2567 ปีรอยต่อรัฐบาลเศรษฐา – แพทองธาร 3 นโยบายเข้าวิน แต่ยังรอประชาชนร่วมประเมิน

ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี รัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคเพื่อไทยกับ 2 นายกรัฐมนตรี The Active ชวนดูงานที่รัฐบาลทำสำเร็จแล้วในปี 2567 หลังประกาศนโยบายสู่สาธารณะ

นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้แกนนำพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศก็ได้มีการประกาศแผนนโยบายหลายด้านที่จะดำเนินการเพื่อพัฒนาประเทศ จากการรวบรวมของ Policy Watch โดย Thai PBS มีทั้งหมด 50 นโยบาย เช่น เกษตรและประมง คมนาคม สาธารณสุข เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว การศึกษา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การต่อต้านยาเสพติด การบริหารจัดการน้ำ การต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ รัฐบาลดิจิทัล เป็นต้น

ซึ่งทุกนโยบายได้เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปลายปี 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 รวมเวลาประมาณกว่า 1 ปี แม้ เศรษฐา ทวีสิน จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติบทการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่นโยบายเหล่านี้ก็ยังคงถูกดำเนินการต่อเนื่องภายใต้ แพทองธาร ชินวัตร ผู้ที่เข้ามารับช่วงต่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 โดยพบว่ามี 3 นโยบายที่รัฐบาลดำเนินการมาจนถึงขั้นสุดท้ายแล้ว

สมรสเท่าเทียม

ไทยยังไม่เคยมีกฎหมายอนุญาตให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว สามารถจดทะเบียนเป็นคู่สมรส และได้รับสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีพึงได้ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กำหนดให้การจดทะเบียนสมรสนั้นจะต้องเป็นการสมรสระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น

ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันที่มีคู่รัก LGBTQIAN+ อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก และการขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาหลายอย่างในด้านสิทธิต่าง ๆ  เช่น สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล, สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน, สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก เป็นต้น

ในช่วงการเลือกตั้งกลางปี 2566 มีหลายพรรคการเมืองหาเสียงผลักดันให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จนกระทั่งเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้น ก็มีการปรากฏเรื่องนี้ในแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566

โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น สั่งการให้ กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณ และในวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และได้ถูกเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็ได้มีมติรับร่างหลักการพร้อมกับร่างของพรรคก้าวไกล ภาคประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ รวม 4 ฉบับ แต่ในการชั้นพิจารณากรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) จะใช้ร่างของ ครม. เป็นตัวหลัก

26 มี.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎร โหวตเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียง 400 ไม่เห็นด้วย 10 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3

เมื่อร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านการพิจารณาวาระ 2-3 ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ก็ถูกเสนอเข้าที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อกลั่นกรองกฎหมาย จนกระทั้งได้รับการโหวตเห็นชอบวันที่ 18 มิ.ย. 2567

จนวันที่ 24 ก.ย. 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นไปแล้ว 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมีผลในวันที่ 22 ม.ค. 2568

แก้หนี้นอกระบบ

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นนโยบายวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงเกินความเป็นธรรม และให้สามารถพลิกฟื้นกลับมาใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องหวาดระแวง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำ 3 หน่วยงาน แถลงแก้หนี้นอกระบบ ยกเป็นวาระแห่งชาติ

การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นนโยบายที่มีหน่วยงานหลายภาคส่วนทำงานร่วมกัน โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ไม่ทับซ้อนกัน มีการถ่วงดุลกัน และมีการจัดทำฐานข้อมูลกลาง ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะเปิดลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตามสถานที่ที่กำหนด เว็บไซต์ และทางโทรศัพท์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป รวมถึงสำรวจ – สอบถามลูกหนี้ที่ยังไม่ไปขึ้นทะเบียน เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะคอยดำเนินการทางกฎหมาย และขึ้นบัญชีผู้ประกอบการนอกระบบ

ขณะที่กระทรวงการคลัง จะทำหน้าที่ประโครงสร้างหนี้ภายหลังมีการไกล่เกลี่ยแล้ว ผ่านทาง

1. ธนาคารออมสิน จะช่วยเหลือหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนไกล่เกลี่ยหนี้ ผ่านสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย กู้ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลา 8 ปี อัตราดอกเบี้ยตามความสามารถลูกหนี้

2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะช่วยเหลือเกษตรกรหรือคนในครอบครัวที่เป็นหนี้นอกระบบ ด้วยการสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR + 3 ระยะเวลา 10 ปี พิเศษไม่เกิน 12 ปี  และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี หากผู้กู้ชำระหนี้ดีอย่างต่อเนื่องในแต่ละปีอัตราดอกเบี้ยจะลดเหลือร้อยละ 4 ร้อยละ 3 และร้อยละ 2 ต่อปีตามลำดับ ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี

ในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 กระทรวงมหาดไทย สรุปการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ปิดลงทะเบียนรวม 109 วัน มีประชาชนมาลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 153,400 ราย สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ย และยุติเรื่อง ทำให้มูลหนี้ลดลง 1,203.57 พันล้านบาท

ในวันที่ 20 ธ.ค. 2567 พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง รายงานผลการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบวันที่ 1 ธ.ค. 66 – 19 ธ.ค. 67 มีประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วจำนวน 25,393 ราย ยอดอนุมัติรวมทั้งสิ้น 1,200.81 ล้านบาท

นอกจากนี้เจ้าหนี้นอกระบบที่เข้ามาให้บริการสินเชื่อในระบบอย่างถูกกฎหมาย ณ เดือน พ.ย. 67 มีนิติบุคคล (บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้ว 1,147 ราย ใน 75 จังหวัดและ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 67 มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยสะสมทั้งสิ้น 4,768,999 บัญชี เป็นจำนวนเงินรวม 46,177.93 ล้านบาท โดยเป็นยอดสินเชื่อคงค้าง 385,807 บัญชี เป็นจำนวนเงินรวม 7,203.55 ล้านบาท

เลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

แม้ การเลือกสมาชิกวุฒิสภา จะไม่ได้เป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อสาธารณะโดยตรง แต่โดยกระบวนการเลือกที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทำให้อำนาจหน้าที่ของ สว. ที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีผลเกี่ยวพันกับการดำเนินนโยบายภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอนาคต อย่างน้อย 3 เรื่องสำคัญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปองค์กรอิสระ และการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายในรัฐสภา

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เป็นตัวแทนจากประชาชน ภายหลังจาก สว. ชุดที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน หมดวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี จากนั้นจะต้องมีการเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นการเลือกจากประชาชนโดยตรง แต่เป็นการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร สว. ที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์อาชีพ ใน 20 กลุ่มอาชีพที่กำหนด

ทั้งนี้ ผู้ที่จะสมัครรับเลือกเป็น สว. จะต้องมีคุณสมบัติ คือ

1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก

3. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี (ไม่ใช้บังคับแก่สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งสมัครในกลุ่มตามมาตรา 11 (14) และ (15))

4. ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา ผู้สมัครจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561

อย่างไรก็ตามระหว่างใกล้จะมีการคัดเลือก ได้มีผู้ที่รวบรวมข้อมูลผู้สมัคร สว. ทุกคน และนำลงเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้สมัคร สว. ต่าง ๆ สามารถดูข้อมูลและประวัติของผู้สมัครรายอื่นได้ เพื่อนำไปใช้พิจารณาคัดเลือก แต่ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยระเบียบการแนะนำตัว โดยกำหนดให้ผู้สมัคร สว. ต้องใช้เอกสารแนะนำตัวที่มีขนาดไม่เกิน A4 หรือขนาด 210 X 297 มิลลิเมตร ซึ่งจะต้องมีข้อมูลส่วนตัวและประสบการณ์การทำงานรวมไม่เกิน 2 หน้า อีกทั้งห้ามแจกและเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะหรือผ่านสื่อมวลชน แต่ใช้แนะนำตัวได้เฉพาะระหว่างผู้สมัครเท่านั้น

กระบวนการคัดเลือก สว. แบ่งเป็น 3 ระดับ เริ่มจากระดับอำเภอ ไปสู่ระดับจังหวัด และสุดท้ายไปสู่ระดับประเทศ โดยในแต่ละระดับ จะแบ่งการคัดเลือกเป็น 2 รอบในวันเดียว ในรอบแรกจะต้องเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพก่อน และรอบที่สองจะจับสลากแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 4 สาย

โดยวันที่ 9 มิ.ย. 67 มีผู้ผ่านการคัดเลือกระดับอำเภอจำนวน 23,645 คน จากทั้งหมด 43,818 คน จากนั้นในวันที่ 16 มิ.ย. 67 มีผู้ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัดจำนวน 3,000 คน และในการคัดเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิ.ย. 67 ก็ได้ สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน

วันที่ 10 ก.ค. 67 กกต. ประกาศรับรอง สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. 67 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้ มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 159 คะแนน พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 150 คะแนน และบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต. ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 167 คะแนน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง