เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ชี้ พ.ร.ก.ประมง เปิดช่องใช้ ‘อวนตามุ้ง’ เวลากลางคืน เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำพลอยจับ เสี่ยงกระทบมูลค่าเศรษฐกิจถึง 3 เท่า ซ้ำเติมปัญหาปลาทูไทย เผย ปัจจุบันปลาทูที่คนไทยบริโภคมาจากการนำเข้า 90%
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย แสดงความเห็นต่อประเด็นการแก้ไข พ.ร.ก.การประมงในมาตรา 69 ซึ่งเปิดช่องการใช้อวนตาถี่ (อวนตามุ้ง) ขนาด 2.5 ซม. ในเวลากลางคืน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทางทะเล และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการใช้อวนตาถี่จับปลาในเวลากลางคืน จะเพิ่มปริมาณการจับสัตว์น้ำพลอยจับ (Bycatch) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ปลากะตัก
จับปลาวัยอ่อน 1 เท่า = มูลค่าทางเศรษฐกิจหายไป 3 เท่า
หนึ่งในข้อกล่าวอ้างของการแก้ไขมาตรา 69 คือ การเพิ่มจำนวนการจับปลากะตัก เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำปลา ซึ่ง วิโชคศักดิ์ มองว่า ที่ผ่านมาด้วยระบบการจับที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถจับปลากะตักได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนตันต่อปี แต่ทางการจะรายงานว่าจับได้ 8 – 9 หมื่นตันต่อปี อย่างปี 2567 จับได้ 1.26 แสนตัน แต่จำนวนกว่า 3 หมื่นตันที่หายไปนั้น คือ จำนวนสัตว์น้ำพลอยจับ (Bycatch) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่จะมีโอกาสเติบโตได้อีก
“การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน 3 หมื่นตัน อาจทำลายห่วงโซ่อาหารและมูลค่าเศรษฐกิจในอนาคตได้ถึง 3 เท่า เนื่องจากสัตว์น้ำวัยอ่อนเหล่านี้ หากเติบโตและรอดชีวิตเพียง 5% จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 9 หมื่นตัน”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ขายปลากะตัก เพื่อเอาเงินไปซื้อปลาทูนอก
90% ของปลาทูที่คนไทยบริโภค มาจากการนำเข้า
วิโชคศักดิ์ ระบุอีกว่า ถ้าตนเป็นภาครัฐจะจัดการปัญหาของปลาทูไทย มากกว่าปลากะตัก เพราะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ปริมาณปลาทูที่เคยอยู่ในระดับ 1.5 – 2 แสนตันต่อปี เหลือเพียง 2 – 3 หมื่นตันต่อปี การลดลงนี้เป็นผลจากการจับปลาวัยอ่อน ทำให้วงจรการผลิตปลาทูไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันเวลา และส่งผลต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งพาการประมงเป็นรายได้หลัก
“ปัจจุบันปลาทูที่คนไทยบริโภคส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า โดย 90% ของปลาทูในตลาดมาจากต่างประเทศ เช่น โอมาน เยเมน เป็นต้น ผู้บริโภคหลายคนอาจไม่ทราบว่า ปลาทูที่เราเคยมีในบ้านของเรากำลังลดลงอย่างมาก แม้เราจะมีทรัพยากรที่ดีในประเทศ แต่กลับเลือกทำลายเพื่อขายปลากะตักในราคาถูกเพียง 5 บาท ขณะที่ต้องนำเข้าปลาทูในราคาสูงถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม สมการทางเศรษฐกิจเช่นนี้จึงดูไม่สมเหตุสมผลและควรได้รับการพิจารณาใหม่เพื่อความยั่งยืนในอนาคต”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ปลาไทยคือทรัพยากรสาธารณะ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านต่อปี
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย จึงเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างเป็นธรรม โดยย้ำว่า ทะเลเป็นทรัพยากรสาธารณะที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการดูแลและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การจัดสรรทรัพยากรควรคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของเจ้าของเรือประมง หรืออุตสาหกรรมประมง การมีส่วนร่วมของชุมชนและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะช่วยให้เกิดการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
“ปลา ก็คือทรัพยากรสาธารณะ เหมือนกับคลื่นความถี่ เหมือนแร่ทองคำ ปลาไทยมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านต่อปี และมันสามารถไต่ระดับขึ้นเป็น 3 แสนล้าน ทองคำยังไม่มีมูลค่าขนาดนี้เลย เรายืนอยู่บนนอนอยู่บนกองเงินกองทอง ถามว่าใครเป็นเจ้าของ ? ก็คนไทยด้วยกันทุกคน“
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
วิโชคศักดิ์ จึงหวังว่า สว. จะตีตกร่างกฎหมายดังกล่าว และอยากเห็นภาพ สว. และ สส. ร่วมมือกันในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ใช่มองแค่ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะขณะที่ สส. พิจารณากฎหมายนี้ ก็มีความลังเลกันเองอยู่ คะแนนโหวตไม่ออกมาเป็นเอกฉันท์ นอกจากนี้เขาอยากเห็นภาพการระดมสมองเพื่อหาแนวทางใหม่ ในการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลที่สามารถตอบสนองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม