ประกาศ น.ส.ล.ทับ! ไม่กล้ายอมรับผิด…แต่กลับพรากสิทธิชาวบ้าน ?

แดดที่ร้อนแรงปลายเดือนเมษายน คงไม่ร้อนระอุเท่าใจของชาวชุมชนไทดำ แห่งลุ่มน้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี… 3 วัน 3 คืน ที่ตัวแทนไทดำ 70 ชีวิต ยอมจากบ้านมานอนริมถนนในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เพื่อติดตาม ทวงถามผลการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์  ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย (23 เม.ย. 68)  

พวกเขาต่างรอคอยด้วยความหวังว่า ข้อสรุปจากที่ประชุมจะเห็นความคืบหน้าการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอำเภอบ้านนาเดิม ออกประกาศ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ น.ส.ล.ทุ่งปากขอ ทับที่ชุมชนบริเวณ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 4 ชุมชนทับชัน ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี จนนำไปสู่การเดินหน้า เร่งรัดเพิกถอน น.ส.ล.ประกาศผิดที่ ออกจากชุมชนดั้งเดิมของชาวไทดำ พร้อมทั้งเดินหน้าจัดทำแผนเพื่อออกโฉนด คืนสิทธิชุมชนดั้งเดิม

แต่ภายหลังการประชุมเกือบ 6 ชั่วโมง ชาวไทดำกลับได้รับคำตอบที่พวกเขาเอ่ยปากบอกว่า “น่าผิดหวัง” เพราะแม้จะที่ประชุมจะออกหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่ดินจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการคุกคาม หรือส่งผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ ในระหว่างที่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดิน น.ส.ล.ทับชุมชนไทดำ จ.สุราษฎร์ธานี แต่แค่หนังสือฉบับเดียวแทบไม่มีอะไรการันตีได้เลย เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีหนังสือสั่งลักษณะนี้มาแล้ว สุดท้ายชาวบ้านก็ยังถูกคุกคาม ถูกติดป้ายขับไล่อยู่ดี  

ประกาศผิดทำไมไม่กล้ายอมรับผิด
แต่กลับกล้ามาเอาผิดประชาชน” 

กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของพี่น้องไทดำ และเครือข่ายเพื่อชาวไทดำ เมื่อทราบมติที่ประชุมอีกข้อ ซึ่งระบุว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันยอมรับในผลการตรวจสอบตามกระบวนการกลไกกฎหมายที่ถูกต้อง จนมีมติว่า การออกที่ น.ส.ล.ทับชุมชนไทดำออกผิดตำแหน่ง ไม่ตรงกับที่ขึ้นทะเบียน หรือตำแหน่งทะเบียนหวงห้ามเดิมในปี 2475 แต่กลับไม่เดินหน้าเพิกถอน น.ส.ล. ตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง เนื่องจาก ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ที่ดินจังหวัด ไม่ยอมรับ จึงมีมติการกำหนดประชุมคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง โดยจะเชิญหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปและเดินหน้าสู่การแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน น.ส.ล. ภายใน 30 วัน   

อะไร ? คือเหตุผลสำคัญที่เป็นข้อกังวล รวมถึงอุปสรรค ต่อการเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเพื่อเพิกถอนที่ น.ส.ล.แปลงนี้ The Active รวบรวมบทวิเคราะห์หลังการประชุมการแก้ไขปัญหาให้กับชาวไทดำเสร็จสิ้นลง พร้อมร่วมกันค้นหาข้อเสนอทางออกจากอนุกรรมการฯ สัดส่วนภาคประชาชน

“ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ผมอยากให้ช่วยกันคิดหาทางหน่อย ผมเองก็ไม่อยากต้องมานั่งประชุมซ้ำ ๆ อีก เพราะหากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็มองกันคนละทิศคนละทางไม่จบ จึงต้องหาทางทำยังไงให้มีทางออก เพราะเรื่องนี้คนเดือดร้อนคือประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่สาธารณะ จึงต้องช่วยกันหาทิศทางไหนจะดีที่สุด ตรงจุดที่สุด” 

