นักวิชาการ ห่วง ผู้ประกันตนออกมาใช้สิทธิ์น้อย เหตุข้อจำกัดหน่วยเลือกตั้งไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
วันนี้ (23 ธ.ค.66) กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในวันพรุ่งนี้ (24 ธ.ค.66) โดยมองว่า การให้ความสำคัญกับประกันสังคม ในสายตาคนในสังคมไทย ยังให้ความสำคัญน้อยมาก ดูจากจำนวนผู้ประกันตนที่ออกมาลงทะเบียนราว ๆ 1 ล้านคน ตัดคนที่ไม่ตรงตามสิทธิ์เหลือประมาณ 8-9 แสนคนเท่านั้น
ดังนั้นจึงต้องกลับมาดูว่า คนในสังคมเข้าใจหลักการกองทุนประกันสังคม ที่ไว้เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขหรือไม่ หรือเป็นเรื่องของการจัดการความเสี่ยง คนในสังคมอาจไม่ได้มองประกันสังคมสำคัญมาก ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ สำหรับครั้งแรก ที่จะได้เลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ จึงไม่ใช่แค่คาดหวังเรื่องสิทธิประโยชน์ แต่คงต้องมองโครงสร้างกลไกบริหารจัดการด้วย ว่า ทำยังไงก็ตามแต่ให้ประกันสังคม รู้สึกว่าทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ทำยังไงให้ข้อมูลประกันสังคมสามารถที่ทำให้ผู้ประกันตนรับรู้มากขึ้น หรือมีช่องทางสะท้อนเสียงตัวเอง หรือความต้องการตนเองบางอย่างไปสู่บอร์ดประกันสังคม หรืออาจเป็นที่กระทรวงแรงงาน ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ
“ประกันสังคมที่ผ่านมามันไปยึดโยงกับการเมืองอยู่แล้ว นโยบายด้านแรงงานเกี่ยวข้องการเมืองอยู่แล้วฉะนั้นถ้าดูตัวอย่างภาพชัด ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ตัวบอร์ดประกันสังคมก็มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลชุดก่อน และนี่เพิ่งมาเลือกตั้งในครั้งนี้ แน่นอนว่ามีความเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว และที่สำคัญเกี่ยวกับนโยบายการเมืองสาธารณสุขด้วยซ้ำ ดังนั้นสำคัญคือ ต้องให้สังคมเข้าใจว่า ประกันสังคมเป็นของทุกคน ให้มันเข้ามาอยู่ระบบนี้มากขึ้น ดึงคนทั้งหมดมาอยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้“
กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
นักวิชาการ จึงอยากให้ ผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้ง โดยห่วงว่าจะออกมาใช้สิทธิ์กันน้อย เพราะมีข้อจำกัด การเดินทางอาจจะยากลำบาก เพราะว่าบางจังหวัดมีเลือกตั้งหน่วยเดียว หรือบางจังหวัดก็ไม่มี ซึ่งอาจทำให้การเดินทางไม่สะดวก
“อย่างที่ จ.ปทุมธานี บางคนอยู่แถบอำเภอเมือง ต้องเดินทางไปอีกที่ซึ่งค่อนข้างไกลมาก ตนเองก็เจอบางคน อาจเดินทางไม่สะดวกเท่าไหร่ ครั้งนี้ก็อาจจะไปเลือกกันก่อน และครั้งต่อไปก็ส่งเสียงสะท้อนไปที่สำนักงานประกันสังคม ว่า การใช้สิทธิ์อาจไม่สะดวก อาจต้องมีการพัฒนาการเลือกตั้งครั้งต่อไป “
กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ย้ำเตือนผู้ประกันตน และนายจ้าง ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เพื่อคัดสรรตัวแทนดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ โดยผู้มีสิทธิจะสามารถเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน ซึ่งมาจากผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม
โดยผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว และนายจ้าง สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือ ณ ที่เลือกตั้ง
ขณะเดียวกันในวันเลือกตั้งให้ผู้ไปใช้สิทธิ์ยื่นหลักฐานแสดงตัวตน ได้แก่ บัตรประชาชน หรือ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ต้องเปิดผ่านแอปฯ Thai ID และให้ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อ รับบัตรเลือกตั้ง ลงคะแนน แล้วหย่อนบัตรลงหีบด้วยตัวเอง
สำหรับวิธีการลงคะแนนที่ถูกต้อง
- ฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตน มีสิทธิเลือกตัวแทนจากฝ่ายของตัวเอง จำนวน 7 คน โดยไม่สามารถเลือกข้ามฝ่ายกันได้
- เขียนเลขอารบิกในช่องเขียนหมายเลขเท่านั้น และสามารถเขียนได้ไม่เกิน 7 หมายเลข
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำเป็นต้องจำหมายเลขของผู้สมัครตัวแทนฝ่ายของตัวเอง เพราะห้ามนำเอกสารเข้าไปในที่เลือกตั้ง
- ห้ามกากบาทเด็ดขาด และห้ามทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง เช่น การถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งและการเซลฟีในที่เลือกตั้ง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นบัตรเสียทันที
คณะกรรมการประกันสังคม ที่เลือกตั้งในฝ่ายผู้ประกันตน 7 คน ฝ่ายนายจ้าง 7 คน และภาครัฐโดยตำแหน่ง 7 คน เป็นไตรภาคี โดยมี
- ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ด มีบทบาทในการเสนอนโยบายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- สามารถวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินของกองทุนประกันสังคมกว่า 2.3 ล้านล้านบาท
- และพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่มีจำนวนกว่า 24. 5 ล้าน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