การต่อสู้ ความท้าทาย ที่ยังไปไม่ถึงฝัน
ย้อนไป 3 ปีก่อน กลางเดือนมกราคม 2564 เรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถูกจับตาและให้ความสนใจอย่างมาก เมื่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอยล่าง อพยพกลับบางกลอยบน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ใจแผ่นดิน” ที่มีทั้งเด็กและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เดินทางขึ้นไปด้วย เป้าหมายการอพยพสู่ถิ่นฐานเดิมครั้งนั้น เพื่อดำรงวิถีของความมั่นคงในชีวิต ด้วยการทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ
กระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่รัฐเปิดปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” โดยการสนธิกำลังหลายหน่วย นำโดยหน่วยพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปจับกุมชาวบ้านที่บางกลอยบน จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีรวม 28 คน ถือเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่
จากเหตุการณ์วันนั้น ตลอดห้วงเวลาเกือบ 3 ปี เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายชาติพันธุ์หลายกลุ่ม รวมถึงภาคี Save บางกลอย ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ไม่ใช่แค่ความหวังเพื่อลดอคติ ลดความขัดแย้ง แต่เพื่อความมั่นคงในวิถีชีวิต บนหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ในการกลับคืนถิ่นฐานเพื่อดำรงวิถีวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ รวมถึงการทำไร่หมุนเวียนด้วย ซึ่งหมายถึงความชัดเจนในทางนโยบายการจัดการที่ดินที่เป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลรวมต่อพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ
19 เมษายน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามรับรองมติคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. ชาวบางกลอยที่ประสงค์กลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน 2. กรรมการอิสระ และ 3. ตัวแทนจากกระทรวงฯ เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถกลับขึ้นไปทดลองทำไร่หมุนเวียน เป็นเวลา 5 ปี ควบคู่กับการศึกษารวบรวมข้อมูลทางวิชาการ แต่กลับไม่มีความคืบหน้า
The Active ชวนย้อนทบทวนที่มาที่ไป ตลอด 3 ปี บนการต่อสู้ การเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวบางกลอย เพื่อคืนถิ่นฐาน “ใจแผ่นดิน” กับความหวังคืนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ไร่หมุนเวียน
ย้อนจุดเริ่มต้น สู่ปมปัญหาความขัดแย้ง การเข้าสิทธิพื้นฐาน ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
เกือบชั่วอายุคน ที่บ้านบางกลอยบน และ ใจแผ่นดิน ถูกยืนยันการมีตัวตน “เหรียญชาวเขา” ที่ราชการออกให้ ไปจนถึงการสำรวจจัดทำทะเบียน ล้วนสะท้อนการมีอยู่จริงของชุมชนกะเหรี่ยงกลางป่าใหญ่แก่งกระจาน
จนในปี 2524 “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” เกิดขึ้น แต่หมู่บ้าน “บางกลอยบน” และ “ใจแผ่นดิน” กลับไม่ถูกกันออกจากเขตอุทยาน
15 ปี หลังชุมชนกลางป่าใหญ่ตกอยู่ภายใต้พื้นที่อุทยานฯ ปี 2539 โครงการอพยพชาวบ้านจากบางกลอยบนและใจแผ่นดิน เริ่มขึ้น
เมื่อลงหลักปักฐานใหม่ ซึ่งรัฐจัดหาให้ในที่อยู่ปัจจุบัน “บ้านโป่งลึก-บางกลอย” ถูกมองว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามที่รัฐเคยตกลงไว้ เช่น เรื่องที่ดิน ที่ทำกิน และวิถีชีวิตกะเหรี่ยง
เป็นเวลานับ 10 ปี ที่ชาวบ้าน เผชิญกับความยากลำบาก จนใน ปี 2552 การเข้ามาของ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ชื่อ “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ถูกมองว่า เป็นจุดเริ่มต้นของชนวนขัดแย้งที่ร้าวลึก
ตั้งแต่ปฏิบัติการผลักดันชาวกะเหรี่ยงออกจากบางกลอยบน และใจแผ่นดิน ในช่วงปี 2553 – 2554 จนปรากฏภาพ เจ้าหน้าที่เผาทำลายที่พัก ยุ้งข้าว ชาวบ้าน และระหว่างปฏิบัติการนั้น ก็เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกกลางป่าแก่งกระจานถึง 3 ลำ
กรณีการรื้อทำลายชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินของเจ้าหน้าที่ เป็นชนวนสำคัญ ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรม แต่ก็แลกมาด้วยการสูญเสีย “ทัศกมล โอบอ้อม” หรือ อ.ป๊อด หนึ่งในแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวกะเหรี่ยง เหตุการณ์ลอบสังหาร นำไปสู่การออกหมายจับ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกอีก 4 คน ข้อหาร่วมกันฆ่า แต่ต่อมาศาลยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานที่มีน้ำหนักเพียงพอ จนสุดท้ายคดีสิ้นสุดไป