ทรงศักดิ์ ทองศรี

คำยอมรับจากปาก ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะนั่งหัวโต๊ะที่ประชุมฯ ร่วมกับ อนุกรรมการสัดส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายจังหวัด และตัวแทนภาคประชาชน รวมถึงชาวบ้านที่เดือดร้อนในข้อพิพาทที่ดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทยหลายกรณีร่วมประชุม 

แน่นนอนว่า หนึ่งในนั้น คือ กรณี ออกประกาศหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ น.ส.ล.ทุ่งปากขอ ทับที่บริเวณหมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 4 ชุมชนทับชัน ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นประเด็นร้อน หลังอำเภอบ้านนาเดิมปักป้ายขับไล่ชาวไทดำ ก่อนมาถูกเคลื่อนไหวคัดค้านจนหน่วยงานต้องมาถอนป้ายออก

น.ส.ล.ทับที่ชุมชนไทดำจริง แต่เพิกถอนไม่ได้ ?

ตัวแทนชาวชุมชนไทดำ ทั้ง จันทรัตน์ รู้พันธ์, อำนาจ แค้นคุ้ม, อิสรีย์ พรายงาม อธิบายย้ำถึงการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนดั้งเดิม ตั้งแต่ปี 2496 ย้ำว่าพวกเขา “เป็นผู้บุกเบิก ไม่ใช่บุกรุก”  โดยมีหลักฐานข้อพิสูจน์ยืนยันตั้งแต่ ปี 2565 ในการประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่เอกชนปล่อยทิ้งร้าง ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จ.สุราษฎร์ธานี ระดับอำเภอ ซึ่งมีมติร่วมกันว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง น.ส.ล.ไม่ตรงตามตำแหน่งทะเบียนหวงห้ามเดิม ปี 2475 

จนในปี 2567 มีมติที่ประชุมสำคัญของคณะทำงานแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 กรณีปัญหาที่สามารถสั่งการได้ กระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการรังวัด สอบเขต น.ส.ล. ที่ออกผิดตำแหน่งตามผลผลการสอบสวน และตรวจสอบเฉพาะกรณีชุมชนไทดำ เนื้อที 1,408 ไร่ ให้แล้วเสร็จโดยเร่งด่วน ภายในระยะเวลา 30 วัน และให้ดำเนินการรังวัด สอบเขต น.ส.ล. เพื่อทราบขอบเขตบริเวณชุมชนไทดำที่ผิดตำแหน่งการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ครอบคลุมถึงบริเวณที่ดินของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ชุมชนไทดำ (บ้านทับชัน) และคลาดเคลื่อนตามผลการสอบสวนที่ยุติในกระบวนการตามผลการตรวจสอบที่ได้ข้อยุติแล้ว จำนวน77 แปลง เนื้อที่ 1,408 ไร่ รังวัดเสร็จแล้ว โดยวิธีแผนที่ ชั้น 1 (RTK GNESS NETWORK) จนได้รูปแผนที่  

จากการนำเสนอข้อมูลหลักฐานตรงนี้ ที่ประชุมต่างยอมรับในผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกระบวนการ และกลไกที่เกี่ยวข้อง แต่ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้แสดงเหตุผลที่ยังไม่ยอมรับ เนื่องจากอ้างคำพิพากษาของศาลปกครองในปี 2547 ที่ชาวบ้านชุมชนไทดำ ไปร้องเรียนเรื่องผู้ว่าฯ และหน่วยงานละเมิด MOA หรือข้อตกลงร่วมในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในการเดินหน้าโครงการรัฐที่ส่งผลกระทบที่ทำกินของชุมชน ซึ่งศาลระบุว่า ชาวชุมชนไทดำไม่มีสิทธิร้อง เพราะอยู่ในที่ น.ส.ล.   

