สิ่งซึ่งเป็นสัจจะนั้น ไม่มีทางทำลายได้ แม้ทำลายหมุดได้อันหนึ่ง แต่ก็เกิดหมุดอีกหลายอันมาแทนที่ สัจจะมันเลยถูกทำลายไม่ได้ นี่เป็นหัวใจของศาสนาพุทธ
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) | นักวิชาการอิสระ
ครูยังอ่านหนังสือไม่พอ หรือไม่ได้เป็นนักอ่านในเรื่องประวัติศาสตร์ เรียนประวัติศาสตร์ตามที่กระทรวงแต่งตำรามาสอน แต่ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องความคิดเห็นทางประวัติศาสตร์ที่โต้แย้งกับสิ่งที่อยู่ในแบบเรียน
พิภพ ธงไชย | อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
บางส่วนจาก “มุมมอง” ของผู้ใหญ่ต่อการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563
The Active ชวนอ่านฉบับเต็ม ใน มอง “ชุมนุมใหญ่” ธรรมศาสตร์ – สนามหลวง
ความเห็นต่อบทบาทของเยาวชน
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ผมชื่นชม ไม่เฉพาะนักศึกษา แต่รวมถึงนักเรียนด้วย ที่ชื่นชมเพราะสถาบันการศึกษาของเรา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย สอนให้คนไม่สนใจการเมือง สอนให้อยู่ในกรอบ สอนให้คนอยากจะเป็นใหญ่เป็นโต อยากจะหาเงินทอง แต่เด็กเหล่านี้ กล้าแหวกกระแส อย่างมีสติปัญญา กล้าพูด กล้าทำ
แต่สิ่งที่นักศึกษาพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วยังมีคนไม่เห็นด้วย คิดว่าวิธีการที่จะแสดงออกในเรื่องนี้ควรทำอย่างไร?
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
พื้นฐานของประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่บัตรลงคะแนนเสียงที่เป็นแค่รูปแบบ แต่พื้นฐานประชาธิปไตยต้องมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกัน และเคารพคนเห็นต่าง ผมว่าสิ่งนี้เป็นของดี พร้อมกันนั้นก็ต้องพูดด้วยว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ท่านพระทัยกว้าง ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เสวยราชย์มาก็ ไม่ให้มีการใช้มาตรา 112 อีกเลย
คิดอย่างไรกับการยุติการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ก.ย.
พิภพ ธงไชย
คิดว่าในสถานการณ์เฉพาะหน้า ผู้ที่ดูแลการชุมนุมจะต้องคิดแก้ไขปัญหาตลอดเวลา และธงของเขาก็ไม่ต้องการให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายหรือเกิดการปะทะ เห็นได้จากการที่คนรุ่นใหม่ที่ชุมนุมมาตลอดไม่ว่าจะเป็นแฟลชม็อบนั้น ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นจากผู้ชุมนุม ก็เห็นความตั้งใจนี้
และคราวนี้ก็ต้องชมฝ่ายรัฐบาลด้วยว่า มีความตั้งใจที่จะไม่ทำให้เกิดความรุนแรง จะเห็นว่าตำรวจที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ก็จะระมัดระวังการที่ไปปะทะกับผู้ชุมนุม ส่วนประเด็นการที่จะยุติการชุมนุมเมื่อไรนั้น คิดว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในการจัดการชุมนุมที่คนนอกไม่สามารถก้าวล่วงได้ว่า มีเหตุผลอะไรถึงยุติการชุมนุม
