กำชับผู้ค้า พื้นที่เขตดุสิต เข้มงวด ตั้งร้านในแนวเขต ย้ำให้ความสำคัญ ดูแลประโยชน์ร่วม ผู้ค้า – คนเดินเท้า
วันนี้(13 ก.ค.65) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย ศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ, ธานินทร์ เนียมหอม ผู้อำนวยการเขตดุสิต และเจ้าหน้าที่ ร่วมลงพื้นที่ตรวจจุดทำการค้าในเขตดุสิต จำนวน 8 จุด ได้แก่
1. ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ป้ายรถประจำทางถนนพิษณุโลก ถึงประตูทางออกคุรุสภา (อยู่ระหว่างการทบทวน)
2. หน้าตลาดเทวราช ฝั่งถนนพิษณุโลก (อยู่ระหว่างการทบทวน) ฝั่งถนนสามเสน (อยู่ระหว่างการทบทวน) ฝั่งถนนลูกหลวง (อยู่ระหว่างการทบทวน)
3. ถนนสังคโลก ตั้งแต่ปากซอยสังคโลก (ฝั่งซ้าย) ถึงประตูทางเข้าสำนักงานตรวจสอบบัญชีกองทัพบก (อยู่ระหว่างการทบทวน)
4. หน้าตลาดศรีย่าน ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงปากซอยศรีย่าน 1 ถนนนครไชยศรี
5. ตรงข้ามกรมชลประทาน ปากซอยสามเสน 20 ถึงแยกศรีย่าน
6. ตรงข้ามตลาดศรีย่าน ถนนนครไชยศรี ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 401/5
7. หน้าตลาดราชวัตร ตั้งแต่หน้ากรมสรรพสามิต ถึงหน้าบ้านเลขที่ 137 และหน้าบ้านเลขที่ 757 ถึงปากซอยมิตรอนันต์
8. ข้างวัดสะพานสูง ตั้งแต่ข้างถนนพระรามที่ 6 ตัดถนนเตชะวณิช ถึงกองซ่อมประปาบางชื่อ (บริเวณบ้านเลขที่ 268/2)
รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า การใช้พื้นที่ร่วมบนทางเท้า จำเป็นต้องหาทางออกร่วม ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ ปี 2548 ในพื้นที่เขตดุสิต มีจุดทำการค้าอยู่ทั้งหมด 38 จุด ปัจจุบันคงเหลือจุดทำการค้า แค่ 8 จุด โดยได้ผ่านการพิจารณาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แล้ว 5 จุด มีผู้ค้าอยู่ประมาณ 486 ราย
“สำหรับจุดทำการค้าเหล่านี้ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตั้งอยู่ในแนวเส้นสีขาว ไม่ยื่นล้ำออกมา ซึ่งทางสำนักงานเขตได้ขีดสีตีเส้นไว้ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย การค้าขายจะต้องมีกฎเกณฑ์อยู่ โดยได้ทำในลักษณะให้ผู้ค้าดูแลกันเอง ถ้าทำไปแล้วไม่เรียบร้อย อาจจะให้หยุดทำการค้าประมาณ 1 เดือน หากกรณีที่ยังปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบ ก็มีสิทธิที่จะยกเลิกจุดทำการค้านั้นได้”
จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.
ผู้อำนวยการเขตดุสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้จุดทำการค้า 5 จุด ผู้ค้าสามารถปฏิบัติภายใต้กฎระเบียบได้ดี อีกทั้งบริเวณตลาดศรีย่านในอดีตนั้น ถือว่าเป็นจุดทำการค้าตัวอย่างของพื้นที่เขตดุสิต อย่างไรก็ตามได้ รองผู้ว่าฯ กทม.ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ และผู้อำนวยการเขตดุสิต กำชับผู้ค้าให้ปฏิบัติตามระเบียบนั้นอย่างเคร่งครัด ตามหลักเกณฑ์แล้วจะต้องต่อใบอนุญาตปีต่อปี ซึ่งการจะต่อใบอนุญาตได้นั้น กทม.จะเสนอไปยัง บช.น. เพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับพื้นที่เขตดุสิต มีจุดทำการค้าอยู่ 8 จุด มีเพียง 5 จุดที่ บช.น. อนุญาตให้ทำการค้าได้ ส่วนที่เหลืออีก 3 จุด จะมีประเด็นเรื่องทางเท้าแคบเป็นหลัก ขณะนี้ยังไม่อนุญาต แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ค้ายังทำการค้าขายอยู่ ซึ่งสำนักงานเขตดุสิต และสำนักเทศกิจ จะเสนอทบทวนเข้าไปใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีผู้ค้าอยู่ประมาณ 172 ราย ตั้งขายของ 2 แนว ทำให้คับแคบ และหนาแน่น ประชาชนเดินสวนกันลำบาก
ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกัน โดยจะให้ผู้ค้าที่อยู่แนวด้านนอกติดถนน ย้ายมาอยู่ด้านในที่อยู่ติดกับแนวกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทุกฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกันว่า หากทำอย่างนั้นได้แล้ว จะช่วยลดความแออัด เป็นการกระจายผู้ค้าออกไป ให้อยู่ในแนวเดียวกันยาวติดกับกำแพง ประชาชนจะสามารถใช้ทางเท้าได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้จะพิจารณาเรื่องร่ม เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกัน อาจจะทำเป็นลักษณะยาว หรือ 4 เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อไม่ให้ยื่นล้ำออกมาในพื้นผิวจราจร โดยมอบหมายให้สำนักเทศกิจ นำไปหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
“พื้นที่ทางเท้าที่กว้าง 3 เมตร ให้ผู้ค้า ค้าขายได้ 1 เมตร ส่วนที่เหลืออีก 2 เมตร เป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้เดินทางสัญจร เป็นการใช้พื้นที่ทางเท้าให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ค้ามีพื้นที่ตั้งวางขายสินค้า และประชาชนคนเดินถนนได้แวะจับจ่ายใช้สอย”
จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.