World Bank เล็งเสนอ สภาฯ เปลี่ยนใบเสร็จสินค้า เป็น สวัสดิการคนจน/สูงวัย หรือ “Vat Rebate” สร้างระบบการออมด้วย “รายจ่าย”

ปฏิวัตินโยบายการคลัง ? สภาผู้แทนราษฎร เชิญ “ธนาคารโลกประจำประเทศไทย” (World Bank) หารือเรื่อง “การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย ผ่านระบบภาษี” 9 ม.ค.นี้

29 ธ.ค.67 ธนาคารโลกประจำประเทศไทย (Word Bank) เสนอแนวทางใหม่ “ปฏิวัตินโยบายการคลัง” คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแบบกำหนดเป้าหมาย (Vat Rebate) ซึ่งหลายประเทศที่ใช้แนวทางดังกล่าวพิสูจน์ว่าสามารถเพิ่มรายได้จากภาษี และลดความยากจนไปพร้อมกัน

ขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลกผู้รับผิดชอบประเทศไทย เคยอธิบายเรื่อง หลักการของ “Vat Rebate”ไว้ใน รายการ The Resources วิจัยใกล้ตัว พลิกโฉมสวัสดิการผู้สูงอายุ เกษียณไปไม่จน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ว่า การออมของคนไทยผูกติดอยู่กับรายได้ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย รายได้ไม่คงที่ เช่น “แรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน” จึงน่าเป็นห่วงที่จะไร้เงินออมในวัยเกษียณ ต่างจากกลุ่มข้าราชการ/เอกชน ที่มีระบบสวัสดิการและการเก็บออมที่มั่นคงมากกว่า คำถามคือ… จะทำอย่างไรให้เงินออมวัยเกษียณ ไม่ผูกกับรายได้ แต่ผูกกับรายจ่ายแทน

หลักการ คืนภาษีในรูปแบบ “Vat Rebate” แก้จน เพิ่มสวัสดิการสังคม

ขวัญพัฒน์ อธิบายต่อว่า แม้หลายรัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาเรื่องการออม ผ่านการมี “สวัสดิการวัยเกษียณถ้วนหน้า” แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และหากไทยจะเลือกเพิ่มสวัสดิการสูงวัยเป็น 3,000 บาท อีก 30 ปีข้างหน้า เราอาจจะต้องใช้เงินถึง 3.3% ของ GDP สถานะการคลังของไทยก็จะหนักด้วย โจทย์ใหญ่คือ จะหาเงินอย่างไร

หลักการของ Vat Rebate คือ การเก็บภาษีจากประชาชน และคืนกลับเป็นสวัสดิการ และเงินออม ยกตัวอย่าง เช่น รัฐเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากประชาชน 10% แต่คืน หรือ “Rebate” กลับไป 3% ไว้สำหรับเป็น สวัสดิการของผู้มีรายได้น้อย และออมไว้ในยามเกษียณ การเอาสวัสดิการไปผูกกับรายจ่าย และคืนผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำได้ผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ไทยมีอยู่แล้ว คือ ดิจิทัล ID และ PromtPay ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการตกหล่น และตรวจสอบรายจ่ายได้ง่าย

ต้นกำเนิดของแนวทางนี้มาจากความท้าทาย 4 ประการของประเทศรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลาง ได้แก่

  • ความยากลำบากในการจัดเก็บภาษี: 86% ของประเทศรายได้ต่ำ และ 43% ของประเทศรายได้ปานกลาง มี อัตราส่วนภาษีต่อ GDP ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่แนะนำ 15%
  • การพึ่งพารายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม: ภาษีมูลค่าเพิ่ม มักสร้างรายได้เป็น 2 เท่า ของ ภาษีเงินได้ และภาษีเงินเดือน ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศรายได้สูงในกลุ่ม OECD
  • ขาดความก้าวหน้าในนโยบายการคลัง: นโยบายการคลังในภาพรวมล้มเหลวในการลดความเหลื่อมล้ำและมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อความยากจนในประเทศรายได้ต่ำ และปานกลาง (World Bank – งานของ Matt)
  • ความคุ้มครองทางสังคมที่จำกัด: โดยเฉลี่ยแล้วมีเพียงครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในกลุ่มรายได้ต่ำสุดที่ได้รับความช่วยเหลือทางสังคม (World Bank ASPIRE 2024)

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบกำหนดเป้าหมายใช้กันแล้วในบางประเทศของละตินอเมริกา เช่น

  • โบลิเวีย: ได้ดำเนินโครงการคืนเงินสำหรับบุคคลที่มีรายได้น้อยตั้งแต่ปี 2021

  • อาร์เจนตินา: คืนเงิน 100 เปอร์เซ็นต์ของการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าพื้นฐานให้กับผู้รับบำนาญที่มีรายได้น้อยและผู้รับผลประโยชน์ทางสังคม จนกระทั่งสิ้นสุดโครงการในปี 2024

  • บราซิล: ในปี 2021 รัฐริโอแกรนด์ได้นำระบบคืนเงินตามเป้าหมายมาใช้ ซึ่งช่วยย้อนกลับความถดถอยของภาษีมูลค่าเพิ่มและเพิ่มการปฏิบัติตามภาษีอย่างมีนัยสำคัญ (Tonetto และคณะ 2023) กฎหมายใหม่เตรียมขยายโครงการคืนเงินตามเป้าหมายนี้ไปทั่วประเทศให้กับผู้รับผลประโยชน์ในโครงการ Bolsa Familia

“ไม่ใช่ทุกประเทศที่พร้อมจะ คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแบบกำหนดเป้าหมาย เเพราะต้องมีการระบบระบุตัวตนที่ชัดเจน และครอบคลุมในระดับใกล้เคียงกับสากล รวมถึง ระบบการออกใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตัวระบุ มีกลไกการชำระเงินดิจิทัลที่ผูกกับธนาคาร และยังต้องมีกฎหมายและเทคโนโลยีที่ลดความเสี่ยงในการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งสำคัญที่สุด คือ ระบบการส่งมอบความคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง สามารถกำหนดเป้าหมายไปยังครัวเรือนในกลุ่มรายได้ต่ำอย่างมีประสิทธิผล”

ความหวังมั่นคงวัยเกษียณ World Bank เล็งเสนอแนวคิด Vat Rebate ถึงสภาฯ

คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมถก “แนวทางการจัดสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผ่านระบบภาษี Negative Income Tax (NIT)” พิจารณาแนวทางการจัดสวัสดิการให้กับ ผู้มีรายได้น้อย โดยได้ทำหนังสือถึง ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (World Bank) เพื่อให้ความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำฐานข้อมูลกำหนดแนวทางปฏิรูประบบภาษีอย่างเป็นธรรม

โดย World bank เล็งเสนอแนะเรื่อง “การจัดสวัสดิการเพื่อผู้สูงวัยด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี ด้วยการให้ผู้ซื้อสินค้า หรือบริหารเก็บใบกำกับภาษี หรือ ใบเสร็จ (Vat Rebate)” ในวันที่ 9 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา

“คงต้องติดตามว่าแนวคิดดังกล่าวนี้จะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายในมิติเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย เพราะหากทำได้จริง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้จะทำให้เกิดความคุ้มครองทางสังคม คู่ขนานไปกับ การเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติระบบการคลัง และภาษีของประเทศไทยไปอีกขั้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active