แต่ถ้ามองจากคนภายนอก คิดว่า ผู้ชุมนุมบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ทำให้ประเด็นการชุมนุมครั้งนี้เป็นประเด็นสาธารณะ เป็นเสียงของคนหนุ่มสาวที่สามารถพูดกับสาธารณะได้ ถ้าเทียบกับการชุมนุมตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. หรือ นปช. มันคนละวัยกัน ซึ่งคราวนี้ถือว่าสังคมของคนหนุ่มสาวและนักเรียนได้พัฒนาความสำนึกทางสังคมและกล้าแสดงออกมาก
เป็นธรรมดาที่คนหนุ่มสาวจะต้องมี วิญญาณขบถ ที่จะตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว วันนี้ นักเรียนสามารถรวมตัวกันแล้วไปม็อบหน้ากระทรวงศึกษาธิการได้ถึง 2 ครั้ง และมีข้อเสนอที่แหลมคมด้วย เสียดายอย่างเดียว ข้อเสนอนี้มันหายไป ในการชุมนุมประเด็นการเมืองมันแรงขึ้นมามากกว่าประเด็นโรงเรียน
ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าเขาสำเร็จหรือไม่ ผมคิดว่าประสบความสำเร็จในเรื่องที่นำเสนอให้สาธารณะสนใจในเรื่องที่เขาอยากจะบอกกับสาธารณชนว่าเขาต้องการอะไร และสิ่งที่เขาต้องการก็ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปก็ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีลาออก หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งที่คนรู้สึกอึดอัดมาตลอดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
แต่การชุมนุมครั้งนี้มีสิ่งที่ต่างจากการชุมนุมในอดีต คือ การตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยก็ไม่เคยเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ต้องมีความระมัดระวังในการสื่อสารเรื่องนี้อย่างไร
พิภพ ธงไชย
คิดว่าถ้าพูดกันอย่างเปิดใจกว้าง การตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีมาตลอด แต่การที่เอาประเด็นนี้มาพูดในที่สาธารณะนั้น ก็จะต้องถือว่าเป็นความกล้าหาญ เราอาจจะไม่เห็นด้วยหลายประเด็นใน 10 ข้อ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา
แต่อย่างไรก็ต้องยืนยันว่า สังคมไทยยังต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ต้องการล้มสถาบัน แม้อาจจะมีบางคนที่คิด แต่คิดว่าโดยส่วนรวมในกระแสนี้ไม่ได้คิดแบบนั้น เพียงแต่อยากจะให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของประชาชน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยมีพระราชดำรัสว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน
การชุมนุมมักพูดถึงประวัติศาสตร์ 2475 และบทบาทของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประวัติศาสตร์คนละชุด เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง?
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
