‘ชัชชาติ’ เตรียมหารือ รบ.ใหม่ วางแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ

กทม. เตรียมรวบรวมประเด็นปัญหาพร้อมหารือรัฐบาลใหม่ ทั้งเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน การจัดการด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลคุณภาพชีวิตให้ประชาชน

วันนี้ (27 พ.ค.66) ​ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “ผู้ว่า กทม. สัญจร เขตพญาไท” เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบาย ผลการดำเนินงานตาม Application Traffy Fondue และปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต โดยช่วงหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ฝากถึงสภาใหม่ทบทวนผลกระทบนโยบายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเรื่องการจัดการด้านสาธารณสุขในช่วยที่โควิด-19 กำลังไต่ระดับขึ้น

ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องที่จะฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิมการเก็บภาษีโรงเรือนจะคิดจากรายได้ 12.5% เพื่อมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบภาษีใหม่โดยคิดตามมูลค่าที่ดิน กลับพบว่าเก็บรายได้จากภาษีที่ดินได้น้อยลง

“ยกตัวอย่างเขตพญาไท ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษีทำให้รายได้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะคาดว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมากแต่พบว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น”

ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่พญาไท เดิมเสียภาษี 10 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าภาษีลดลงถึง 10 เท่า หรืออาคารสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง เดิมเสียภาษีกว่า 11 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เหลือเพียง 3 ล้านบาท เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน และยิ่งเป็นอาคารเก่ามีค่าเสื่อมเยอะทำให้มูลค่าลดลงอีก ในขณะที่ห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4 ล้านกว่าบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7 หมื่นกว่าบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายชื่อมาอยู่ในห้องเช่าทำให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยและจะเสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง

เรื่องนี้ต้องฝากไปถึงรัฐบาลและรัฐสภาใหม่ เพื่อให้สรุปและทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง รวมทั้งพิจารณาเงินในส่วนที่ยังค้าง กทม.อยู่ เนื่องจากนโยบายการลดภาษีหากคืนเงินมาได้ ท้องถิ่นจะมีเงินสามารถนำไปบริหารตามหลักกระจายอำนาจได้มากขึ้น

ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ขณะนี้ว่า พบผู้ป่วยวันละ 1,300-1,500 คน สูงสุดคือวันละ 1,900 คน ซึ่งเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาลสังกัด กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เท่านั้น จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าผู้ป่วยจะมากกว่านี้ 2-3 เท่า ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการในระดับเหลือง/ส้ม 1-2% บางรายอาจเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยวิกฤติ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 และผู้ที่ห่างจากการรับวัคซีนเข็มสุดท้าย มานานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว

อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 50% ทั้งนี้ประชาชนสามารถไปรับวัคซีนได้ที่ รพ.ของกทม. ศูนย์บริการสาธารณสุข และจุดฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาลตามศูนย์การค้าได้ ซึ่งติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง Facebook กรุงเทพมหานคร

“สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่น่าเป็นห่วง กทม. ยังคงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาการประสานงานระหว่างโรงพยาบาลอาจจะไม่ได้ไร้รอยต่ออย่างแท้จริง ซึ่ง กทม. มีแนวคิดที่จะแบ่งพื้นที่บริหารจัดการเป็น 7 โซน แต่ละโซนจะมีรพ.แม่ และมีรพ.เครือข่าย ซึ่งอาจมีหลายสังกัด ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกันและจะทำให้เรื่องการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในเรื่องนี้ กทม. จะได้เสนอกับรัฐบาลใหม่ด้วยเช่นกัน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active