‘นิพนธ์ พัวพงศกร’ ย้ำหลังเลือกตั้ง ไร้ภาพฝัน หยุดแรงงานไหลเข้าเมือง

ติง นโยบายหาเสียง พรรคการเมือง ขาดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ กระจายอำนาจการเงิน การคลัง เศรษฐกิจ การเมือง ยังไกลเกินเอื้อม หวังถ้าเปลี่ยนได้จริง ช่วยจูงใจคนหนุ่มสาว สร้างตัวเองที่บ้านเกิด   

วันนี้ (17 เม.ย.66) รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยกับ The Active ถึงภาพอนาคตของภาคแรงงานไทย ที่อยากเห็นหลังการเลือกตั้ง โดยหยิบยกปรากฎการณ์แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ช่วงวันหยุดยาวในหลาย ๆ เทศกาลที่ผ่านมา เป็นสิ่งสะท้อนชัดเจนที่ต้องยอมรับร่วมกัน ว่า ต่อให้หลังเลือกตั้ง มีรัฐบาลชุดใหม่ และในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ก็เป็นเรื่องยากที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเด็นแรงงานอพยพเข้าเมือง และก็ยากที่จะเห็นการกระจายความเจริญไปสู่หัวเมืองต่างจังหวัด ถ้านโยบายพรรคการเมือง ยังเน้นแต่ประชานิยม ไร้ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

โดยมองว่า ในเวลานี้ภาคแรงงานไทย ต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งยังมองไม่เห็นจากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง เรื่องนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ ต้องทำให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่พรรคที่มีนโยบายกระจายอำนาจมีแต่พรรคเล็ก ๆ และก็ไม่ใช่ก็นโยบายหลัก ที่ต้องกระจายอำนาจอย่างจริงจังทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การคลัง และ การเมือง  

“ขณะนี้คนต่างจังหวัดการศึกษาสูง ๆ มีความสามารถสูง รู้ศักยภาพของจังหวัดตัวเอง ดีกว่าคนกรุงเทพฯ หรือคนจากส่วนกลาง แต่เรายังให้ข้าราชการส่วนกลางวางแผน กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา และยังรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ ซึ่งแต่ละกรมก็ทำงานแบบตัวใครตัวมัน งบฯ ใคร งบฯ มัน ไม่ทำงานงานร่วมกัน เส้นทางการพัฒนาประเทศก็เลยติดกับดักส่วนนี้ อนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะเห็นการกระจายอำนาจ การเงินการคลัง และการเมือง รวมถึงพัฒนาศักยภาพคน พัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้คนหนุ่มสาวทำงานที่ต่างจังหวัดได้ เพราะตอนนี้เทคโนโลยีทุกอย่างก็พร้อมอยู่แล้ว ทำงานที่ไหนก็ได้”

รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร

รศ.นิพนธ์ ย้ำว่า จุดเปลี่ยนเรื่องนี้ต้องมาจากการเมือง คือคนที่มีอำนาจทางการเมือง ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นเหมือนกฎหมาย และเป็นความคิดของคนรุ่นเก่า เปรียบกับคนรุ่นตนเองซึ่งน่าจะให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนกำหนดยุทธศาสตร์แห่งอนาคต โดยยกตัวอย่างแผนพัฒนาประเทศของมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่แผนพัฒนาของเขาได้รับการยอมรับจากธนาคารโลก ยกย่องว่าเป็นแผนพัฒนา 10 ปี แต่วางไว้แบบหลวม ๆ ไม่กำหนดตายตัว ไม่ได้ออกมาเป็นกฎหมาย สามารถเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งของไทย พรรคการเมืองเอง ควรกำหนดยุทธศาสตร์พวกนี้ให้เป็นนโยบาย แล้วก็แข่งกันเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก แต่สิ่งเหล่านี้แทบมองไม่เห็น เพราะพรรคการเมืองแข่งขันกันแต่นโยบายที่ใช้เงิน แจกเงินระยะสั้น จูงใจคะแนนเสียงด้วยการใช้งบฯ ประชานิยม ยังไม่เห็นทิศทางพรรคการเมืองไหน ที่ชี้อนาคตของประเทศ แล้วมียุทธศาสตร์ใหญ่ ๆ ให้ประชาชนเลือก จึงอยากเห็นนโยบายที่แข่งกันแบบนี้มากกว่า     


“ถ้ามียุทธศาสตร์พัฒนาประเทศที่แข่งขันกันได้จริง ๆ ก็จะเห็นภาพชัดเจนถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมพัฒนา ต่อไปภาพอนาคต เราอาจจะเห็นคนหนุ่มสาวในชนบท แค่นั่งขนส่งสาธารณะ นั่งรถไฟฟ้า มาทำงานตามหัวเมืองต่างจังหวัด ไม่จำเป็นต้องมาทำงานถึงเมืองหลวง หรือ หัวเมืองใหญ่แต่ละภาค และงานที่ทำก็ไม่ได้แปลว่าทำไว้ใช้ ไว้จำหน่าย รองรับแค่คนที่นั่นเท่านั้น แต่ยังมีช่องทางกระจายผลิตภัณฑ์ ไปสู่คนทั่วโลกได้ด้วย สิ่งนี้ต้องชัดเจนตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพการศึกษา ทักษะแรงงาน ต้องทำอย่างจริงจัง เพราะการศึกษาไทยสอนรูปแบบพิมพ์เดียว สอนให้ทุกคนเหมือนกัน ซึ่งแย่มาก”

นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI ทิ้งท้ายว่า ในเมื่อยังต้องอยู่กับปัจจุบัน จึงอยากฝากให้ภาคแรงงานไทย เตรียมแผนการใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือต้องพยายามหาช่องทางสร้างการออมเงินในระยะยาว ซึ่งอาจไม่ใช่แค่การออมเงินกับธนาคาร แต่อาจต้องออมในลักษณะการลงทุนในกองทุน ตลาดทุน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่แม้การทำงานจะอิสระกว่าแรงงานกลุ่มอื่น ๆ แต่เรื่องรายได้ก็ยังมีความเสี่ยง ดั้งนั้นการออมจึงสำคัญ ที่ผ่านมาไทยมีกลไกกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ก็ยังเกิดข้อจำกัดการออมอย่างจริงจังในรูปแบบการลงทุน เพื่อให้รัฐร่วมสมทบ จึงยังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม นั่นทำให้พอแก่ตัวก็ไม่มีเงิน ต้องอาศัยเบี้ยคนชรา ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ไปไม่รอด การออมระยะยาวจึงเป็นเรื่องใหญ่ ประเทศไทยมี 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นสวัสดิการสุขภาพแล้ว เรื่องสวัสดิการระยะยาวรองรับการออมของผู้สูงอายุก็ต้องมีเช่นกัน อยากเห็นพรรคการเมือง รวมถึงรัฐบาลใหม่ คิดถึงเรื่องพวกนี้ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active