ทำไมสวัสดิการเด็กไม่ถ้วนหน้า ?

ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย ตั้งข้อสังเกต เด็กเป็นช่วงวัยเดียวที่สวัสดิการไม่เป็นแบบถ้วนหน้า หวังเกิดขึ้นได้จริงในรัฐบาลนี้ ด้านนักวิจัยความเหลื่อมล้ำชี้ ไทยขาดการลงทุนเรื่องเด็ก ควรผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วน

วันนี้ (10 พ.ย. 2567)  สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้ร่วมนำเสนอนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า หวังให้รัฐบาลหยิบยกสู่สวัสดิการเด็กถ้วนหน้า 3,000 บาท ขอเป็นตัวแทนเด็กในครรภ์จนถึงอายุ 6 ปี และคณะทำงานเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมกับตั้งคำถามว่าทำไมสวัสดิการเด็กไม่ถ้วนหน้า ?

สุนี กล่าวว่า ทุกวันนี้เด็กไทยเกิดน้อยมาก ประชากรไทยระยะ 20 ปีมีเด็กและกำลังแรงงานลดลง เด็ก 50% อยู่ในครอบครัวที่มีสถานะยากจน 

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นช่วงที่มีความพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

  • เรียกร้องถ้วนหน้ามาตั้งแต่ ปี 2558 ให้นำร่อง 0-1 ปี 400 บาท ต่อมา 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท เฉพาะคนจน รายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี
  • มติ คณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ปี 2563 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน ให้จัดสรรเงินอุดหนุนเด็กเล็กตั้งแต่ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้าเดือนละ 600 บาท/คน ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้ไม่เข้า ครม.
  • มติล่าสุด ออกมาในนาม รองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน เม.ย 2567 ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ให้หญิงท้อง 5 เดือน เดือนละ 3,000 บาท ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2567 แต่ปรากฏว่ายังไม่เกิดขึ้น

โดย สุนี บอกกับ The Active ว่า ที่ผ่านมาสวัสดิการเด็กคืบหน้า จาก 0 คนมาสู่ 90,000 คน มาจนถึงปัจจุบันมี 2,300,000 คน ซึ่งดูเหมือนมีความก้าวหน้า แต่ว่าในแง่หลักการแล้วยังไปไม่ถึง 

สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

เริ่มต้น 10 ปีที่แล้วก็คือถ้วนหน้าเพราะมันเป็นหลักสิทธิของเด็ก ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เด็กมีความสําคัญมากในช่วงวัยอ่อน เราจึงยืนยันหลักถ้วนหน้า ซึ่งยังขาดอีกแค่ประมาณหนึ่งล้านคน 

อีกประเด็นที่หลายคนห่วง คือ พ่อแม่ปู่ย่าตายาย อาจจะดูแล ใช้เงินส่วนนี้ไม่ถูก แต่พยายามบอกเสมอว่า ดีกว่าคนอื่นไปรู้แทน เช่น คนอื่นไปตัดสินใจว่าอยากจะช่วยอะไร อยากจะซื้อของอะไร ให้ซื้อนม หรืออื่น ๆ แต่ความเป็นจริง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จะต่างกัน บางบ้านอาจจะต้องการนมต้องการการรักษา ต้องการค่ารถไปโรงเรียน ฯลฯ เพราะฉะนั้น ให้โอกาสพวกเขาตัดสินใจ จะยืดหยุ่นแล้วก็สอดคล้องกับเด็กมากกว่าที่คนอื่นตัดสินใจแทน

ที่ผ่านมามีการเรียกร้องเรื่องการกระจาย จะเห็นว่าพอไม่ถ้วนหน้า จะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ความถ้วนหน้าที่ดีที่สุดก็คือยกอํานาจหน้าที่ของงบประมาณไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลเก็บตกให้ แล้วก็ได้ระบบฐานข้อมูล แต่ตอนนี้ผูกอยู่กับ พม. การตัดสินใจยื่นเรื่องกับ อบต. และเทศบาล แต่ว่าอํานาจการตัดสินใจกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ พม.ส่วนกลาง เส้นทางเลยวกวน

