จากไทย…ถึงเมียนมา…และสหรัฐฯ | เทพชัย หย่อง

หลังทหารเมียนมา ยึดอำนาจการปกครองจาก “อองซานซูจี” ที่อยู่ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นเวลา 4 ปี ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากประชาชนในประเทศเมียนมาเป็นวงกว้าง มีการนัดหยุดงาน เริ่มจากกลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุข ทยอยมาถึงกลุ่มแรงงานทั่วไป

แต่อีกด้านหนึ่ง 4 ปี ของ อองซานซูจี ไม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในประเทศอย่างเป็นเรื่องเป็นราว​ เพราะเธอคิดว่าไม่จำเป็น คนที่ช่วยเธอ คือ สื่อต่างประเทศมาโดยตลอด นี่คือมุมมองจากสื่อมวลชนในประเทศเมียนมา​ ขณะเดียวกันมวลชนของ อองซานซูจี แข็งแรงมาก หากสื่อเขียนวิจารณ์อาจโดนทัวร์ลง บรรณาธิการอาวุโสของสื่อแห่งหนึ่งในเมียนมาบอกว่าในช่วง อองซานซูจี ยังอยู่ในอำนาจนั้น มีความกลัวพอ ๆ กับทหาร แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ คำถามสำคัญที่ยังค้างคาใจของผู้คน คือ ทำไมทหารจึงกล้าฝืนความรู้สึกของประชาชน?​

ทั้งนี้ มองว่า อองซานซูจี นั้น ยังมีความพยายามไม่มากพอ ในการที่จะเจรจาหรือประนีประนอมกับฝ่ายทหาร ด้วยความมั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป

ถึงแม้ว่าสื่อมวลชนของประเทศเมียนมาบางส่วนจะวิจารณ์ ออง​ซานซูจี ว่าไม่ให้ความสำคัญกับสื่อในประเทศ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจ สื่อมวลชนเมียนมา​ก็บอยคอต ไม่ไปทำข่าวทหาร สะท้อนว่าประชาชนในเมียนมาไม่อยากกลับสู่วังวนของยุคมืด ที่ถูกทหารปกครองและจำนวนมากก็เกลียดทหาร เพราะทหารเมียนมาต่างจากทหารไทย เนื่องจากมีบุคลิกชอบใช้กำลัง รังแกชาวบ้าน

ด้านผู้ประท้วงในเมียนมายอมรับว่า ได้แรงบันดาลใจการชู​ 3 นิ้ว​ การโบกธงต่าง ๆ มาจากการประท้วงในเมืองไทย​และฮ่องกง แต่หากมองที่รัฐธรรมนูญ ที่คงอำนาจทหารไว้ในการเมือง​ ไม่ได้เกิดขึ้นที่เมียนมาเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ความจริงต้นแบบมาจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนคำถามที่ว่าไทยเลียนแบบรัฐธรรมนูญแบบเมียนมา​ เพื่อคงอำนาจทหารหรือไม่นั้น คิดว่าคนร่าง​รัฐธรรมนูญ​ไทยคิดเรื่องนี้เองได้ โดยไม่ต้องเลียนแบบใคร

ถ้าจะให้เปรียบเทียบการชุมนุมประท้วงของทั้งสองประเทศ ระหว่างไทยกับเมียนมา​ ดูเหมือนจะมีเป้าหมายเดียวกัน​ คือ การเรียกร้องประชาธิปไตย แต่สำหรับที่เมียนมา​ ต้องติดตามต่อไปว่าจะเกิดความรุนแรงใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าปราบปรามหรือไม่ หรือ​ ทหารอาจจะปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวต่อไปเป็นทางออกที่ดีที่สุด

จากเมียนมา​และไทย ข้ามไปที่​ สหรัฐอเมริกา ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา​ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดี ถือว่าเป็นการเมืองที่ผิดปกติ และสร้างความสับสนว่าคนอเมริกันเลือกทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร?

แต่อันที่จริงแล้ว​ ทรัมป์ คือ ตัวอย่างของ​ “คนอเมริกัน” จริง ๆ ซึ่งทุกประเทศมีโอกาสที่จะเจอนักการเมืองอย่าง​ “ทรัมป์” แต่แน่นอน ลักษณะคนแบบนี้ก็สร้างความหวาดหวั่นได้เช่นเดียวกัน ทรัมป์​ ยังคงมีความพยายามที่จะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีก 4 ปีข้างหน้า และมีโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกด้วยซ้ำไป

ส่วนโอกาสที่ อองซานซูจี จะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ​ หรือเมียนมาจะกลับเข้าประชาธิปไตย​ อาจจะเป็นไปได้ยาก ขณะที่ พลเอก​ ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ หลังจากผ่านพ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว ก็คงจะอยู่ยาวตลอดครบเทอม โดยไม่ต้องกังวลถึงการเรียกร้องนอกสภา​ เพราะหากประเด็นการเคลื่อนไหวมีเฉพาะเรื่องการเมืองอย่างเดียว ก็อาจสั่นคลอนรัฐบาลประยุทธ์ได้ แต่ประเด็นที่เคลื่อนกันอยู่ตอนนี้ สร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มากกว่า


เทพชัย หย่อง สื่อมวลชนอาวุโส ที่ติดตามความเคลื่อนไหวการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกาและเมียนมา ชวนคุยถึงความเชื่อมร้อยระหว่างการเมือง 3 ประเทศ ไว้ในรายการ Active Talk EP.3 “จากไทย…ถึงเมียนมา…และสหรัฐฯ” (17 ก.พ. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS