เปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อย สะท้อนปัญหาการใช้ชีวิตในเมืองหลวง ผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพ กทม. ยันไม่ใช่เสือกระดาษแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเมือง ยกระดับการฟังเสียงและการมีส่วนร่วม
วันนี้ (31 มี.ค.67) สมาชิกสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 2567 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรม เพื่อสังคมสุขภาวะ สมาชิกสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ประกาศเจตนารมณ์ “เราจะร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ ให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ด้วยพลังความร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วนภายในปี2570
สำหรับกลไกที่จะทำให้การมีส่วงนร่วมของภาคประชาชนเกิดขึ้นได้จริงในทางปฎิบัติ พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ระบุว่า ก่อนที่จะมาถึงข้อเสนอในหลายประเด็นวันนี้ มีกระบวนการทำงานที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจนตกผลึกข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายระดับหนึ่งแล้ว แต่หลังจากนี้การจับตาเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นจริงคือต้องลงมือทำ สอดคล้องกับข้อเสนอในช่วงเย็น ที่หลายภาคส่วนพยายามสะท้อนและหากลไกในการก้าวต่อในการสร้างเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วมและมีสุขภาวะที่ทุกคนมีความสุข
อัครพล แสงอรุณ รองประธานสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก วัยรุ่น เสนอให้มีนักจิตวิทยาในโรงเรียนเพื่อให้คำปรึกษาในโรงเรียน สร้างมหานครโอกาสของเด็กและเยาวชนให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ รำพึง เอ้มะราด ประธานชุมชนหมอเหล็งริมบึงมักกะสัน สะท้อนว่าชุมชนแออัดไม่ใช่แค่พื้นที่มองเห็นปัญหา แต่ชุมชนยังมีชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ทำงานผลักเมือง อยากให้คนมองเห็นว่าเมืองจะเจริญเติบโตไปได้ยังไง หากไม่มีคนเหล่านี้ ทั้งอาชีพที่คนเมืองหลายคนไม่ทำ อาหารราคาถูก จึงอยากเห็นคนจนเติบโตไปพร้อมเมือง
ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษย์ชน ฝันเห็นเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ และ ศิวรัฐ ศรรัตนสกุล พนักงานทั่วไป(กวาด) ลูกจ้างชั่วคราว ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะสำนักงานเขตราชเทวี กทม. เชื่อว่าเมืองควรเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงความสุขได้ง่าย ความสุขจะเปลี่ยนมหานครได้
ขณะที่บทสรุปในรายประเด็น มุมมองจากหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า นี่คือจุดเริ่มต้นที่สวยงามของการทำงานร่วมกัน และการที่ภาคนโยบายมองเห็นกระบวนการเหล่านี้เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญและมีประโยชน์มาก นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ รองประธานอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร สรุปประเด็นการจัดการพื้นที่สาธารณะ ที่หมายถึงการใช้พื้นที่ที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อที่จะสร้างสุขภาวะ ส่วนกลไกหลังจากนี้ขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการในการทำงานและเริ่มต้นจากการมีพื้นที่ทดลอง
เตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมือง (ศสม.) ย้ำว่ามติสมัชชาฯจะไม่ใช่แค่เสือกระดาษที่ไปสั่งหรือคาดหวังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่นี่คือพื้นที่ของการเริ่มต้นที่ฟังเสียงประชาชนและสร้างกลไกที่ทำงานได้จริง
นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ย้ำว่า การพัฒนาระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็งคือการสร้างนำซ่อม แต่คนทั่วไปไม่ค่อยใช้การแพทย์ปฐมภูมิ ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้
ขณะที่ ศ.นฤมล นิราทร ประธานอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพ ย้ำว่า สุขภาพต้องคู่กับเศรษฐกิจ เป็นห่วงโซ่อุปาทานซึ่งกันและกัน และเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคนโยบายกทม.ที่พยายามจะสร้างมาตรฐานหาบเร่และพูดถึงการพัฒนาฐานราก ก้าวข้ามการจัดการพื้นที่สู่ข้อเสนอที่เป็นพื้นที่ทดลอง