‘สวัสดิการรัฐ – สังคม ทางเลือกวาระสุดท้ายในชีวิต’ ทางออกในสังคมสูงวัยที่มีความเปราะบาง
วันที่ 21 ต.ค.2565 สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสร์ และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “ภูมิทัศน์ของความเปราะบางในสังคมเอเชีย: สังคมสูงวัย – ทางเลือก ทางออก ว่าด้วยวาระท้ายของชีวิต” เพื่อสร้างพื้นที่ทางวิชาการต่อการยกระดับความเข้าใจ โดยเฉพาะในเชิงนโยบายทางสังคม ในการทำความเข้าใจฐานคิดทางวัฒนธรรมของสังคมเอเชียที่มีต่อความสูงวัยและความตาย ประสบการณ์ของผู้สูงวัยภายใต้ความกดทับอันซับซ้อนของโครงสร้างสังคมรวมถึงความเป็นไปได้ของฉากทัศน์ความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตผ่านมุมมองสหสาขา และท้ายที่สุดคือการร่วมกันออกแบบวาระท้ายและการจัดการผ่านนวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์แห่งความเปราะบางนี้
โดยในหัวข้อ “เรื่องเล่าผู้สูงวัยชายขอบ ประสบการณ์เปราะบางกับทางออกเชิงนโยบาย” วีรมลล์ จันทร์ดี หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากการทำงานด้านผู้สูงอายุ จะมีโจทย์สำคัญ 3 กลุ่ม คือ ติดเพื่อน ติดบ้าน ติดเตียง หากเผชิญกับความยากจนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในเวลานี้ก็จะยิ่งเพื่มความเปราะบางขึ้นไปอีก โดยที่น่าห่วงคือผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง อยู่ในภาวะพึ่งพิงย้ายถิ่นย้อนกลับ หลากหลายทางเพศ ไร้บ้าน และคนไทยไร้สิทธิ
นอกจากนี้ยังมีความเห็นที่เกิดขึ้นเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น เจ็บแล้วตาย ดีกว่าเจ็บแล้วไม่ตาย มาจากเงินสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อเดือนของผู้สูงอายุ ,คนตายขายคนเป็น การเสียค่าใช้จ่ายเพื่อยื้อชีวิตกว่า 25 % และค่าจัดการศพที่มีต้นทุนสูง ,อยู่ดีจนนาทีสุดท้าย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในความดูแลของนักสังคมสงเคราะห์ ระบุว่า อยากอยู่บ้านตัวเองในช่วงบั้นปลาย แต่สภาพที่อยู่อาศัยไม่เอื้ออำนวย
ขณะที่สถานการณ์คนไร้บ้าน จากการสำรวจโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และภาคประชาสังคม พบว่าเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะสถานการณ์โควิค-19 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 1,200 คน เป็น 1,700 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป 20% หรือไม่ต่ำกว่า 340 คน
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับจุด Drop-In หรือ พื้นที่บริการคนไร้บ้านเฉพาะกิจ โดย กทม. ,พม. และภาคีเครือข่ายที่ปัจจุบันมี 4 จุด คือ หัวลำโพง ราชดำเนินกลาง ตรอกสาเก ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ในรอบ 1 เดือนมีผู้เข้ารับบริการ 350 คน เป็นผู้สูงอายุ ถึง 40% หรือ 140 คน ที่น่าห่วงคือส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ 0-3 ปี เช่น มีปัญหากับทางบ้าน หรือตกงานในช่วงโควิด-19 หากไม่ได้รับการดูแล ฟื้นฟูศักยภาพ อาจทำให้กลายเป็นคนไร้บ้านถาวรในช่วงบั้นปลายชีวิตได้
“ความเปราะบางที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุสิ่งที่ตามมาเมื่อไร้บ้านเกิน 3 ปี เขาจะเริ่มมีปัญหาทางกาย จิตใจ ที่สำคัญผู้สูงอายุไร้บ้านเหล่านี้จะอยู่ในภาวะพึ่งพิง เพราะไม่มีสังคมเหมือนกับกลุ่มไร้บ้านอื่นๆ ที่จะคอยช่วยเหลือกันเรื่องอาหารการกิน หางานสิ่งที่ กทม.และภาคประชาสังคมช่วยกันคือทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงที่อยู่อาศัย อาชีพ โดยเร็วที่สุด”
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
ขณะที่ผู้สูงอายุที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบ เช่น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพ การสร้างครอบครัว และอคติทางเพศ ส่งผลถึงความมั่นคงเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงสูงอายุ เช่นการถูกเลือกปฏิบัติทางสังคม อาชีพ การจ้างงาน สิทธิในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในฐานะคู่ชีวิต เบี้ยบำนาญของคู่ชีวิต ผลประโยชน์หลังคู่ชีวิตเสียชีวิต การเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น คลินิกสุขภาพเพศผู้สูงวัยข้ามเพศต้องไปที่ไหน และผู้สูงอายุที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ยังจัดอยู่ในกลุ่มที่ขาดองค์ความรู้ หรือทำความเข้าใจผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการสำรวจเพิ่มความต้องการเพิ่มเติม เพื่อให้แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 รวมถึงนโยบายต่างๆ เกิดความเท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง