ตะลึง! หนุ่มสวยเกณฑ์ทหาร
สีสันนางฟ้าเกณฑ์ทหาร สะดุดตาทั้งกองร้อย
พาดหัวข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นทุกปี บ่งบอกว่าเข้าสู่ฤดูการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร มันเกิดขึ้นและจบไปอยู่แบบนั้น แต่ปัญหาที่ผู้หญิงข้ามเพศต้องพบ กลับไม่ได้ถูกสะท้อนต่อสังคมมากนัก
ผิง นักศึกษา ชั้นปี 4 เดินเข้าหน่วยตรวจเลือก ในชุดนักศึกษาหญิง พร้อมแฟ้มเอกสารที่ข้างในมีประวัติส่วนตัว และ “ใบรับรองภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ซึ่งจะถูกจัดให้อยู่ในจำพวกที่ 2 ที่แก้ไขจากคำว่า “โรคจิตถาวร” ในจำพวกที่ 4 เมื่อปี 2555 ในใบ สด.43 หรือ ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
แม้จะแปลงเพศแล้ว แต่หากไม่มีใบรับรองแพทย์ การพิสูจน์อย่างเดียวที่จะทำได้ คือ ตรวจร่างกาย ปัจจุบันในหน่วยจะมีห้องลับเฉพาะในการตรวจร่างกาย เพื่อให้แพทย์ในหน่วยตรวจเลือกตรวจ ซึ่งแพทย์บางคนก็เป็นผู้ชาย สร้างความไม่สบายใจให้กับสาวข้ามเพศ ที่รู้สึกถูกล่วงละเมิดทางเพศ
รู้แล้วทำไมไม่ข้ามเพศ หรือขอใบรับรองแพทย์?
บางคนอายุไม่ถึง 20 ปี หลายคนมีข้อจำกัดเรื่องเงินในการผ่าตัดข้ามเพศ หรือครอบครัวไม่ยอมรับ
และอีกกลุ่ม คือ คนที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง แต่ไม่สามารถใช้วิถีชีวิตเป็นผู้หญิงได้ เช่น ครู ข้าราชการ
ผิง สะท้อนว่า เธอถือว่าโชคดีกว่าคนอื่นมาก ที่มีใบรับรองแพทย์ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังรู้สึกอึดอัด ที่ต้องอยู่ท่ามกลางชายหนุ่ม ที่จับจ้องเธอ บ้างหัวเราะ บ้างจับกลุ่มมองด้วยสายตาเหยียดเพศ รวมถึงการถูกถ่ายภาพแบบที่เธอไม่เต็มใจ แต่เธอทำได้เพียงซ่อนใบหน้าไว้ภายใต้หน้ากากอนามัย
“แม้ไม่พูด แต่สายตาเหล่านั้นเรารู้ดีว่าหมายถึงอะไร มันยิ่งทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในพื้นที่ไม่ปลอดภัย แต่พี่ ๆ ทหารดูแลเราดีมาก แต่อยากให้คนที่มาเกณฑ์ทหารเหมือนกัน เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่รุมถ่ายรูป ควรถามเจ้าตัวก่อนว่า เขาสะดวกใจไหม”
กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงจัดตั้ง “หน่วยพัฒนาบุคลากรเพื่อเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ความรู้หญิงข้ามเพศ ที่เข้าตรวจเลือกทหารประจำการประจำปี 2563
ที่หน่วยย่านบางกรวย เราได้พบกับ ‘จันทร์จิรา บุญประเสริฐ’ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เธอมาติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมรับเรื่องร้องเรียนจากเพจ เมื่อดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร เธอเล่าว่า พัฒนาการของการเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ในหน่วยคัดเลือกทหาร ถือว่าดีขึ้นมาก ตั้งแต่ตัดคำว่าโรคจิตออกจากใบ สด.43 เพิ่มเก้าอี้แทนการนั่งพื้น ไม่ให้ถอดเสื้อหรือใช้ปากกาเขียนตามร่างกาย แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นในแง่ของการขอความร่วมมือ ยังมีการร้องเรียนเรื่องการถูกเนื้อต้องตัว และใช้คำไม่สุภาพอยู่ในบางพื้นที่
“ล่าสุดมีน้องคนหนึ่งแจ้งว่าถูกทหารเรียกว่าน้องสันใหญ่ และเอามือทุบหลัง แทนที่จะปล่อยให้เรื่องเงียบ แต่สัสดีอำเภอกลับตามไปขอโทษด้วยตัวเองที่บ้าน เราว่ามันแสดงถึงความจริงใจที่ผู้บังคับบัญชาออกมารับฟังปัญหาแทนลูกน้อง แต่ต้องยอมรับว่าการคุกคามด้วยวาจายังมีอยู่ เพื่อแก้ปัญหานี้ ควรให้น้องที่เขามีใบรับรองแพทย์อยู่แล้ว ไปดำเนินการที่เขตหรือพื้นที่ที่ตัวเองขึ้นทะเบียนอยู่ให้จบไปเลยได้ไหม ไม่ต้องมาเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหาร”
ด้าน ‘เจษฎา แต้สมบัติ’ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปลายทางที่อยากจะเห็น คือ การตรวจเลือกทหารแบบสมัครใจ เพราะน้อง ๆ หลายคนเพิ่งเรียนจบกำลังจะมีอนาคตที่ดี หรือเป็นกำลังหลักของครอบครัว ช่วงเวลาที่หายไปอาจจะทำให้เขาพลาดโอกาสช่วงสำคัญของชีวิต ดังนั้น การที่ให้คนที่มีความพร้อม และมีศักยภาพ ประเมินแล้วว่าจิตใจตนเองพร้อม ร่างกายพร้อม และอยากจะเป็นทหาร เราจะได้ทหารที่มีประสิทธิภาพ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไข กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหาร ก็อยากจะเห็นเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติต่อทุกคนในหน่วยคัดเลือกอย่างเท่าเทียม ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลข้ามเพศเท่านั้น คนทุกคนควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐไทยคนหนึ่ง
บทส่งท้าย
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมถึงชีวิต ความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในค่ายทหารที่เกิดขึ้น เพราะมีบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนหนึ่ง ที่ต้องการเข้ารับราชการทางทหาร แต่ถูกกีดกัน หรือเลือกปฏิบัติ
หวังว่าพัฒนาการในทางบวกระหว่างการเกณฑ์ทหาร จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อพวกเขาเข้ารับราชการ ในการโอบอุ้มและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย
.
.
[ภาพที่ปรากฏได้รับความยินยอมจากบุคคลในภาพแล้ว]