ส่วนกรณีเผาทำลายทรัพย์สินชาวบ้าน ก็ยังเป็นคดีความ เมื่อ โคอิ มีมิ หรือ ปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยง ร่วมกับชาวบ้าน ยื่นฟ้องศาลปกครอง หลังจากนั้นไม่นาน 18 เมษายน 2557 “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ หายตัวไป แน่นอนว่าผู้ที่ถูกสังคมจับตา หนีไม่พ้น ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร
4 ปี หลังบิลลี่หายตัว ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาว่า กรณีเผาทำลายทรัพย์สินชาวบ้าน คือพฤติการณ์ร้ายแรง เกินกว่าเหตุ สั่งให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน
จากนั้นไม่นาน 5 ตุลาคม 2561 คือวันสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ปู่คออี้ เสียชีวิตอย่างสงบ ด้วยวัย 107 ปี ญาตินำศพกลับไปประกอบพิธีตามความเชื่อที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย
ปีต่อมา มูลเหตุการณ์หายตัวไปของบิลลี่ ใกล้ความจริง 3 กันยายน 2562 DSI แถลงพบกระดูกในถังน้ำมัน 200 ลิตร ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พิสูจน์ชี้ชัดว่าเป็นกระดูกของบิลลี่
ท่ามกลางปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ การใช้ความรุนแรง และความหวาดกลัว ที่ชาวบ้านเผชิญมาตลอด 20 กว่าปีมานี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกัน กับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่ถูกตั้งคำถาม นี่จึงเป็นเหตุผลให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย พยายามหวนคืนสู่ป่าใหญ่ใจแผ่นดิน ที่พวกเขายืนยันการมีตัวตนในวิถีดั้งเดิม
3 ปี บางกลอยคืนถิ่น ลุกทวงสิทธิคืนวิถีชีวิตวัฒนธรรม
14 มกราคม 2564 เรื่องของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยถูกให้ความสนใจอีกครั้ง เมื่อภาพข่าวชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอพยพกลับบางกลอยบนใจแผ่นดิน ที่มีทั้งเด็ก และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อพยพขึ้นไปด้วย
18 มกราคม 2564 กระแสข่าวทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ ที่เตรียมนำชาวบ้านออกมาจากป่าแพร่สะพัด แม้หลายฝ่ายออกมาปฏิเสธ พร้อมยืนยันไม่ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน แต่ในโลกออนไลน์เวลานั้น ก็เกิดกระแส #Saveบางกลอย เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ ร่วมกันแสดงปฏิกิริยา เรียกร้องยุติใช้ความรุนแรง และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวบ้านทุกรูปแบบ
ด้านภาคประชาชนหลายกลุ่ม อย่าง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ช่วยติดตามแก้ปัญหา เช่นเดียวกับกลุ่มพีมูฟ หรือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เป็นอีกกลุ่มที่ส่งเสียงถึง “วราวุธ ศิลปอาชา” เจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้แก้ปมพิพาท ในพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย
ความพยายามที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 หลายฝ่ายร่วมกันลงพื้นที่บ้านบางกลอย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน จนนำมาสู่คำสั่งแต่งตั้ง “คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย” โดยเร่งประชุมนัดแรกทันที ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564
แต่ภาคประชาชน ในนามกะเหรี่ยงและประชาชนผู้รักความเป็นธรรม #Saveบางกลอย ก็ยังไม่ไว้ใจ เพราะมองว่า สัดส่วนของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เต็มไปด้วยราชการซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้าน พวกเขาจึงยกระดับการชุมนุม หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
จนนำไปสู่การประกาศลงนาม MOU เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่ผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว ดูเหมือน MOU ถูกฉีกทิ้ง
กระทั่ง 22 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าอุทยานฯ เปิดยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร เฮลิคอปเตอร์ บินวนหลายเที่ยว นำเจ้าหน้าที่ ขึ้นไปจับกุมชาวบ้าน 13 คน ซึ่งเวลานั้นปักหลักอยู่ที่ บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน กลางป่าแก่งกระจาน
คู่ขนานกับปฏิบัติการ ภาคี Save บางกลอย ก็เคลื่อนไหวอย่างหนัก เพื่อสื่อสารต่อสังคม เพราะเชื่อว่ารัฐกำลังกระทำละเมิดต่อชาวบ้าน แฮชแท็ก #Saveบางกลอย ติดเทรนด์อันดับหนึ่ง ปฏิกิริยาของสังคมตอนนั้น ส่งผลให้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ต้องยุติลงในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่ได้จับกุมชาวบ้านเพิ่มเติม
