Big Trees สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมืองและภาคี จัดอบรม ‘รุกขกรอาสา’ เปิดตัวแอปฯ Green Dot. ฐานข้อมูลลงทะเบียนสำรวจต้นไม้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมของเมือง
วันนี้ (4 มิ.ย. 2566) กลุ่ม Green Dot. มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (Big Trees) สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง สมาคมรุกขกรรมไทย และภาคี ร่วมจัดกิจกรรม ‘รุกขกรอาสา’ สำรวจต้นไม้บนทางเท้าในย่านมหาวิทยาลัยศรีปทุม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสังเกตลักษณะทางกายภาพของต้นไม้ ประเมินความเสี่ยงของต้นไม้ และแนะนำการใช้แอปพลิเคชัน Green Dot. เครื่องมือการเก็บข้อมูลต้นไม้ออนไลน์สำหรับการดูแลให้สวยงามและแข็งแรง
อานนท์ บุณยประเวศ ผู้จัดทำแอปพลิเคชัน Green Dot. กล่าวว่า แอปพลิเคชัน Green Dot. เป็นแอปพลิเคชันโมบาย ที่ชวนผู้คนได้มีส่วนร่วมในการดูแลต้นไม้สาธารณะ โดยการร่วมลงทะเบียนต้นไม้ที่จะปลูกหรือต้นไม้ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน และสามารถสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ เช่น การตัดแต่งที่ไม่ถูกวิธี ร่วมอัปเดตข้อมูลการเติบโตของต้นไม้ เพื่อวางแผนการดูแลระยะยาว และวางแผนการจัดการพื้นที่โดยรอบต้นไม้ โดยสามารถเก็บข้อมูลต้นไม้ทั้งเบื้องต้น เช่น ถ่ายรูปลงแอปฯ แล้วให้แอดมินหลังบ้านช่วยบันทึกข้อมูลให้ และบันทึกข้อมูลเชิงลึก เช่น การใช้สายวัด ตลับเมตรเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจน
เราตั้งใจทำให้การสำรวจต้นไม้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ดังนั้น การสำรวจต้นไม้สามารถใช้แอปพลิเคชันสำรวจได้ เช่น การถ่ายรูปราก ลำต้น ใบไม้ เรือนยอด เพื่อให้ผู้ใช้งานได้มีทักษะในการสังเกตต้นไม้ และแอปฯ ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของต้นไม้ เช่น ดูดซับคาร์บอน เกาะกันชนจากรถ ดูดซับเสียง
“จากเดิมถ้าเราเจอต้นไม้ที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีก็อาจจะไม่มีวิธีส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ไปถึงภาครัฐ เราก็อาจจะได้แค่โพสต์ในสื่อออนไลน์เท่านั้น เราจึงพัฒนาแอปปฯ นี้ขึ้นมา เพียงแค่ประชาชนถ่ายรูปและส่งมายังแอปฯ ของเรา เราก็ตั้งใจจะเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานของรัฐในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ โดยลำดับแรกจะนำเสนอเข้ายังที่ประชุมสภา กทม. และทำให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้เห็นภาพ หวังว่าจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมวันนี้ก็จะเป็นช่วงทดลองใช้แอปฯ บนพื้นที่จริง เพื่อนำข้อแนะนำไปปรับปรุงแอปฯ ก่อนที่จะให้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการต่อไป”
อานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีแผนจัดทำกองทุนเพื่อไม้ยืนต้นสาธารณะ โดยสร้างความร่วมมือกับเอกชนให้มาลงทุน เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อรยา สูตะบุตร ในนามของ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง และผู้ร่วมขับเคลื่อนเรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่ของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ต้นไม้ใน กทม. มีจำนวนมากนับล้านต้นแต่ยังขาดข้อมูลสำรวจว่าปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะวางแผนในการบริหารจัดการ ฟื้นฟูในอนาคต ด้วยการนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ในการทำโครงการ รุกขอาสา เพื่อชวนพลเมืองมาฝึกการสำรวจ รับบทบาทหมอต้นไม้ชั่วคราว ร่วมบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ในกรุงเทพฯ เป็นฐานข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาดูข้อมูลและหาแนวทางบริหารจัดการต่อไป ซึ่งวันนี้ได้สร้างความร่วมมือกับแอปพลิเคชัน Green Dot. โดยผู้จัดทำแอปฯ เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศรีปทุม และได้รับแรงบันดาลใจจากต้นไม้กุดในย่านนี้ ซึ่งเป้าหมายเดียวกันคืออยากให้ กทม. มีข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ไว้ใช้ในการทำงาน
“หลังจากนี้ยังคงมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง นับ 10 ครั้ง เป้าหมายสำรวจ 10,000 ต้น ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 1 ครั้ง จะได้องค์ความรู้ในการดูแลต้นไม้รอบตัว และเราจะมีของสมนาคุณบางอย่างเพื่อเป็นการขอบคุณด้วย หลังจากนี้ก็จะประสานกับสำนักโยธาของกรุงเทพฯ ผู้ดูแลทางเท้าให้ได้รับรู้เรื่องต้นไม้และหาแนวทางจัดการที่เหมาะสม ไม่ให้ต้นไม้เสียหาย ด้วยหวังว่าจะมีทางเท้าและต้นไม้ที่สวยงามใช้งานได้นาน และหวังว่าถ้าทำที่กรุงเทพฯ สำเร็จก็จะเป็นโมเดลที่จะสามารถนำไปใช้ในจังหวัดอื่น ๆ ได้ด้วย”
ณิชมน ศรีธวัชชัย ผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า วันนี้ได้ความรู้เรื่องแนวทางการดูแลต้นไม้ การประเมินความเสี่ยงต้นไม้ จากแอปพลิเคชัน Green Dot. เราก็เรียนรู้วิธีการสังเกตต้นไม้จากข้อคำถามในแอปพลิเคชัน การบันทึกข้อมูลของเราก็เชื่อว่าจะได้รับการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการดูแลอย่างเหมาะสมต่อไป
“จากนี้ก็จะเอาความรู้ และแอปฯ ไปใช้กับต้นไม้ใกล้ตัว ใกล้บ้านต่อไป และจะนำเสนอเรื่องนี้ให้กับคนรู้จัก คนรอบข้าง ให้มาทดลองใช้แอปฯ กันเยอะ ๆ อยากให้เมืองของเรามีต้นไม้เยอะ ๆ เพราะถ้ามีแต่สิ่งปลูกสร้างมันก็จะร้อนมาก ๆ ทุกวันนี้โลกเราก็ร้อนขึ้น และต้นไม้ที่ต้องเผชิญกับมลภาวะต่าง ๆ ในเมือง ถ้าเราไม่ดูแลเขาให้ดี ก็อาจจะค่อย ๆ หายไป แต่แอปฯ นี้จะช่วยให้เราเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น เพื่อที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการดูแลต้นไม้ของเราต่อไป”