‘ชัชชาติ’ ถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมเกาหลีใต้ ห่วงเบียดตกน้ำ สั่งทุกเขตที่จัดงานต้องมีแผน เน้นความปลอดภัย ตั้งศูนย์บัญชาการ สร้างทางเข้า – ออก สะดวก
วันนี้ (31 ต.ค. 2565) เวลาประมาณ 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงโศกนาฏกรรมอิแทวอน เกาหลีใต้ ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากภาวะขาดอากาศหายใจ ในงานฉลองเทศกาลฮาโลวีน เมื่อคืนวันที่ 30 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยมองว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญมากและเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากที่ไม่ได้จัดงานมา 2 ปี ทำให้มีคนมาร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งคล้ายกับเทศกาลลอยกระทงของไทย ซึ่งไม่ได้จัดงานมา 2 ปีเช่นเดียวกัน จึงต้องมีมาตรการเรื่องทางเข้าและทางออกอย่างชัดเจน มีเจ้าหน้าที่เฝ้าเพื่อตรวจนับจำนวนคนภายในงาน
“ผมได้แจ้ง รองฯ ทวิดา และรองฯ ศานนท์ ไปแล้ว ว่าให้เน้นเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่เน้นเรื่องการขายของ รวมทั้งไม่ให้มีการละเล่นในพื้นที่จัดงาน จะให้ออกห่างจากพื้นที่และจัดในที่โล่ง เราไม่ได้กังวลเรื่องการเบียดกันจนเสียชีวิต เพราะการเบียดและตกน้ำอันตรายกว่า ซึ่งทุกเขตที่จัดงานลอยกระทงจะต้องทำแผนเข้ามา…”
ชัชชาติ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้จะให้กล้องซีซีทีวีช่วยจับ แม้เราจะมีกล้องที่คอยจับความหนาแน่นอยู่แล้ว แต่ยังมีจุดที่น่าเป็นห่วง คือ คลองโอ่งอ่างที่อยู่ริมน้ำ เมื่อกล้องตรวจจับได้ว่ามีความหนาแน่นเกินไป ต้องไม่ให้เข้าและให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น หรือรอจนกว่าจะสามารถเข้าได้อย่างปลอดภัยโดยมีศูนย์บัญชาการบริเวณทางเข้าทางออก ทั้งนี้ อยากฝากประชาชนทุกคนว่า ต้องระวังตัวกัน เพราะทาง กทม.เองพยายามจะออกมาตรการที่เข้มงวดที่สุด หากเห็นว่ามีความแออัดก็ให้รอและหมุนเวียนกันเข้าไป
เล็งเพิ่มหลักสูตร ‘ซีพีอาร์’ เจ้าหน้าที่ กทม. ต้องทำเป็นทุกคน
ชัชชาติ กล่าวต่อด้วยว่า สิ่งที่เราเห็นจากเหตุการณ์ที่เกาหลีใต้ จะพบว่าประชาชนสามารถทำซีพีอาร์ หรือการปั๊มหัวใจกันได้ ซึ่งทาง กทม.ได้สอนในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ในอนาคตจะให้โรงเรียนในสังกัด กทม. มีหลักสูตรเกี่ยวกับการทำซีพีอาร์อย่างจริงจัง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนของ กทม. ต้องสามารถทำเรื่องนี้ได้ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่พอเกิดเหตุขึ้นมาจะเป็นเรื่องใหญ่
สำหรับงานฮาโลวีนในค่ำคีนนี้ ซึ่งเชื่อว่าสถานบันเทิงหลายแห่งใน กทม. น่าจะมีการจัดกิจกรรมนั้น ชัชชาติกล่าวว่า ได้สั่งการไปทั้งหมดแล้ว และได้รับความร่วมมือกับผู้ประกอบการเป็นอย่างดี อีกทั้งโชคดีที่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้สั่งตรวจสอบมาตรฐานสถานประกอบการทั้งหมดของ กทม. แล้ว จุดที่กังวล คือ เรื่องทางเข้าทางออก ที่ต้องเคร่งครัดให้มากขึ้น โดยต้องมีการพิจารณา และเข้มงวดในพื้นที่เสี่ยง อย่างเช่น ที่สีลมซอย 2 ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือมีทางเข้าที่แคบและมีร้านค้าหลายร้านอยู่ภายใน จึงต้องไปดูจุดเสี่ยงต่างๆ เบื้องต้นได้มอบหมายที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าไปดูจุดเสี่ยงต่างๆ คิดว่าจะสามารถใช้ข้อมูลของทางเขตให้เป็นประโยชน์ ทุกคนเข้าใจว่าหากเกิดเหตุขึ้นมาจะมีความรุนแรงมาก จึงต้องเริ่มตั้งแต่มาตรการป้องกัน