เมื่อถามว่าเหตุใดสวัสดิการเด็กจึงไม่ถ้วนหน้า… สุนี บอกว่า เป็นคําถามที่หลายคนตั้งคำถาม แต่ส่วนตัวคิดว่าเนื่องจากรัฐบาลไปห่วงเรื่องเศรษฐกิจมากเกินไป อาจจะมองว่าเด็กยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ก็เลยทําให้น้ำหนักของการตัดสินใจไปอยู่ที่เรื่องอื่น

อย่างที่พยายามบอกตลอดว่าอย่าสับสนกับเรื่องคนจน คนจนก็ต้องช่วยแต่ว่าสวัสดิการพื้นฐานต้องให้ก่อน

เช่น 600 ถ้าอยากจะช่วยคนจนเช่นคนพิการซ้ำซ้อน คนที่เดือดร้อนมาก ให้ไปอีกพัน 2000 3000 ก็ไม่มีใครว่าแต่ว่าขอสวัสดิการถ้วนหน้าก่อน แล้วก็ไปเติมเต็มด้วยคนจน ก็จะแยกออกมาเป็นสองกลุ่ม แต่ตอนนี้รัฐบาลเอากลุ่มคนจนมาพูดแทนเรื่องเด็กในขณะที่เราพยายามประกาศ บอกว่า คนอื่น ๆ ทุกช่วงวัยทั้งเรียนฟรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ได้ถ้วนหน้าหมดแล้วเหลือแค่เด็ก ซึ่งจําเป็นสูงสุด ก็หวังว่าเสียงนี้จะไปถึงรัฐบาล และตัดสินใจสักที

“เรายังทํางานต่อเนื่อง หนึ่งก็คือในเชิงนโยบาย เราพบพรรคการเมือง รัฐบาลแล้วก็ร่วมกับกรรมาธิการหลายชุด เพราะฉะนั้น ต้องเคลื่อนไหวในเชิงนโยบาย”

ขณะเดียวกัน เราก็กําลังทําวิจัยเพิ่ม เพื่อเติมเต็มให้มันชัดขึ้น เรามีคณะทํางานทุกภาค ฉะนั้น เสียงของพี่น้องทุกภาคก็จะคอยมาเติมเต็มข้อมูล เติมเต็มเสียงให้มาสะท้อน ไม่ใช่พูดลอยๆ ไม่ใช่พูดประโยคเก่า แต่ว่าตัวเลขมันฟ้องอยู่ตลอดเวลาว่า 34% เรายืนยันได้ จากการที่เราทํางานกับเครือข่ายทั่วประเทศ ก็หวังว่าเสียงจากเครือข่ายทั่วประเทศจะมาช่วยกันผลักดัน

ด้าน ผศ.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะประโยชน์ที่จะได้มีเยอะ ทั้งการแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร การแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยโต ซึ่งเกี่ยวข้องกันเพราะไทยยังขาดเรื่องการลงทุนในเด็ก ลงทุนในมนุษย์ ก็เลยไม่ได้ใช้ศักยภาพคนได้เต็มที่ 

ผศ.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รวมถึงเรื่องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ เพราะพอปล่อยให้เด็กจํานวนมากโตมาในความไม่พร้อมเท่าที่ควร ก็กลายเป็นว่าเด็กไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เต็มที่ความเหลื่อมล้ำก็คงอยู่เหมือนเดิมไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ 

“อย่างตัวเลขของเด็กที่ยากจนในประเทศไทย ผ่านมา 10 ปีแทบไม่ได้ดีขึ้นเลยก็สะท้อนในแง่ที่ว่า จริงๆแล้วเรารู้ว่าเด็กเลือกเกิดไม่ได้ ที่สําคัญก็คือก็รู้ด้วยว่าในสถานการณ์แบบประเทศไทย เด็กที่เกิดมายากจน ยังไงก็ต้องยากจนต่อไปจนถึงตาย อย่างน้อยถ้าสังคมไทยช่วยกันทําให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสที่ดีขึ้นสภาพแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น”

ส่วนการที่รัฐบาลควรหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นนโยบายจริงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่ประเทศที่มีสถานการณ์คล้ายกับประเทศไทย ก็คือมีวิกฤตเด็กเกิดน้อย ทุกประเทศพูดถึงเรื่องนี้กัน อย่างน้อยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ ประเทศที่อัตราการเกิดต่ำเหมือนไทย ทุกประเทศต้องหันมามองนโยบายนี้กันหมด จึงคิดว่ามุมมองอย่างนี้ควรจะสนับสนุนให้รัฐบาลไทยพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active