‘บุญเลิศ วิเศษปรีชา’ แนะ รัฐชวนเอกชน หนุนค่าเช่าผู้มีรายได้น้อย ผลักดัน “Social Housing-ที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม” ปรับค่านิยมการเป็นเจ้าของ สู่การสร้างความมั่นใจ “มีที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้”
“คนไทยเรามีค่านิยมว่าอยากจะเป็นเจ้าของ
การเป็นเจ้าของส่งต่อให้ถึงลูกหลานได้
แต่การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยจะนำไปสู่การ เก็งกำไร
ถ้าจะลดการเก็งกำไร ต้องทำให้คนมั่นใจได้ว่า
เขาสามารถมีที่อยู่อาศัยในราคาที่เขาเข้าถึงได้”
ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ชวนสังคมเปลี่ยนมายาคติ “บ้านเช่า” โดยทางวิชาการ การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ควรทำให้ทุกคนมุ่งไปสู่การเป็นเจ้าของ เพราะการมุ่งสู่การเป็นเจ้าของ หมายถึง การต้องเป็นหนี้ระยะยาว ผ่อนส่งระยะยาว คนจนที่มีการงานไม่มั่นคง ก็มีโอกาสสูญเสียที่อยู่อาศัย และอยู่ในวงจรหนี้สิน ดังนั้น การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในระยะยาว บางครั้งอาจเป็นภาระสำหรับคนบางกลุ่ม
เขาบอกว่า ที่ผ่านมานโยบายที่อยู่อาศัยไทย ส่งเสริมการเป็น เจ้าของบ้าน มากกว่าการเช่าอาศัย เช่น ปี 2546 การเกิดขึ้นของโครงการบ้านมั่นคง, ปี 2554 บ้านเอื้ออาทร, ปี 2559 บ้านหลังแรก และ ปี 2561 เป็นต้นมา เกิดบ้านประชารัฐและบ้านล้านหลัง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเน้นการเป็นเจ้าของ ด้วยการเข้าถึงสินเชื่อราคาถูก มีเพียง เคหะสุขประชา ที่เป็นนโยบายให้เช่าบ้าน
พร้อมยกตัวอย่างว่า หากคนชนชั้นกลางผ่อนบ้าน ก็จะสามารถ นำดอกเบี้ยที่ส่งเงินค่าผ่อนบ้านไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นการส่งเสริมคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น คือ ชนชั้นกลางที่มี รายได้แน่นอน ให้ได้เข้าถึงนโยบายของรัฐ
แต่มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นผู้เช่าที่อยู่อาศัยมีรายได้น้อย ซึ่งไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเลย เพราะเขาไม่มีศักยภาพพอที่จะเข้าไปสู่วงจรการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เพราะทำงานนอกระบบ ไม่มีเงินเดือนที่มั่นคงแน่นอน ที่ทำให้พวกเขาถูกมองข้าม
“ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินหลักพันล้านบาทไปกับการลดหย่อนภาษีให้คนซื้อบ้าน แต่คนที่ไม่มีปัญญาซื้อบ้าน และเขาเข้าไม่ถึงประโยชน์ตรงนี้เลย แทนที่จะเก็บภาษีคนตรงนั้น และนำเงินมาช่วยคนที่ไม่มีศักยภาพดีกว่า อย่างนี้เราถึงจะมีที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า Social Housing ที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยเพื่อการเก็งกำไร”
ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา
ผศ.บุญเลิศ ยังเสนอให้รัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เข้าถึงที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้น คือ การอุดหนุน ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีแนวคิด รัฐบาลอย่างเดียวทำไม่พอ ต้องส่งเสริมให้เจ้าของที่ดิน (landlord) ที่เป็นเอกชนทำด้วย เพื่อให้คนกลุ่มรายได้น้อยเป็นผู้อยู่อาศัยโดยเฉพาะ หรือ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีนโยบายสนับสนุนให้คนไร้บ้านสามารถเช่าอะพาร์ตเมนต์ได้ในราคาถูกและรัฐอุดหนุน แต่สิ่งสำคัญ คือ รัฐต้องรู้ว่ายังมีคนรายได้น้อยที่เช่าที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำอยู่อีกจำนวนมาก