ย้ำเมืองกำลังโต ผังเมืองต้องขยับตามเพื่อเพิ่มศักยภาพ เล็งขยายเวลารับฟังความเห็นถึงสิ้นเดือน ก.พ. นี้ หลังพบผู้คนตื่นตัวด้านการวางผังเมือง
วันนี้ (9 ม.ค. 67) วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยยอมรับว่า รู้สึกดีใจที่เห็นพลเมืองตื่นตัวเรื่องการวางผังเมือง เพราะก่อนหน้านี้ หลายคนมองเห็นเป็นเรื่องไกลตัว ย้ำว่า ผังเมือง กทม. ต้องปรับเปลี่ยนเพราะวิถีชีวิต และความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงหวังเห็นความเปลี่ยนแปลง พัฒนา และอยากให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน มีพื้นที่สีเขียว ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเท้า จัดการพื้นที่เป็นระเบียบ ฯลฯ ดังนั้น การมีผังใหม่จะเป็นโอกาสทำให้สิ่งที่ฝันถึงได้เป็นจริง และเมื่อมีประชาชนสนใจให้ความเห็น ก็ควรถือโอกาสแก้ไขตอนนี้เลย ยินดีเปิดรับฟังความเห็นทั้งหมด
โดยปกติ ผังเมืองจะปรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน/การปรับผังเมืองใหม่ทุก 5 ปี กทม. จึงได้จัดทำผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาในปี 2562 ได้มีพระราชบัญญัติการผังเมืองใหม่ ซึ่งกำหนดให้ผังเมืองรวมมีรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 4 แผนผังเป็น 6 แผนผัง ประกอบด้วย
- แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท
- แผนผังแสดงที่โล่ง
- แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง
- แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ
- แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- แผนผังแสดงผังน้ำ
รองผู้ว่าฯ กทม. ยังระบุถึงข้อกังวลที่พี่น้องประชาชนได้ร้องเรียนมา เรื่องหนึ่งคือ การปรับผังสีที่อาจส่งผลกระทบทำให้บางคนได้สิทธิประโยชน์ในที่ดินมากขึ้น โดยย้ำว่าเมืองพัฒนาทางรถไฟหลายเส้นทาง จึงจำเป็นต้องขยับขยายความหนาแน่นของเมืองมากขึ้น ในขณะที่อีกเรื่องคือการเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนน ยืนยัน ไม่ได้มีการเวนคืนแต่อย่างใด แต่เป็นการกำหนดโดยกฎหมาย ให้ตัวอาคารมีระยะถอยร่นจากถนนมากขึ้น เพื่อลดความแออัดในเมืองใหญ่
ในประเด็นข้อสงสัยว่าผังเมือง กทม. เอื้อนายทุนจริงหรือไม่นั้น รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า หน่วยงานได้ตั้งโจทย์ของการออกแบบผังเมืองกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ให้มุ่งเน้นสร้างประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเมืองที่มีความแออัดที่แทบไม่มีพื้นที่ว่างเพื่อสร้างเป็นพื้นที่ให้กับสาธารณะ ดังนั้น กทม. จึงมีแผนเพิ่มการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตามแนวระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การเพิ่มความหนาแน่นที่อยู่อาศัยรอบรถไฟฟ้า เพื่อให้สังคมได้ประโยชน์ของขนส่งมวลชน หรือถ้ามีใครได้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มขึ้น ประโยชน์นั้นต้องตกแก่สาธารณะด้วย เช่น FAR Bonus ที่กำหนดให้เจ้าของที่ดินต้องทำโครงการสร้างประโยชน์แก่ชุมชน (เช่น การสร้างทางเท้า การสร้างพื้นที่สีเขียว การสร้างพื้นที่รับน้ำ) เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ในการใช้สอยที่ดินมากขึ้น (เช่น การสร้างอาคารให้สูงได้มากขึ้น) แต่ทั้งนี่จะมีกฎหมายควบคุมอาคารครอบอีกทีหนึ่ง เพื่อไม่ให้ใจกลางเมืองแออัดเกินไป
“ของเดิมผังเมืองที่เราทำมา 3 ฉบับ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มขึ้น จากการปรับผัง ส่วนหนึ่งของประโยชน์ (ของที่ดินแปลงนั้น) ต้องตกอยู่สาธารณะ อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงใหม่ของเดิมที่เราทำมา 3 ฉบับ ไม่มีพูดถึง ใครได้ประโยชน์จากการปรับผังสีก็คือเหมือนถูกหวย แต่คราวนี้ไม่ใช่ คราวนี้ถ้าคุณใช้ประโยชน์พื้นที่ได้มากขึ้น ต้องแบ่งส่วนหนึ่งกลับมาเป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้นพื้นที่สาธารณะเราก็จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย”
วิศณุ ทรัพย์สมพล
ขณะที่ รศ.นพนันท์ ตาปนานนท์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผังเมือง กทม. ได้รับการอัพเดตล่าสุดเมื่อปี 2556 แต่ในปี 2557 มีโครงการพัฒนารถไฟฟ้าจำนวนหลายสาย จนถึงตอนนี้มีเส้นทางรถไฟฟ้ากว่า 300 กิโลเมตร แต่ยังมีหลายสถานีในอนาคตยังติดอุปสรรคของพื้นที่ ทำให้เข้าถึงไม่ได้ เช่น ติดแม่น้ำคูคลอง ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับผังเมืองให้รองรับระบบขนส่งมวลชนและเมืองที่โตมากขึ้น