ทำให้ตัวแทนอนุกรรมการฯ สัดส่วนภาคประชาชน ทั้ง ประยงค์ ดอกลำใย, ไมตรี จงไกรจักร์ และ จำนงค์ หนูพันธ์ โต้แย้งต่อประเด็นนี้ทันทีว่า ชาวบ้านไม่ได้ร้องศาลในประเด็นการพิสูจน์สิทธิที่ดิน แต่ในขณะนั้นเป็นการร้องรัฐให้เยียวยา จ่ายเงินชดเชยผลกระทบที่เกิดต่อชุมชนจากโครงการภาครัฐ 

ดังนั้นการจะพิจารณาให้รัฐชดเชยเยียวยาหรือไม่ จึงต้องดูว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ใด แต่เนื่องจากรัฐประกาศผิดตำแหน่งกลายเป็นที่ น.ส.ล.ทับชุมชน ศาลจึงต้องระบุว่า ชาวบ้านไม่มีสิทธิเพราะอยู่ในที่ของรัฐ รัฐจึงต้องยอมรับว่า ประกาศผิดและต้องเดินหน้าเพิกถอน น.ส.ล. จะอ้างเรื่องนี้ซึ่งเป็นคนละประเด็นไม่ได้  

ส่วนข้ออ้างเรื่องความกังวลว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะเอาผิดฐานละเมิดการปฏิบัติหน้าที่ หากไม่ดำเนินการให้ชาวบ้านไทดำย้ายออกจากที่ น.ส.ล.นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เพราะการแก้ไขปัญหามีกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นที่ น.ส.ล. ซึ่งออกผิดตำแหน่ง ก็ควรดำเนินการเพิกถอน หรือต้องให้ประชาชนไปร้อง ป.ป.ช.กลับ จะเอาแบบนั้นหรือไม่ ? 

“การเพิกถอนพื้นที่ที่ประกาศผิดตำแหน่งล่าช้า คือความอยุติธรรม หรือต้องให้ชาวบ้านไปร้อง ป.ป.ช.บ้าง ในความผิดที่ออก น.ส.ล.ผิดตำแหน่งทับที่ชุมชนดั้งเดิม นี่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะเอาแบบนั้นไหม ซึ่งจริง ๆ ก็แค่เดินตามกระบวนการที่ถูกต้อง ออกผิดก็ให้เพิกถอนแค่นั้น”

จำนงค์ หนูพันธ์  ที่ปรึกษาพีมูฟ ในฐานะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ฯ

รมช.มหาดไทย ในฐานะประธาน ยอมรับเข้าใจทั้งความเดือดร้อนของประชาชน และ เข้าใจหน่วยงานราชการที่มีข้อกังวล เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อสรุป ก็จะเชิญและนัดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เอาข้อมูลทุกอย่างมากาง และหารือ หาข้อสรุปและทางออกอีกครั้ง

นำมาสู่มีมติสำคัญ 2 ข้อ คือ  1. ทำหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการคุกคาม หรือส่งผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ ในระหว่างที่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดิน น.ส.ล.ทับชุมชนทับชัน หมู่ 1 และหมู่ 4 ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี

และ 2 แม้ที่ประชุมจะเห็นตรงกันยอมรับในผลการตรวจสอบตามกระบวนการกลไกกฎหมายที่ถูกต้อง จนมีมติว่าการออกที่ น.ส.ล.ทับชุมชนไทดำ และ ออกผิดตำแหน่ง ไม่ตรงกับที่ขึ้นทะเบียนในปี 2475 แต่เนื่องจากผู้ว่าฯ นายอำเภอ ที่ดินจังหวัด ไม่ยอมรับ จึงมีการกำหนดประชุมคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง ภายใน 30 วัน โดยจะเชิญหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมประชุมอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปและเดินหน้าสู่การแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน

ที่ไม่เพิกถอน น.ส.ล. เพราะรัฐกลัวต้องรับผิด
หรือพื้นที่จริงตามที่ขึ้นทะเบียนแปลงเป็นเอกสารสิทธิไปหมดแล้ว ?

