Thailand Web Stat

เสนอรัฐ กำหนด ระบบหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ เป็น ‘วาระแห่งชาติ’

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ห่วง อนาคตแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน เป็นระเบิดเวลาสังคมสูงวัย เผชิญความเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงการออม บริการสุขภาพ เสี่ยงเป็นกลุ่มเปราะบางในชีวิตบั้นปลาย

วันนี้ (16 ธ.ค.65) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีพิจารณาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 (ร่าง 2) เรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาชน ร่วมพิจารณา แก้ไขในรายประเด็น 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์อย่างเต็มตัว โดยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวนกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของประชากรทั้งประเทศ การพูดถึงหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงได้บรรจุประเด็นนี้เข้าสู่วาระการพิจารณาของ สช. ในปีนี้ โดยเริ่มต้นจากการตั้งคณะทำงานในการศึกษา จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อพัฒนาหลักประกันรายได้เมื่อเข้าสูงวัยสูงอายุ ตั้งแต่ มิ.ย.65  และจะเข้าสู่การหาฉันทามติ พร้อมกับการสร้างพันธะสัญญา ในวันที่ 21-22 ธ.ค.65 ภายใต้แนวคิดมุ่งสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส และความหวังประเทศไทย 

“วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาเราเห็นผู้สูงอายุที่สูญเสียรายได้จำนวนมาก และในอนาคตอันใกล้นี้มีการทำนายว่า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ต่อเนื่อง 20 ปี การร่วมกันพัฒนาระบบเพื่อเตรียมพร้อมรองรับชีวิตในอนาคต ภารกิจนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนสูงวัยในปัจจุบันเท่านั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน”

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ คสช. เลขานุการคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย ระบุว่า ในปี 63 จำนวนของคนยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านคน เป็น 4.8 ล้านคน เศรษฐกิจหดตัว 6.1 % ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็นประชากรที่มีอัตราความยากจนมากที่สุด โดยผู้สูงอายุที่ยากจนถึง 11 % ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด คือ มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาท/คน/เดือนและยังได้รับผลกระทบสูงในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำของประเทศโดยมีถึง 36% ของผู้สูงอายุที่สูญเสียรายได้จากการขาดอาชีพ พื้นที่ค้าขาย หรือถูกลดเงินเดือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในเมือง

ในทางกลับกันประชากรวัยแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในภาคการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มักเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมในปัจจุบัน และไม่มีความมั่นคงทางรายได้เมื่อชราภาพความมั่นคงด้านรายได้จึงเป็นความท้าทายภายใต้บริบทสังคมสูงวัย สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ตลอดจนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 65  จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีความผันผวน ไม่แน่นอนสูงซึ่งต้องเตรียมการรับมือให้คนไทยมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตสามารถดำรงชีพผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ไปได้  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีประสบการณ์บทเรียนความสำเร็จในการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นสิทธิด้านสุขภาพแบบถ้วนหน้า ที่ผ่านการดำเนินการและพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องมาแล้วมากกว่า 20 ปี ช่วยลดความยากจนจากค่ารักษาพยาบาล รวมถึงป้องกันการเกิดภาวะล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ สนับสนุนให้หลักประกันสุขภาพของประชาชนมีความครอบคลุม คุณภาพ ประสิทธิภาพและความยั่งยืน  และมีรูปธรรมของกองทุนย่อยภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 

“เรามีความจำเป็นและมีความพร้อมที่จะจัดให้มีระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่คนในสังคมทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพจากทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ และควรมีนโยบายสาธารณะเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อไป”

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี

สำหรับ กรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลักที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ได้แก่ 

(1) การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และ มีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 

(2) การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่เชื่อมโยงทั้งการออมของปัจเจกบุคคลและการออมรวมหมู่ ที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน 

(3) เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ 

(4) การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) 

(5) การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น

ทั้งนี้ ยังเห็นว่าระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุนี้ ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่มีหน่วยงานรับผิดชอบ และเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เป็นโยบายสาธารณะที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเห็นผลรูปธรรม โดยมีกลไกระดับชาติทำหน้าที่บูรณาการระบบย่อยและขับเคลื่อนระบบใหญ่ เชื่อมโยงกับกลไกระดับพื้นที่เพื่อการจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุของประชาชนทุกคน

นอกจากข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” ยังมีร่างมติฯ “การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่น กีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) และ “การขจัดความยากจนตามโมเดล BCG: การยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือน” เข้าพิจารณาพร้อมกันในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค.65 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active