ในส่วนประเด็นพื้นที่สีแดง (พื้นที่พาณิชยกรรม) ที่ปรากฎในพื้นที่ที่พ้นใจกลางเมือง รศ.นพนันท์ ชี้แจงว่า เนื่องจาก กทม. มีปัญหาเป็นเมืองศูนย์กลางเดี่ยว จะเห็นว่าคนในซีกตะวันออกของชานเมืองต้องเดินทางไกลมาก การศึกษาร่วมกับ MIT พบว่า การทำ “มหานครหลายศูนย์กลาง” สร้างสมดุลระหว่างแหล่งอยู่อาศัย และแหล่งงาน เพื่อให้คนชานเมืองไม่ต้องพึ่งพิงการเดินทางเข้ามาในตัวเมือง และตอนนี้มี Sub-center ของกรุงเทพฯ ตะวันออกที่เขตมีนบุรี เห็นได้จากรถไฟฟ้า 2 สาย สายสีส้ม และสีชมพูที่มาบรรจบ ส่วนกรุงเทพฯ และฝั่งตะวันตกเป็นเขตบางขุนเทียน เป็นต้น
ส่วนประเด็นพื้นที่ “แดงเซาะร่อง” ซึ่งถูกเปิดเรื่องโดย ศุภณัฐ มีนชัยอนันต์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล โดยในพื้นที่ดังกล่าวที่เป็นประเด็น นั้นมีลักษณะของการจัดสรรพื้นที่ลักษณะ “เซาะตามร่อง” บริเวณที่โล่งรอบสนามกอล์ฟ ทำให้หลายฝ่ายมีความเคลือบแคลงใจ ประเด็นนี้ทางสำนักผังเมืองฯ และคณะกรรมการผังเมือง มีหลักเกณฑ์อะไรในการกำหนดให้ว่าพื้นที่ใดควรเป็นพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) รศ.นพนันท์ ชี้แจงว่า พื้นที่ตรงนี้ถูกกำหนดมาตั้งแต่ผังเมืองรวมปรับปรุงครั้งที่ 1 ฉบับปี 2542 เดิมในข้อเสนอกรุงเทพมหานคร ก็ทำพื้นที่ตรงนั้นเป็นเป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
แต่คราวนี้ก็เสนอเข้ามาในกรรมการผังเมือง เป็นคำร้องซึ่งก็เป็นคำในช่วง 90 วัน ตามกฎหมายเดิม เจ้าของโครงการขอพัฒนาตรงนี้ให้เป็นศูนย์พาณิชยกรรมชานเมือง แล้วการพิจารณานี้ก็คือผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมืองตอนนั้น ดังนั้นวิธีการปรับแผนผังแผนที่โล่งตอนนี้ ก็ต้องพิจารณาซ้อนกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณหนึ่งอาจมีข้อกำหนดมากกว่าหนึ่งแผนผัง
รองผู้ว่าฯ กทม. ยังย้ำว่า ในร่างผังเมืองฉบับนี้ต้องเน้นเพิ่ม 2 เรื่อง ได้แก่ การสร้างประโยชน์สาธารณะที่ต้องมีเพิ่มเติมมากขึ้น ขณะที่เรื่องที่ยังไม่ได้แตะเลย คือเรื่อง ระดับพื้นที่ ซึ่งมองจากระดับนโยบายจะยังมองไม่เห็น ต้องรอให้พี่น้องประชาชนชี้แจงและแสดงความเห็นเข้ามา พอมีการเข้ามามีกระบวนการับฟังเช่นนี้จะช่วยให้ กทม. และทางที่ปรึกษาต้องหาคำตอบให้กับทุกข้อกังวลของพี่น้องประชาชน และนำไปปฏิบัติต่อในระดับนโยบายต่อไป
ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง บอกว่า ก่อนได้ทำร่างผังเมืองฉบับนี้ออกมา กทม. ได้เปิดให้รับฟังความคิดเห็นมากกว่า 1 ครั้ง ที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยก่อนทำร่างได้จัดการรับฟังความเห็นทั้งสิ้น 5 ครั้งด้วยกัน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,400 คน และหลังที่มีร่างผังเมืองแล้ว กทม. ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นอีก 7 ครั้ง แบ่งเป็น 6 กลุ่มเขต และจัดรวมทุก 50 เขตเมื่อ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น)
รองผู้ว่าฯ กทม. คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปีในการจัดทำ และประกาศใช้ร่างผังเมืองฉบับใหม่ แต่ กทม. ไม่ใช่ผู้กำหนดชี้ขาดเพราะต้องส่งเรื่องกลับไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง และกระทรวงมหาดไทย อีกที่หนึ่ง ย้ำว่า จะเปิดผลการศึกษา และเหตุผลการปรับผังสีผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักผังเมือง และรับปากว่าจะขยายเวลารับฟังความเห็นเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะขยายไปถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เมื่อได้วันที่แน่ชัดอย่างไรจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกทีหนึ่ง
ทั้งนี้ กทม. พร้อมเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสีย ยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยขยายระยะเวลาการยื่นหนังสือได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 (เดิมสามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2567)
โดยมีช่องทางการแสดงความคิดเห็น ได้แก่
- ยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองต่อเจ้าหน้าที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง หรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
- ยื่นทางเว็บไซต์ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร https://webportal.bangkok.go.th/cpud
- ยื่นทางเว็บไซต์โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร https://plan4bangkok.com หรือโทรศัพท์ 0 2354 1275