“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร” EP.2
“ก่อความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความสามัคคีของคนในชาติ บริหารราชการแผ่นดินในทางทุจริตและประพฤติมิชอบ องค์กรอิสระถูกครอบงำ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ล้วนเป็นเหตุผลภายใต้คำแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่สร้างไว้ให้กับรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”
ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ครั้งแรกจัดตั้งรัฐบาลเดี่ยว
การลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกของทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 และผลการเลือกตั้งก็ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทย ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมกัน 248 คน พรรคไทยรักไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้น โดยมีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก และสามารถอยู่บริหารประเทศได้ครบ 4 ปีเต็ม อัดแน่นไปด้วยนโยบายต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “จากรากหญ้าสู่รากแก้ว” นำมาสู่ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” จัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ปล่อยกู้ชุมชนดอกเบี้ยต่ำ และพักชำระหนี้เกษตรกรสามปี รวมถึงสิ่งที่ภาคประชาสังคมพยายามผลักดันแนวคิดมาเป็นเวลานาน อย่าง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ก็ได้ถูกประกาศใช้ในนามนโยบาย “บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นต้น
อีกวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงกว่า 19 ล้านเสียง และได้ตำแหน่ง ส.ส.ในสภา จำนวน 376 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ กลับได้เพียง 96 ที่นั่ง ทำให้รัฐบาลไทยรักไทยในสมัยที่ 2 เป็นรัฐบาลชุดแรกในประวัติศาสตร์ที่มาจากพรรคการเมืองเดียว
การชนะเลือกตั้งแบบ Land slide นี้เอง ทำให้รัฐบาลทักษิณเกิดข้อครหาถึงการซื้อสิทธิ์ขายเสียง โดยครั้งหนึ่ง นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยอธิบายไว้ว่าผลการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นพบว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้จำนวน ส.ส.เพียง 22-32% และใกล้เคียงกับอันดับ 2 เป็นอย่างมาก แต่การเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยทั้งสองครั้ง ทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์เกือบเท่าตัว การซื้อเสียงย่อมไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากการเลือกตั้ง 3 ครั้งก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม ทักษิณ ก็ไม่อาจรักษาชัยชนะในครั้งที่ 2 นี้ไว้ได้จนครบวาระ เมื่อต้องพบกับแรงต้านนอกสภาจากกรณีขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในเดือนมกราคม 2549 จึงทำให้รัฐบาลทักษิณตัดสินใจยุบสภา จนมีการบอยคอตการเลือกตั้งจากฝ่ายค้าน มีการชุมนุมต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบทางการเมืองของทักษิณในเวลาต่อมา
วินาทีรัฐประหารกับสัญญาณบอกเหตุที่ไม่อาจต้านทาน
ย้อนกลับไป 15 ปีก่อนหน้านี้ วันที่ 19 กันยายน 2549 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 61 ที่สหรัฐอเมริกา และยังต้องทำหน้าที่สำคัญในการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ท่ามกลางผู้นำจากทั่วโลก และข่าวลือหนาหูว่าตนกำลังจะถูกยึดอำนาจ
สัญญาณบอกเหตุเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า ของวันที่ 19 กันยายน เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เชิญให้ผู้นำเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกคนเข้าร่วมการประชุม ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่กลับไร้เงาของผู้นำเหล่าทัพ มีเพียง พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ที่เข้าร่วมประชุมด้วย จึงทำให้เห็นความไม่ชอบมาพากล ว่าอาจมีการตระเตรียมการ หรือไม่ยอมรับอำนาจนำของฝ่ายบริหารอีกต่อไป
ข่าวลือเรื่องการรัฐประหารแพร่สะพัดมากขึ้น จนในเวลา 21.00 น. ได้มีการเคลื่อนกำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพไทย ตามด้วยขบวนรถถังได้เคลื่อนพลเข้ามาคุมสะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนิน วางแนวกำลังทหารจำนวนมากตามถนนต่าง ๆ แต่งตัวเต็มยศลายพรางคอยควบคุมกำลัง จึงค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
ทักษิณ เปิดเผยในทุกเวทีว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่งสงบ ภายใต้รัฐบาลของตนมีมวลชนออกมาต่อต้านและขับไล่อยู่ในทุกช่วงเวลา เมื่อจะต้องเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลานาน จึงเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตนจึงได้เขียนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรอประกาศไว้ถึง 3 ฉบับ เพื่อใช้ในกรณีจำเป็น
