เดินหน้า ‘บำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า’ วัดใจพรรคการเมือง

เครือข่าย We Fair แนะเลือกตั้งใหม่ เลือกผู้แทน ที่สนับสนุนสวัสดิการประชาชน ย้ำ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องใช้เกณฑ์เส้นความยากจน 2,762 บาท หวังสร้างหลักประกันรายได้ ไม่ทิ้งภาระให้ลูกหลาน

วันนี้ (1 ต.ค.65) เครือข่ายพลังผู้สูงวัย กลุ่ม for Oldy กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน ‘วันผู้สูงอายุสากล ประจำปี 2565’ โดยมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย และข้อเสนอเชิงนโยบายในการยกระดัคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคน ประสบปัญหาและความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านรายได้ ความสำคัญคือไม่มีใครอยากเป็นภาระของลูกหลาน จึงเรียกร้อง พระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เพิ่มขึ้นจากเดิม 600-1,000 บาท เป็นการใช้เกณฑ์เส้นความยากจน 2,762 บาท เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุถ้วนหน้า

ที่ผ่านมา we fair เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ช่วงปี 2562 แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงิน จึงต้องส่งไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจขาดความเข้าใจความสำคัญของผู้สูงอายุ เพื่อให้มีหลักประกันทางรายได้ จึงปัดตกร่างดังกล่าว ต่อมาจึงเสนอต่อพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน นำไปสู่การเสนอร่าง พ.ร.บ. อีก 4 ฉบับ แต่ก็ถูกปัดตกอีกทั้งหมด

ในปัจจุบันเหลืออยู่ 1 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เสนอโดยกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ซึ่งใช้หลักการ สำคัญ ๆ คือใช้สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าให้เพียงพอเกินเส้นความยากจน ในรายละเอียดยังระบุถึงที่มาของงบประมาณเหล่านี้ด้วย เพื่อตอบคำถามสำคัญ ว่าจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย เพื่อไม่ทำลายวินัยการคลัง

“ผมคิดว่านายกฯ ไม่ควรปฏิเสธร่างฉบับนี้ แต่ภาคประชาชนเอง เรามองว่าการที่ปัดตกหลายฉบับ น่าจะเพราะไม่เห็นความสำคัญจริง ๆ เราจึงมองไปถึงช่วงเวลาเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงปลายปีนี้ หลังการประชุมเอเปค เราจะเดินทางไปหารือพร้อมผลักดันนโยบายบำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้ากับพรรคการเมืองต่าง ๆ และชวนให้สังคมพิจารณาเลือกผู้แทนที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้”

อรนุช เลิศดิลก ผู้ประสานงานเครือข่ายพลังผู้สูงวัย คาดหวังให้หน่วยงานรัฐสนับสนุน และเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังคิดว่าการส่งเสริมด้านสวัสดิการเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้รัฐบาลผลักดันนโยบายบำนาญผู้สูงอายุแห่งชาติอย่างจริงจัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active