วันต่อมา ผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประชุมแก้ไขปัญหา การบุกรุกพื้นที่ป่าบางกลอย-ใจแผ่นดิน ณ ศาลพอละจี บ้านโป่งลึกบางกลอย โดยหารือกับตัวแทนชาวบ้าน 4 คน ที่ได้รับอำนาจจาก นอแอะ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน และชาวบ้านที่ตัดสินใจกลับขึ้นไปทำกินในป่า เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน แต่ในที่สุดชาวบ้านตัดสินใจวอล์กเอาต์จากการประชุม เพราะมองว่าเจ้าหน้าที่ แสดงออกอย่างไม่จริงใจ ต่อข้อเรียกร้อง
เหตุการณ์ส่อเค้ารุนแรงอีกครั้ง 5 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่นำตัวชาวบ้าน ลงมาจากป่าทั้งหมด 85 คน มี 30 คน พ่วงด้วยหมายจับ ข้อหา “บุกรุกป่า” ความกดดันทุกอย่าง จึงมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกรอบ ภายหลังภาคี Save บางกลอย ชุมนุมต่อเนื่อง ในที่สุด 16 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย มอบหมาย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า นั่งหัวโต๊ะ
คณะอนุกรรมการ 5 ชุดถูกตั้งขึ้น เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชน, การแก้ไขปัญหากฎหมาย, การแก้ปัญหาคดีความ, การศึกษาแนวทางและผลกระบต่อระบบนิเวศน์ สัตว์ป่า และการให้บริการทางนิเวศ กรณีการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บางกลอยบน และ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอยล่าง ในช่วงเวลานั้น ฝั่งชาวบ้าน 28 คน ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย ก็พยายามเดินหน้าเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ชะลอการดำเนินคดี
เช่นเดียวกับ ภาคี Save บางกลอย ที่ยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมเคลื่อนไหว เรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน…
26 กรกฎาคม 2564 พวกเขาจัดกิจกรรม “มรดกโลก มรดกเลือด” คัดค้านการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่สุดท้ายป่าแก่งกระจาน ก็ได้รับการขึ้นทะเบียน
14 ธันวาคม 2564 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในนามกลุ่ม “บางกลอยคืนถิ่น” ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของชาวบ้านบางกลอยผู้ต้องการกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ได้เคลื่อนไหวร่วมกับภาคี Save บางกลอย กลุ่มพีมูฟ และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คัดค้านการแต่งตั้ง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่ง
20 มกราคม 2565 กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ภาคี Save บางกลอย ได้เข้าร่วมการชุมนุม “พีมูฟทวงสิทธิ” จัดโดยกลุ่มพีมูฟ ณ องค์การสหประชาชาติ ก่อนจะย้ายไปปักหลักที่แยกนางเลิ้ง ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย 15 ข้อ รวมถึงการแก้ไขปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย หลังรัฐบาลยื้อเวลาไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ว่าชาวบ้านไม่ยอมรับให้ วราวุธ ศิลปอาชา เป็นประธาน
29 มกราคม 2565 ‘บางกลอยคืนถิ่น’ เคลื่อนไหวย่านสยาม ถือป้ายข้อความ “1 ปี บางกลอย ปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้” จัดกิจกรรมตั้งแต่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แขวนป้ายบนสกายวอล์ก แล้วเดินผ่านสยามก่อนจะถูกสกัดโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
30 มกราคม 2565 ภาคี Save บางกลอย จัดกิจกรรม CAR MOB เรียกร้องให้ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ก่อนจะประกาศเคลื่อนไหวอีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
1 กุมภาพันธ์ 2565 ภาคี Save บางกลอย กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น และพีมูฟ ประกาศเคลื่อนไหวบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงสัญญาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ โดยเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ก่อนที่ตัวแทนภาคี Save บางกลอย จะสามารถเข้าไปเจรจากับผู้แทนรัฐบาลได้ โดยได้มีการร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ ดังกล่าว ตรวจสอบร่วมกันกับสำนักนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นอกจากนั้นยังได้รับแจ้งว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟทวงสิทธิทั้ง 15 ข้อ ได้ผ่านการรับรองของคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าว รวมถึงข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยด้วย