เป็นที่น่าเสียดาย กรณีอภิวัฒน์ 2475 ไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง ข้อกล่าวหานี้จริงหรือเท็จควรจะมีการอภิปรายให้ชัดเจน เห็นแตกต่างกันได้ แต่ต้องอภิปรายให้ชัดเจนว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นเผด็จการหรือมีอะไรเลวร้ายบ้าง แต่อีกด้านหนึ่ง จอมพล ป. ก็มีอะไรดีไม่น้อย ผมไม่นิยม จอมพล ป. แต่โดยเฉลี่ยแล้วผมคิดว่า จอมพล ป. มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ตอนนี้ไม่ว่าเรื่องอะไร จอมพล ป. ก็เลวร้ายไปหมด
หรือการมอง นายปรีดี พนมยงค์ ก็เลวร้ายไปหมด แบบนี้ไม่ได้ สำหรับผม ปรีดีเป็นวีรบุรุษในสายตาผม แต่ก็ มีข้อบกพร่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะท่านก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ถ้าทำแบบนี้ การศึกษาของเราก็จะช่วยเด็กรุ่นหลังให้เขาเติบโต กว้างขวาง รู้จักประวัติศาสตร์ ปี 2475 ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ถือว่ายังผ่านมาไม่นาน แค่ 88 ปีเท่านั้นเอง
คิดอย่างไรกับการคุยเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมีความเชื่อความคิดที่ไม่ตรงกันจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และส่งผลมาถึงวิธีคิดของคนรุ่นปัจจุบัน
พิภพ ธงไชย
ต้องพูดถึงระบบห้องเรียนก่อน เราต้องยอมรับว่า ครูยังอ่านหนังสือไม่พอ หรือไม่ได้เป็นนักอ่านในเรื่องประวัติศาสตร์ เรียนประวัติศาสตร์ตามที่กระทรวงแต่งตำรามาสอน แต่ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องความคิดเห็นทางประวัติศาสตร์ที่โต้แย้งกับสิ่งที่อยู่ในแบบเรียน
แต่ครูในโรงเรียนปรับตัวไม่ทัน ไม่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะว่าครูเองก็มีความรู้ไม่พอ ดังนั้น เด็กจึงไปแสวงหาความรู้จากข้างนอกมากขึ้นและยังเข้าถึงความรู้พวกนี้ได้มากขึ้น ซึ่งคิดว่าโรงเรียนจะต้องปรับตัวเรื่องนี้ในการให้มีความเห็นต่างในห้องเรียน และเปิดให้มีการถกเถียงได้
ทำให้เมื่อพูดถึง 88 ปีที่แล้ว จึงไม่จบ ขนาดหมุดคณะราษฎรยังมีอันที่สอง
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
สิ่งซึ่งเป็นสัจจะนั้น ไม่มีทางทำลายได้ แม้ทำลายหมุดได้อันหนึ่ง แต่ก็เกิดหมุดอีกหลายอันมาแทนที่ สัจจะมันเลยถูกทำลายไม่ได้ นี่เป็นหัวใจของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ตรัสเสร็จ พระองค์ถามพระสารีบุตรอัคราสาวกเบื้องขวาว่า เชื่อไหม พระสารีบุตรบอกไม่เชื่อ ข้าพระพุทธเจ้าจะเอาไปประพฤติปฏิบัติดู ถ้าเห็นว่าได้ประโยชน์จริงแล้วถึงจะเชื่อ
พระพุทธเจ้าบอกดูกรภิกษุทั้งหลาย ดูสารีบุตรเป็นตัวอย่าง แม้ที่ตถาคตพูดไปไม่จำเป็นต้องเชื่อ เอาไปพิจารณาดู ถ้าเห็นเหมาะเห็นควรค่อยเชื่อ นี่เป็นหัวใจของศาสนาพุทธ พวกเราส่วนใหญ่บอกว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ทำไมไม่เดินตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน อย่าเชื่ออะไรง่าย อย่าเชื่อตำราว่าอย่างนี้ อย่าเชื่อเพราะถูกใจเรา
