‘พิพัฒน์’ เซ็นรับรองบอร์ดประกันสังคมอย่างเป็นทางการ หลังเลือกตั้งจบไปเกือบ 2 เดือน สู่บทสรุปผู้มาใช้สิทธิ แค่ 1% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 12 ล้านคน ขณะที่ ‘ทีมประกันสังคมก้าวหน้า’ นั่งบอร์ด 6 อันดับแรก เล็งผลักดันประกันสังคมเท่าเทียม – ขยายสิทธิคุ้มครองหลายมิติ
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 67 กระทรวงแรงงาน ออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยในคำสั่งระบุว่า ด้วยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการกับกรรมการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งจากผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน ที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นกรรมการ และเลขานุการ โดยกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 2 ปี
สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทน ฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ.2564 เสร็จเรียบร้อยแล้ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ดังนี้
กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง
- มนตรี ฐิรโฆไท กรรมการ
- วิภาพรรณ มาประเสริฐ กรรมการ
- สิริวัน ร่มฉัตรทอง กรรมการ
- สมพงศ์ นครศรี กรรมการ
- สุวิทย์ ศรีเพียร กรรมการ
- ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ กรรมการ
- เพชรรัตน์ เอกแสงกุล กรรมการ
กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน
- รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการ
- ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กรรมการ
- ศิววงศ์ สุขทวี กรรมการ
- ชลิต รัษฐปานะ กรรมการ
- นลัทพร ไกรฤกษ์ กรรมการ
- ลักษมี สุวรรณภักดี กรรมการ
- จตุรงค์ ไพรสิงห์ กรรมการ
สำหรับบทสรุปของการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งแรกนี้ พบว่า จากผู้ประกันตนทุกมาตราทั้งสิ้น 24 ล้านคน มีเพียง 12 ล้านคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้มีเพียง 8.5 แสนคนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนในวันลงคะแนนมีผู้มาใช้สิทธิเหลือราว ๆ 1.5 แสนคน (คิดเป็น 1% ของจำนวนผู้มีสิทธิ) ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าการเลือกตั้ง อบจ. แต่กลับใช้เวลานับคะแนนนานร่วมเดือน
อีกทั้งยังพบปัญหาของคะแนนผู้ลงสมัครหลายรายหายไปในสัดส่วน 1 ใน 10 จากคะแนนที่เคยนับได้ จนเป็นเหตุให้ ปรารถนา โพธิ์ดี ที่เคยเป็นอันดับที่ 7 มีสิทธิเข้าเป็นบอร์ดประกันสังคม แต่เมื่อผลอย่างเป็นทางการออกมา พบว่าคะแนนหายไปถึง 1,330 คะแนน ทำให้ปรารถนาตกไปเป็นลำดับที่ 9 และทำให้ จตุรงค์ ไพรสิงห์ ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 7 แทน
ขณะที่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 6 อันดับแรก และมีนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ มุ่งเน้นการสร้างระบบประกันสังคมที่เท่าเทียม ขยายสิทธิประโยชน์ในแต่ละด้าน ตลอดจนมีการปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดนโยบาย ดังนี้
- สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.99%
- มุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ เน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกันตน
- วางเงื่อนไขการลงทุน และบริษัทคู่สัญญา มีธรรมาภิบาล การลงทุนขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบได้ ยึดโยงกับผู้ประกันสังคม คัดเลือกคู่สัญญาด้วย Decent Work
- สูตรคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม
- ประกันสังคมถ้วนหน้า พื้นฐานสำหรับแรงงานอิสระทั้งระบบ วางระบบระยะยาวใน 2 ปี
- พัฒนาบัญชียาเดียวกัน ไม่น้อยกว่า ราชการและบัตรทอง ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี
- สิทธิทันตกรรม รักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับ สปสช. เหมาจ่าย 17,500 บาท ตลอดการรักษา
- ปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน รวมทั้งปรับเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งและสมัคร เป็นบอร์ดประกันสังคม
- ขยายสิทธิประโยชน์คนพิการ ไม่ตัดสิทธิการใช้ร่วมกับสวัสดิการอื่น รักษาพยาบาลได้ทุกที่
- เพิ่มประกันการว่างงาน สูงสุด 9 เดือน
- ชดเชยการลา เพื่อดูแลคนในครอบครัว วันละ 300 บาท
- เพิ่มค่าคลอดบุตร เป็น 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน
- เพิ่มค่าสงเคราะห์เด็ก 0-6 ปี จาก 800 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน
- เพิ่มเงินดูแลเด็ก 7-12 ปี ปีละ 7,200 บาท