3 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย โดยมี อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กลุ่มพีมูฟทวงสิทธิจึงยุติการชุมนุม รวมเวลาการชุมนุมทั้งสิ้น 15 วัน โดยหลังจากนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ดังกล่าวทั้งสิ้น 2 ครั้ง มีแนวทางรับรองให้ชุมชนบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ให้หาแนวทางยุติการดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอย และให้หาแนวทางให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถกลับขึ้นไปทำกินบนแผ่นดินดั้งเดิมได้ อย่างไรก็ตามผลจากการชุมนุมครั้งนี้ทำให้กลุ่มพีมูฟทวงสิทธิทั้งสิ้น 16 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึง จันทร ต้นน้ำเพชร เยาวชนชาวบางกลอยวัย 17 ปีด้วย
20 กันยายน 2565 ภาคี Save บางกลอย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย สอบถามความชัดเจนและความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะด้านคดีความของชาวบางกลอย 28 คน รวมถึงกรณีแก้ปัญหาด้านที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่ง ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ คนที่ 1 และ มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายชาญเชาวน์แจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 3 ประเด็น
- เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังอธิบดีอัยการภาค 7 ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน เพื่อแจ้งมติของคณะกรรมการอิสระ เรื่องการช่วยเหลือ และการทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกอบการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
- สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยกรณีนี้จะเกิดขึ้น หากชาวบ้านบางกลอยถูกสั่งฟ้องฝากขัง ก็จะให้ความช่วยเหลือทางด้านกองทุนยุติธรรม
- คณะกรรมการอิสระฯได้แจ้งว่า ได้มีการทำงานร่วมกับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในการดำเนินการตามกรอบในการช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาตามกรอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี2562 เกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขการดำรงชีวิต ของกลุ่มชาติพันธุ์บ้านบางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
9 มกราคม 2566 ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นพร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เดินทางไปยังกระทรวงยุติธรรม หลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในนามประธานกรรมการกองทุนยุติธรรม ขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในระหว่างการสู้คดี
18 มกราคม 2566 ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ยื่นหนังสือถึง อนุชา นาคาศัย ประธานคณะกรรมการอิสระฯ ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะด้านคดีความและการทำกิน โดยยืนยันว่าหากยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีได้ ชาวบางกลอยจะกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินอีกครั้ง
21 กุมภาพันธ์ 2566 อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ณ อาคาร ก.พ. (เดิม) ทำเนียบรัฐบาล โดยเห็นชอบแนวทางแก้ปัญหา 3 ระยะ ตั้งแต่คดีความ คุณภาพชีวิต จนถึงแนวทางกลับไปทำไร่หมุนเวียนที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รวมถึงให้นำข้อเสนอของ กมธ.ที่ดินฯ มาดำเนินการ
19 เมษายน 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามรับรองมติคณะกรรมการอิสระฯ ให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน 2. กรรมการอิสระ และ 3. ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
26 กรกฎาคม 2566 กลุ่มบางกลอยคืนถิ่นยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยรองปลัด ทส. เป็นผู้รับหนังสือแทน และรับปากจะเร่งตั้งคณะทำงานภายใน 20 วัน
แต่จนถึงขณะนี้กลับยังไม่มีความคืบหน้า นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลใหม่ ถึงการกำหนดแนวนโยบายแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ทั้งในด้านป่าไม้-ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย คดีความ และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สะท้อนปัญหายึดโยงเชิงโครงสร้าง โดยใช้กรณีบางกลอย เป็นอีกหนึ่งตัวแทนปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในภาพรวม