งานวิจัย เสนอ รัฐเร่งยกระดับที่อยู่อาศัย มีรายได้เพียงพอชูบทบาท อปท. หลังหลายพื้นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ เด็กเกิดน้อย ไม่มีคนดูแล
วันนี้ (30 ส.ค.65) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมแถลงผลงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย เรื่อง “สังคมสูงวัยที่ยั่งยืนภายใต้วิถีชีวิตใหม่” สร้างการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายผ่านกระบวนการ Policy Dialogue Process จำนวนทั้งหมด 18 เรื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรอบด้านในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสู่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การมีที่อยู่อาศัยและการได้รับบริการที่เหมาะสมโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะยากจนและเป็นกลุ่มเปราะบาง 2. ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดํารงชีพอย่างมีคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 3. การพัฒนาโครงสร้างและนโยบายของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในชุมชน และ 4. พัฒนาระบบข้อมูลและตัวชี้วัดสําหรับประเมินศักยภาพ ภาวะพฤฒิพลัง และความต้องการด้านบริการสุขภาพ และบริการทางสังคมสําหรับผู้สูงอายุ
นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการ มส.ผส. กล่าวว่า ข้อค้นพบที่สำคัญในการศึกษาวิจัย คือ ประเด็นที่อยู่อาศัยและการได้รับบริการที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะยากจนและเป็นกลุ่มเปราะบาง หากอ้างอิงจากการสำรวจในปี 2564 ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จำนวน 13,358,751 คน มีถึงร้อยละ 12 หรือ 1,603,050 คน อาศัยอยู่คนเดียวในบ้าน ร้อยละ 21.1 หรือ 2,818,696 คน อาศัยอยู่ลำพังกับคู่สมรส ทำให้เสี่ยงต่อการใช้ชีวิตหรือความมั่นคงในชีวิตบั้นปลาย ขณะที่การสร้างบ้านพักผู้สูงอายุเพิ่มเติมอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้สูงอายุในอนาคต ที่ประเมินว่าจะมีถึง 20.5 ล้านคนในปี 2583ฃ
งานวิจัยจึงมีข้อค้นพบที่สำคัญ ว่าควรมีการจัดบริการทางสังคม (social service) ที่เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสังคม โดยเป็นภารกิจหลักของหน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในแต่ละพื้นที่ ร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม วัด โรงเรียน โรงพยาบาลนอกจากนี้ควรจัดบริการให้ความรู้เรื่องสุขภาพ (health literacy) รวมทั้งการเตรียมพร้อมและการเข้าถึงบริการทางสังคมเพื่อการสูงวัยอย่างมีพลัง และการประเมิน/ติดตาม การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือประเมินความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุ (ดัชนีพฤฒพลัง) และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“เราควรเปลี่ยนคำถามจากแก่ไปใครในบ้านจะดูแล เป็นคนในชุมชนจะดูแลกันและกันได้อย่างไร หน่วยงานท้องถิ่นควรจัดบริการทางสังคมที่เข้าไปหาประชากรในที่อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว หรืออยู่กันเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่เดิมของตนเองได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี”
นพ.ภูษิต ประคองสาย
ขณะที่โครงการวิจัยการวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลังแหล่งรายได้และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ โดยคํานึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ ระบุว่าควรปฏิรูประบบบํานาญและการจ่ายเบี้ยยังชีพที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย เสนอให้มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เดือนละ 3,000 บาท และออกแบบระบบบํานาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาไปได้ถึงระดับมัธยฐานของการครองชีพสําหรับครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาท/เดือนโดยให้ผู้ทํางานอยู่นอกระบบสามารถทําการออมและให้รัฐบาลร่วมสมทบการออมในสัดส่วนเดียวกันซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบํานาญภาครัฐ ซึ่งคณะผู้วิจัยเสนอแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจํากัด สร้างระบบฐานข้อมูล ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุและเสนอให้มีการทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ”จากการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ศิรินทร์พร เดียวตระกูล หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านการเตรียมรับสังคมสูงวัย (ววน.) จาก วช. กล่าวว่า สังคมสูงวัย เป็นประเด็นที่มีความท้าทาย ทั้งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงทำให้ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาสุขภาพ ป่วยเรื้อรัง ติดเตียง เหงาซึมเศร้า ปัญหาที่พักอาศัย รายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีเงินออม ก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทัน โดย วช.กำหนดทิศทางการสนับสนุนการวิจัยที่สอดคล้องกับแผน ววน. พัฒนาสังคมสูงวัยด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2 ด้าน คือ 1. การพัฒนาผู้สูงอายุในภาคชนบทและเมืองให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเอง มีคุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม 2. การพัฒนานวัตกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมของวัยแรงงานในภาคชนบทและเมือง เข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย เพื่อให้ประเทศมีความพร้อมในการเป็นสังคมสูงวัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและการอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย รวมทั้งส่งเสริมให้ประชากรไทยช่วงวัยแรงงาน อายุ 25-59 ปี มีการเตรียมการเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ขณะที่การร่วมมือกับ มส.ผส. และภาคีเครือข่าย ทาง วช. มีทิศทางในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในที่อยู่อาศัยเดิมอย่างเหมาะสม (Ageing in Place) สนับสนุนคนในครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ส่งเสริมให้ อปท. และชุมชน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ จัดบริการสาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ อปท. และเครือข่ายในชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุ และยกระดับมาตรฐานที่อยู่อาศัยและการดูแลผู้สูงอายุ
ในงานแถลงผลงานวิจัย ยังได้สำรวจความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ในกลุ่มวัย Generation Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2539-2555) จำนวน 636 คน เกี่ยวกับทัศนคติต่อผู้สูงอายุและความต้องการในการเตรยีมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย พบว่า ร้อยละ 46.7 ระบุว่า ต้องเตรียมตัว ร้อยละ 31.6 เฉยๆ และร้อยละ 21.7 วิตกกังวล ขณะที่ความต้องการในการ ด้านสุขภาพ ต้องการให้เพิ่มสิทธิรักษาพยาบาล บริการตรวจสุขภาพเยี่ยมบ้าน รถรับส่งสถานพยาบาล ด้านเศรษฐกิจและการมีรายได้เพื่อยังชีพ ต้องการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาศักยภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน ด้านที่อยู่อาศัย ต้องการบริการประสานส่งต่อ หรือสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ยากไร้ ซ่อมแซมบ้านเรือนให้ดีกว่าเดิม เพิ่มจำนวนสถานสงเคราะห์ และด้านสภาพสังคม จัดกิจกรรมหรือเปิดพื้นที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สูงอายุ จัดสวัสดิการด้านการศึกษา ส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยี พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และอัตราค่าเดินทางให้สะดวกมากขึ้น