ประยงค์  ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) หนึ่งในอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ฯ วิเคราะห์ถึงเหตุผลสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบ การประกาศพื้นที่ น.ส.ล.ทุ่งปากขอ ผิดตำแหน่ง ทับชุมชนไทดำ โดยมองว่า เรื่องนี้ซับซ้อน เพราะจะถูกโยงถึงเรื่องที่ต้องไปเพิกถอนเอกสารสิทธ์อีกส่วนหนึ่งด้วย ประเด็นสำคัญคือ หากพบว่าพื้นที่ซึ่งออกทับชุมชนไทดำออกผิดตำแหน่ง ก็ต้องไปหาจุดที่ขึ้นทะเบียนไว้แต่เดิมประมาณ 4,000 ไร่ ที่ขึ้นทะเบียนพื้นที่หวงห้ามไว้ ในปี 2475 ตรงนี้คือปัญหาใหญ่ที่จะตามมา  

“เหตุผลสำคัญคือ ถ้าออก น.ส.ล.ผิดตำแหน่ง ก็ต้องเพิกถอนทุกแปลง ไม่ใช่แค่ 1,408 ไร่ แล้วมันออกไม่ถูกจริง คำถามที่ตามมาคือ ที่ที่ใช่อยู่ตรงไหน อันนี้จะเป็นเรื่องใหญ่มากกว่า คือถ้าปรากฏว่าที่ที่ใช่ เป็นที่ที่มีราษฎรครอบครองอยู่แล้ว แต่กลับออกเอกสารสิทธิ์ไปเต็มพื้นที่อยู่แล้วจะทำยังไง อันนี้คือความกังวลใจของรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาเราบอกว่า ไม่ต้องเพิกถอนทั้งหมด ก็แก้ไขเฉพาะที่มันทับชุมชนไทดำ ซึ่งในทางกฎหมายก็อาจจะทำได้ ถ้ามีเจตจำนงของรัฐบาลที่ชัดเจน แต่ผมเข้าใจว่า ตอนนี้ฝ่ายการเมือง หรือรัฐบาลไม่มีความมั่นใจว่าการใช้อำนาจของตัวเอง ในการตัดสินใจให้มีการแก้ไขแนวเขตของ น.ส.ล.ครั้งนี้ เพราะกังวลผลกระทบที่จะตามมา”

ประยงค์  ดอกลำใย

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ สังคมต้องช่วยกันจับตาเรื่องนี้ ยืนยันบนข้อเท็จจริงว่า ออกถูกตำแหน่งหรือไม่ ถ้าออกถูกตำแหน่ง ชาวบ้านก็อยู่มีสถานะ อยู่ในที่สาธารณประโยชน์  ก็จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาไปอีกแบบ แต่ในการตรวจสอบที่ผ่านมาชี้ชัดแล้วว่า ที่ที่ขึ้นทะเบียนไว้ และพื้นที่ที่มาออก น.ส.ล. โดยอ้างทะเบียน มันคนละที่กัน มันผิดพลาดคลาดเคลื่อน ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่ได้ตรวจสอบกันในวันนี้ แต่ว่าชาวบ้านเขาต้องการให้มีสิ้นสงสัยว่ามันถูกต้องจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง จึงต้องยึดข้อเท็จจริงก่อนเป็นหลัก  

หยุดกังวลเกินเหตุ! ถอน น.ส.ล.ผิดตำแหน่งชาวไทดำ ไม่เป็นผล
หรือบรรทัดฐานต้องยกเลิกทั้งประเทศ

The Active ได้ข้อมูลจากรายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสิทธิ์ในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร พบพื้นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งจำแนกไว้ 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แล้ว สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จำนวน 127,769 แปลง เนื้อที่ 6,002,322 – 3– 49.46 ไร่

  2. ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังไม่ได้ออก น.ส.ล. จำนวน 3,660 แปลง เนื้อที่ 2,044,283 – 2 –33.90 ไร่  

โดยแบ่งเป็น ที่สาธารณประโยชน์ในแต่ละภาค ประกอบด้วย

1. ภาคเหนือ 17 จังหวัด

  • น.ส.ล.สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จำนวน 25,582 แปลง เนื้อที่ 1,015,954 – 2 – 56.33 ไร่
  • ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังไม่ได้ออก น.ส.ล. จำนวน 1,550 แปลง เนื้อที่ 469,550 – 0 – 90.00 ไร่

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด

  • น.ส.ล.สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จำนวน 80,044 แปลง เนื้อที่ 3,696,469– 1 – 97.06 ไร่
  • ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังไม่ได้ออก น.ส.ล. จำนวน 525 แปลง เนื้อที่ 51,125 – 3– 89.60 ไร่

3. ภาคกลาง 26 จังหวัด 

  • น.ส.ล.สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จำนวน 14,339 แปลง เนื้อที่ 441,923 – 3 –89.99 ไร่
  • ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังไม่ได้ออก น.ส.ล. จำนวน 764 แปลง เนื้อที่ 56,113 – 1 – 22.90 ไร่

4. ภาคใต้ 14 จังหวัด 

  • น.ส.ล.สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จำนวน 7,804 แปลง เนื้อที่ 847,974– 3– 06.08 ไร่
  • ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังไม่ได้ออก น.ส.ล. จำนวน 821 แปลง เนื้อที่ 1,467,493 – 0 – 31.40 ไร่

โดยพบพื้นที่ชุมชน ที่มีข้อพิพาทข้อร้องเรียนในการประกาศ น.ส.ล.ทับที่ชุมชน เฉพาะที่เป็นสมาชิกในกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จำนวน 36 กรณี ยังไม่นับรวมที่ชุมชน หรือชาวบ้านเคลื่อนไหวเรียกร้องเอง 

จึงมีข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้รัฐไม่กล้าเพิกถอน น.ส.ล.ในพื้นที่ซึ่งแม้จะมีการตรวจสอบแล้วว่าออกผิดตำแหน่ง เพราะอาจกังวลว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐาน หรือให้มีผลในการเพิกถอนในหลายพื้นที่ตามมาหรือไม่ ?

ต่อประเด็นนี้ ไมตรี จงไกรจักร์ ที่ปรึกษาพีมูฟ และอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ฯ สัดส่วนภาคประชาชน เห็นว่า อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ยังเป็นอุปสรรคและทำให้การเพิกถอน น.ส.ล.มีความล่าช้า แต่หากรัฐบาลจริงใจ และมองการแก้ไขปัญหายึดหลักความเดือดร้อนประชาชนต้องมาก่อน ก็ต้องเร่งแก้ไข และต้องไม่คิดบนข้อกังวลดังกล่าว เพราะการเพิกถอนที่ดิน น.ส.ล.ประกาศผิดตำแหน่ง ทับชุมชนดั้งเดิมนั้น มีกระบวนการขั้นตอนต้องพิจารณาหลายอย่าง เช่น ต้องเป็นชุมชนดั้งเดิม ที่อยู่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งในกรณีชุมชนชาวไทดำ สุราษฎร์ธานี อยู่มาแล้วไม่น้อยกว่า 70 ปี และ มีกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์แล้วว่าที่ดิน น.ส.ล.ออกผิดที่ผิดตำแหน่งจริง และมีกระบวนการขั้นตอนตามระเบียบ ระบบราชการที่บอกว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งทำครบหมดแล้ว  

การรักษาอนุรักษ์ที่สาธารณะทุกคนก็หวงแหนหมด แต่วันนี้ต้องเอาความจริงมาพูดกัน ความผิดการประกาศ น.ส.ล.ที่มันเกิดขึ้นในอดีต เราต้องแก้ไขความผิดนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน และแน่นอนไม่ใช่จะเป็นบรรทัดฐานให้กับทุกแปลงที่มีข้อพิพาท น.ส.ล. สิ่งสำคัญคือต้องแก้ไขให้มันถูกต้อง ไม่กระทบกับประชาชนเมื่อเกิดความผิดพลาดจริง ดังนั้นกระบวนการขั้นตอน มีระยะเวลาขั้นตอนตรวจสอบ ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานให้กับทุกแปลงที่ต้องเพิกถอน ไม่ใช่อย่างนั้นอยู่แล้ว รัฐไม่ต้องกังวล”  

ไมตรี จงไกรจักร์     

สิ่งที่ชาวไทดำ รวมถึงชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาข้อพิพาทที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นความมั่นคงสำคัญในชีวิต คงไม่ได้ต้องการออกมาต่อว่าความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐในอดีต พวกเขาเพียงหวังนำข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาใช้เป็นหลักฐาน นำไปสู่การแก้ไขปัญหา แล้วคืนสิทธิที่ดินให้ชุมชนดั้งเดิม เพื่อยืนยันว่า “พวกเขาเป็นผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก”




Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