เห็นความแตกต่างระหว่างรุ่นอย่างไร ใครต้องปรับตัวเข้าหาใคร ผู้ใหญ่หรือเด็ก
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ผมพูดในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ เห็นว่า ผู้ใหญ่ต้องฟังผู้เยาว์ให้มาก ไม่อย่างนั้นเราจะบอกว่าเรารู้ดีกว่าเขา อาบน้ำร้อนมาก่อนเขา แน่นอนว่าบางอย่างเรารู้มากกว่าเขา แต่บางอย่างในสมัยใหม่เราไม่ทันเขา ถ้าเราไม่เปิดกว้างเราก็จะย่ำเท้าอยู่กับที่ ที่ผมสามารถพูดกับคนรุ่นใหม่รู้เรื่อง เพราะผมฟังเขา เรียนรู้จากเขา และผมจะไม่พยายามครอบงำคนรุ่นใหม่ ไม่มีประโยชน์ ต้องปล่อยให้เขาเป็นตัวของเขาเอง แล้วเขาจะกล้าที่จะท้าทายเรา คนรุ่นใหม่ที่ผมเจอ เขาท้าทายผมด้วยความเคารพ นอบน้อมถ่อมตัว น่าชื่นชม
เด็กฝรั่งไม่เป็นอย่างนี้ เด็กฝรั่งเวลาท้าทายครูบาอาจารย์จะชี้หน้าด่าเลย แต่เด็กไทยโดยทั่วไปยังเรียบร้อยน่ารัก ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรจะเปิดกว้าง ฟังลูกศิษย์ เรียนรู้จากกันและกัน พระพุทธเจ้าสอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ คือ หลักกัลยานมิตร คือผู้ที่ฟังคนที่เขาติเตียนเราได้ ถ้าเขาติเราในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นความผิดของเขา แต่ถ้าเขาติในเรื่องที่ถูกต้อง เราก็ต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเราให้ดีขึ้น
ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องฟังผู้เยาว์ให้มาก ผู้เยาว์ตามปกติเขาฟังเราอยู่แล้ว ที่เขาไม่ฟังเราเพราะเราพูดไม่รู้เรื่อง เราพูดพร่ำพูดวกวน พูดอ้างว่าเรารู้มากเกินไป
พิภพ ธงไชย
ความแตกต่างระหว่างวัยมีเป็นเรื่องปกติ เราจะให้เด็กรุ่นใหม่คิดเหมือนเราเป็นไปไม่ได้ แต่ความอดทนในการรับฟังซึ่งกันและกัน นี่เป็นหลักการ ระบบการศึกษาของเราก็มี คำตอบสำเร็จรูปมากเกินไป ผู้ใหญ่ก็มีคำตอบสำเร็จรูปมากเกินไป ดังนั้น เราควรจะมีคำถามให้มากขึ้น เด็กก็ควรจะตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ให้มากขึ้น และตั้งคำถามกับระบบให้มากขึ้น โลกมันถึงจะวิวัฒนาการไป
คำถามสำคัญกว่าคำตอบ แต่เรามักจะมีคำตอบสำเร็จรูปอยู่ในห้องเรียน ในบ้าน รวมทั้งในที่ทำงาน คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเชิงวัฒนธรรม เด็กฝรั่งสามารถโต้ตอบกับผู้ใหญ่หรือครูได้ ถ้ามองในแง่ของไทยดูเหมือนจะก้าวร้าว ซึ่งของไทยมีวัฒนธรรมกำหนดอยู่ แต่สิ่งที่เราจะต้องระวังคือวัฒนธรรมนั้นจะต้องอย่าให้เด็กต้องสยบยอมและเชื่อฟังเราอย่างเดียว อันนี้เป็นปัญหาของวัฒนธรรมไทย ต้องการให้เด็กสยบยอมครู สยบยอมพ่อแม่ เป็นเรื่องที่ต้องแก้
แม้เด็กในสังคมไทยไม่ค่อยก้าวร้าว แต่ผู้ใหญ่จะต้องยุให้เขาตั้งคำถาม ให้เขาท้าทาย แล้วนั่งคุยเสวนากัน เพราะการฟังสำคัญที่สุด ผู้ใหญ่ต้องฟังเด็กให้มากกว่าที่เด็กจะต้องฟังผู้ใหญ่ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าใช้ความรุนแรง คิดว่าความกล้าของมนุษย์มันมีอยู่ในตัวเด็ก และยังมีความสำนึกเรื่องเสรีภาพและความเป็นธรรมเป็นพื้นฐาน
ดังนั้น ที่สงสัยกันว่าเด็กพวกนี้มาพูดเรื่องความเป็นธรรมหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น มีคนยุยงหรือเปล่า บอกได้เลยว่าไม่ แต่ทำไมเรื่องความกล้า เรื่องสำนึก เสรีภาพ และความเป็นธรรม มันค่อย ๆ ลดน้อยลง ก็เพราะ วัฒนธรรมสยบยอม ในโรงเรียนเป็นตัวกดไว้ ซึ่งวันนี้พอมีบรรยากาศทางเสรีภาพทางโซเชียลมีเดีย จึงมีการแสดงออกมาก ซึ่งจริง ๆ มีการแสดงออกกันอยู่แล้ว แต่เราจะแสดงออกแบบซุบซิบนินทา คุยกันในหมู่เพื่อน
แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการชุมนุมที่นำเรื่องที่ทุกคนไม่กล้าพูดออกมาพูด ผมไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยทั้งหมด หรือถูกหรือผิด แต่เขากล้าที่จะออกมาพูด เราจึงน่าจะคุยกันว่าสิ่งที่เขากล้าออกมาพูดนั้นมีเหตุผลอย่างไร และเราจะตอบโต้ด้วยเหตุผลกับเขาอย่างไร แต่ไม่ใช่ใช้อำนาจหรือใช้กฎหมายไปกำกับว่าคุณต้องหยุดพูด ถ้าพูดแล้วผิดกฎหมาย ถ้าเป็นแบบนี้ก็คิดว่าจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่ดูแลสิทธิเสรีภาพ
แต่การชุมนุมเรียกร้องในแต่ละครั้งมีราคาที่ต้องจ่าย เช่นเดียวกับการชุมนุมล่าสุด ในฐานะนักเคลื่อนไหวสิ่งที่ต้องแลกนั้นคุ้มหรือเปล่า
พิภพ ธงไชย
อย่าพูดว่าคุ้มหรือไม่ เพราะถ้าพูดเรื่องนี้ก็จะทำอะไรไม่ได้ ผมคิดว่าเรามาพูดถึงปัญหาประชาธิปไตย ปัญหาเจตจำนงทางการเมือง มีคำถามว่าที่เราไปชุมนุมเพราะเราต้องการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองใช่ไหม เราเรียกร้องประชาธิปไตย ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การผูกขาดทางธุรกิจ ก็เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมือง
วันที่เราเข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เราก็ต้องการแสดง เจตจำนงทางการเมือง แต่ปรากฏว่ากฎหมายไทยจะไม่มีการพูดถึงเรื่องเจตจำนงทางการเมืองหรือคดีการเมือง แต่จะเอาคดีอาญาปกติ เช่น บุกรุก อั้งยี่ ซ่องโจร และหมิ่นประมาทมาใช้ ซึ่งคิดว่าต้องเพิ่มเรื่องเจตจำนงทางการเมืองเข้าไป เพราะเวลาขึ้นศาลว่าเรามีเจตจำนงทางการเมืองแบบนี้ ศาลไม่นำสืบในเรื่องนี้ แต่กลับไปนำสืบว่าเรารวมกลุ่มเป็นอั้งยี่ซ่องโจรหรือบุกรุก อาจตั้งข้อหากบฏหรือผู้ก่อการร้าย แต่ไม่ได้ดูเจตนาของผู้ชุมนุมว่ามีเจตจำนงทางการเมืองอะไร จึงต้องแก้กฎหมายให้เป็นคดีการเมือง
แม้มีผู้พิพากษาบางคนเข้าใจ แต่กรอบของกฎหมายทำให้ศาลต้องตัดสินแบบนั้น จัดรูปคดีไปทางคดีอาญา คิดว่าเรื่องนี้ต้องสังคายนา ไม่อย่างนั้นที่รัฐธรรมนูญบอกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและสันติ จะไม่มีความหมาย
ที่เด็กบอกว่าให้มันจบที่รุ่นเรา คิดอย่างไร
พิภพ ธงไชย
