วยเหลือคน โดยคำนึงถึงทั้งผลตอบแทน สิ่งแวดล้อม ผู้คน และเป้าหมายองค์กร หรือ 4P (Profit-Planet -People-Purpose) และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงองค์กรภาคประชาสังคมน้อยลง ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคม ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ได้ในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับภาครัฐที่ต้องปรับบทบาทของตัวเองหันมาเป็นฝ่ายสนับสนุนมากขึ้น

“เหตุผลหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ เข้าไม่ถึง NGOs เพราะการทำบริษัทเอกชน start up ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เช่นการเปลี่ยนจากคำว่า การพัฒนา (Development) เป็น ผลกระทบทางสังคม (Impact) ซึ่งไม่ได้ต่างไปจากกรอบเดิมของการพัฒนาสังคม”

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร CEO Editor-in-Chief THE STANDARD

นครินทร์ ยังมองว่า เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยให้คนรุ่นใหม่ มองผลกระทบในภาพรวม ของความเป็นพลเมือง มากกว่าแค่ระดับชาติ และสามารถเชื่อมโยงค่านิยมส่วนตัวเข้ากับโลกได้อย่างไร้รอยต่อ ขณะที่สังคมไทยมีทั้งปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ และยังมีปัญหาใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก แม้คนรุ่นใหญ่จะแก้ปัญหาจากประสบการณ์ได้ดี แต่ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ และบริบทที่เปลี่ยนไป ยังจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทให้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อน แต่คนรุ่นใหญ่อาจต้องช่วยประคับประคอง คนรุ่นใหม่ที่กำลังลงมือทำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน