ประมงพื้นบ้านหวังรัฐบาลดันนโยบายประมงยั่งยืน

สมาคมรักษ์ทะเลไทย และภาคี รณรงค์หยุดกินสัตว์น้ำวัยอ่อนปีที่ 2 สะท้อนความกังวล ต่อการผลักดันนโยบายภาครัฐที่ชี้ช่องทางกฎหมายเอื้อประมงพาณิชย์มากกว่าประมงพื้นบ้าน ด้านนักวิชาการสะท้อนสถานการณ์ปลาทูยังวิกฤต ชูตั้งเป็นวาระแห่งชาติแก้ปัญหา

วานนี้ (5 ต.ค. 66) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย และภาคี ร่วมจัดงาน ‘save juvenile หยุดกินสัตว์น้ำวัยอ่อน’ #2 สู่การจัดการอาหารทะเลไทยอย่างยั่งยืน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ปัญหาหลักของประมงคือนโยบายและกฎหมาย ที่คนออกกฎหมายไม่รับใช้ชนชั้นประมงพื้นบ้าน เมื่อปี 2539 กระทรวงเกษตรฯ แก้ประกาศกระทรวงฯ ให้ยกเลิกการใช้เรือปั่นไฟ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ก็อนุมัติให้ใช้เรือปั่นไฟได้อีกครั้ง ดูดพันธุ์สัตว์น้ำวันอ่อนให้เข้ามาติดอวนทุกชนิด สร้างผลกระทบรุนแรงจนถึงปัจจุบัน

“เราไม่ได้ต้องการทำลายประมงพาณิชย์ แต่เราต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่จะจับปลาเล็กปลาน้อยหมด อวนของต่างประเทศแม่ไก่ยังจะผ่านไปได้ แต่อวนบ้านเราแม้ยุงยังจะผ่านไม่ได้เลย กรมประมงฯ เสนอแล้วว่าประมงวิกฤตทำงานเกินศักยภาพของการผลิต ให้ยกเลิกเรืออวนลาก แต่ รมว.ธรรมนัส จะพิจารณาอย่างไร ให้ประมงพานิชย์กับประมงพื้นบ้านอยู่ร่วมกันได้ ทะเลต้องเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของประมงพาณิชย์เท่านั้น”

รศ.ธนพร ศรียากูล กล่าวว่า เรื่องประมงเป็นหนึ่งในคำแถลงนโยบาย ถึงวันนี้แต่งตั้งแล้ว 3 คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อเปรียบเทียบร่าง กฎหมายประมง ปี 2558 กับร่างกฎหมายประมงที่ผ่านสภารอบแรกในรัฐบาลที่แล้วแม้วันนี้จะตกไปแล้วก็ตาม อยากชี้ให้เห็นข้อกังวลในรายละเอียด ตั้งแต่วัตถุประสงค์ทางกฎหมาย ฉบับใหม่ตัดเรื่องประมงพื้นบ้านออกไป ไม่ได้ส่งเสริมคนตัวเล็กตัวน้อยอีกแล้ว มาตรา 34 นอกจากกฎหมายเดิมระบุว่าถ้าผู้ใดมีใบประมงพื้นบ้านห้ามออกนอกเขตประมงชายฝั่ง นอกจากอธิบดีฯ จะอนุญาต ฉบับใหม่ยังเพิ่มเงื่อนไขต้องให้กรรมการประมงจังหวัดต้องเห็นชอบด้วย

“ข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ เรือประมงขนาดใหญ่ ประมงพาณิชย์วันนี้ต้องการแก้ไข มาตรา 81 คือให้ยกเลิกระบบติดตามเรือ ซึ่งฉบับใหม่เปลี่ยนคำว่าระบบติดตามเรือเป็นคำว่าอุปกรณ์ติดตามเรือแทน ซึ่งอาจจะไม่ช่วยให้เกิดการติดตามที่มีประสิทธิภาพ เพราะระบบหมายถึงที่ต้องมีส่วนส่งข้อมูลส่วนรับข้อมูล แต่คำว่าอุปกรณ์คืออาจจะติดเฉยๆ แต่ไม่ได้ทำงานเป็นระบบก็ได้ หรือแม้แต่มาตรา 39 ผู้ใดต้องการทำประมงเชิงพาณิชย์ ไปกำหนดคุณสมบัติเรือแทนที่จะพิจารณาผู้ใช้เรือเหมือนก่อน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล แม้ว่าจะร่างกฎหมายฉบับนี้จะตกไปแล้วจากรัฐบาลก่อน แต่เชื่อว่าเดี๋ยวพรรคเพื่อไทยต้องยกขึ้นมาพิจารณาอีกในสมัยประชุมหน้า อยากให้ทุกคนจับตาให้ดี”

ด้าน วรัญญา จิตรผ่อง นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การศึกษาผลวิจัย ปลาทูคู่ไทยเพื่อผลักดันนโยบายชาติ ว่า ในเขตประมงที่ 1, 2 ,5 ของไทย มีจำนวนปลาทูน้อยมาก ๆ พบว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาทู ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ที่สุดคือบริเวณประจวบคีรีขันธ์ โดยพบว่ามีความพยายามเพาะเลี้ยงปลาทู ด้วยการฉีดฮอร์โมนเร่งไข่ในแม่ปลาทู แต่หลังจากที่ฟักกจะออกไข่ออกลูกและมีชีวิตแค่เพียง 5 วัน เท่านั้น เท่ากับว่ายังต้องพัฒนาระบบการแพร่พันธุ์อีกมาก สำหรับปลาทูที่อยู่ในตลาดของไทยส่วนใหญ่เป็นปลาทูจากการนำเข้า ทั้งแช่แข็งจากอินเดีย มาเลเซียและพม่า โดยมีข้อเสนอนโยบายดังนี้

1. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติควรจัดทำนโยบายระดับชาติด้านปลาทู และแผนบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำด้านปลาทูของประเทศตามห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งกลไกและระบบบริหารจัดการปลาทูคู่ไทย และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ 

2.  คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำด้านปลาทูของประเทศอย่างยั่งยืน” เป็นกลไกนโยบายระดับสูงสุดของประเทศด้านปลาทูโดยเฉพาะ ที่มีบทบาทหน้าที่และสามารถบริหารจัดการปลาทูไทยแบบบูรณาการทั้งระบบโดยตรงและระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ท้องถิ่น และประชาสังคม 

3. กรมประมงจัดตั้ง “เครือข่ายความร่วมมือแก้ไขปัญหาและพัฒนาปลาทูไทย”  ขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องยั่งยืน รวมถึงผลักดันการกำหนดและการใช้นโยบายระดับชาติด้านปลาทู แผนบูรณาการฯ รวมถึงการติดตามผลและเป็นแกนหลักในการดำเนินการตามกฎหมาย   โดยการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย” และประเมินความพร้อมในการปฏิบัติงานตามพ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 

4. รัฐบาลและกรมประมง แสวงหาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการปลาทูระหว่างประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อม การทำประมง และมาตรการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทู ในระดับภูมิภาค ผ่านการเจรจาเพื่อให้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่ต้องจัดทำในอนาคต

5. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการมุ่งเน้นด้านการอนุรักษ์และเพิ่มปริมาณทรัพยากรปลาทู คู่ขนานไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การควบคุมคุณภาพน้ำและควบคุมมลพิษทางน้ำ และควบคุมมลพิษทั้งจากภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active