ก็เป็นเจตจำนงทางการเมืองของเด็กรุ่นนี้อยากจะให้จบในรุ่นนี้ แม้แต่รุ่นผมก็อยากให้จบ ตอน 14 ตุลาคม เราก็อยากให้จบ แต่มันจบไม่ได้ เพราะพลังของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นแสนคนนั้น ไม่สามารถที่จะไป กำหนดอำนาจรัฐ ให้เปลี่ยนแปลงได้ สุดท้ายก็ต้องอาศัยทหารหรือทหารเองก็ฉวยโอกาสทำรัฐประหาร ซึ่งเมื่อทหารฉวยโอกาสทำรัฐประหารที่มาจากการเคลื่อนไหวของประชาชน ทหารก็ลืมอุดมการณ์การเคลื่อนไหวของประชาชนไปเลย ขณะที่ผู้นำการชุมนุมต้องโดนคดีความที่เป็นคดีอาญา คิดว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไข
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ก็ธรรมดาที่ทุกคนอยากจะเห็นอะไรที่ทันตาเห็น แต่เชื่อว่าเด็ก ๆ เหล่านี้เขาจะเรียนรู้เพราะมันผ่านมาหลายรุ่นแล้ว ให้จบในรุ่นเรา แต่อาจจะต่อไปอีกหลายปี มันคงไม่จบง่าย ๆ ผมเตือนเขาอยู่เสมอว่าการชุมนุม ต้องมีขันติธรรม และต้องใช้สันติประชาธรรม ต้องใช้สันติวิธี เคารพคนที่เห็นต่างจากเรา
และยังเตือนอีกเรื่องด้วยว่า ศาสนาพุทธสอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่สมอง แต่คือลมหายใจสำคัญที่สุด เอามาประยุกต์ใช้ได้ เวลาเราเครียดให้หายใจลึก รู้ลมหายใจสั้นยาว ทำเพียงเท่านั้นระหว่างชุมนุม เราก็จะลดความเครียดได้ เปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรัก ถ้าการชุมนุม มีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน จะช่วยตัวเราไม่ให้เครียดด้วย และเราก็จะไม่เกลียดฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างจากเรา ไม่เห็นเขาเป็นศัตรู แต่เห็นว่าเราแค่แตกต่างกัน เคารพอีกฝ่าย
การปกครองบ้านเมือง อย่างน้อยต้องมี ความเป็นสุภาพบุรุษ มีความเป็นผู้ดีบ้าง เห็นอกเห็นใจผู้อื่นบ้าง โดยเฉพาะตอนนี้ผู้ปกครองบ้านเมืองควรฟังเด็กรุ่นใหม่ให้มาก ซึ่งถ้ายิ่งฟังก็จะช่วยตัวเองให้อยู่ในอำนาจได้นานด้วย แต่ถ้าไม่ฟังดื้อดัน จะเป็นการทำลายตัวเองและทำลายบ้านเมืองด้วย
พิภพ ธงไชย
สิ่งที่ต้องระวังมากคือการสร้าง ความเกลียดชัง กับ ความรุนแรง เพราะความเกลียดชังนำไปสู่ความรุนแรงได้ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้อาวุธหรือการปะทะ แต่ยังรวมถึงความรุนแรงทางวาจาที่ก็ต้องระวัง เพราะคิดว่าสุดท้ายถ้าเราไม่ระวังและสร้างความเกลียดชัง ก็จะนำไปสู่การทำร้ายซึ่งกันและกัน
สิ่งที่พูดก็ต้องเป็นข้อเท็จจริง อย่าใส่สีหรือใช้ความเกลียดชัง ซึ่งตอนนี้สังคมไทยก็ยังมีพวกซ้ายจัดหรือขวาจัด ยังเต็มไปด้วยความเกลียดชัง เราลืมไปว่า ต้องพูดกันบนความจริง
เมื่อยังไม่จบในรุ่นเราก็ต้องไปต่อ เป็นวิวัฒนาการของสังคม เรามีหน้าที่หมุนกงล้อประวัติศาสตร์บนข้อเท็จจริงและบนความรักความเมตตา แล้วกงล้อประวัติศาสตร์ก็จะเคลื่อนไป และจะเกิดวิวัฒนาการของสังคมตามมา
ดูเพิ่ม
ถอดบทเรียน “ชุมนุมใหญ่” ธรรมศาสตร์ – สนามหลวง : ตอบโจทย์ (21 ก.ย. 63)