แต่การวางแผน หรือจะสู้การเปลี่ยนแปลง เวลา 22.15 น. ของวันที่ 19 กันยายน ทักษิณอ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ จากนครนิวยอร์ก ออกคำสั่งปลด พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก แล้วแต่งตั้ง พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้าควบคุมสถานการณ์ แต่การอ่านประกาศฯ กลับไม่ทันเสร็จสิ้น ก็ถูกทหารเข้ายึดพื้นที่และตัดสัญญาณผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ในขณะนั้นมีมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
เวลา 23.54 น. สถานีโทรทัศน์ทุกช่องขึ้นประกาศของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ที่มี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่ คปค. จะแปรเปลี่ยนมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ในเวลาต่อมา
สิ้นเสียงประกาศแถลงการณ์ยึดอำนาจ ทุกอย่างเงียบสงัด การรัฐประหารดำเนินไปด้วยความราบรื่น ปราศจากการต่อต้านด้วยอาวุธ ถือเป็นการรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังจากปี 2534 เหตุการณ์ครั้งนั้น คือจุดเริ่มต้นของการลี้ภัยยังต่างแดน และยุติบทบาทนายกรัฐมนตรีของทักษิณจวบจนปัจจุบัน
หลังรัฐประหาร ทักษิณไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที จนกระทั่งกลับเข้าไทยอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงภาพทักษิณก้มลงกราบแผ่นดินไทย ท่ามกลางการรอต้อนรับของครอบครัว นักการเมือง และอดีตผู้ร่วมงานจำนวนมาก แต่ก็อยู่ในประเทศไทยได้ไม่นาน ทักษิณก็ขอเดินทางออกนอกประเทศในปีเดียวกันนั้นเอง จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 13 ปีที่ทักษิณต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ
จากทักษิณสู่ Tony Woodsome สร้างปรากฏการณ์คนฟังเต็ม Clubhouse
“ต้องเอาให้ตาย ถ้าไม่ตายก็จะปฏิวัติ”
ทักษิณ บอกเล่าเบื้องหลังการรัฐประหาร 2549 หลังจากผ่านเหตุการณ์มาแล้ว 15 ปี ผ่าน CareClubhouse ครั้งที่ 15 วันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 ซึ่งกลายมาเป็นช่องทางหลักในยุคปัจจุบันของทักษิณ ที่สื่อหลายสำนักคอยติดตามเนื้อหา ดึงความสนใจจากผู้ฟังมากมายทั้งคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย
ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับกระแสการใช้แอปพลิเคชัน Clubhouse ในประเทศไทย คือการปรากฏตัวของ “โทนี วูดซัม หรือ Tony Woodsome” ชื่อที่ทำลายสถิติผู้เข้าร่วมฟังสูงสุดในประเทศ เพราะ “โทนี” หรือ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้มาเข้าร่วมห้องสนทนา ‘ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองตรงเน้’ ซึ่งจัดโดยกลุ่ม Care คิดเคลื่อนไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งโดยบุคคลสำคัญในรัฐบาลทักษิณ ส่งผลให้มียอดผู้เข้าฟังเต็ม 8,000 คนอย่างรวดเร็ว และยังถูกถ่ายทอดเสียงมากกว่า 9 ห้อง เท่ากับว่ามีผู้รับฟังสด ๆ รวมกันกว่า 7.2 หมื่นคน
การสนทนาในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ประกอบไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เทียบกับสมัยที่ตนเองบริหารประเทศ มองปัญหาในประเทศ แล้วเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแบบเข้าใจง่ายแบบฉบับทักษิณ หรือการเล่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของตัวเอง ตลอดจนการเปิดให้ผู้ฟังซักถามเรื่องราวได้สด ๆ กลางรายการ ไม่ว่าคำถามนั้นจะควรถามหรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคนไทย
การเคลื่อนไหวของทักษิณ เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง นักวิเคราะห์ชี้ว่า อาจเป็นกลยุทธ์ในการเรียกกระแสความนิยมจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งผลเป็นที่น่าพึงพอใจ เพราะได้รับการตอบรับจากคนรุ่นหลานของทักษิณจำนวนมาก และอาจเป็นการพลิกฟื้นคืนศรัทธาของพรรคเพื่อไทยที่ระส่ำระสายอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจเป็นการปูทางสู่การกลับประเทศ อย่างที่ Tony Woodsome มักพูดถึงเสมอผ่านรายการหรือไม่
อ้างอิง
- 19 กันยายน 2549 รัฐประหารไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี
- เกิดอะไรขึ้นบ้างก่อน-หลัง “รัฐประหาร 19 ก.ย.49” จากปรากฏการณ์ไล่ทักษิณถึงผลไม้พิษ คมช.
- 19 กันยา 2549 : กว่าทศวรรษของ “รัฐประหารเสียของ”
- ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย – คริส เบเคอร์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร
- 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน (พิมพ์ครั้งที่ 4 มีนาคม 2550)
- การกลับมาของ ‘โทนีวูดซัม’ อาจกำลังเปลี่ยนการเมืองไทย
- ปรากฏการณ์ “รัฐบาลพรรคเดียว” ไทยรักไทยทำไมชนะถล่มทลาย14 ปีก่อน
- ย้อนปรากฏการณ์ไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเด็ดขาด “ทักษิณ” ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว!