‘ชุมชนวัดถ้ำผาจม’ 1 ใน 4 ชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด หลายครอบครัว ยังคงต้องอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว และคาดว่าจะใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะฟื้นฟูบ้านให้อยู่ในสภาพปกติ
The Active ลงพื้นที่พูดคุยกับ พุธ ใจวงค์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่มา 16 ปี เธอยอมรับน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรง และหนักที่สุด วันแรกที่เธอได้กลับเข้ามาดูบ้าน พบว่า อยู่ในสภาพข้าวของเสียหายทั้งหมด และบ้านอยู่ในสภาพจมโคลน ปิดทางเข้าออกตัวบ้าน ต้องใช้เวลาถึง 2 วันกว่าจะเคลียร์ทางเข้าถึงตัวบ้านได้
แม้จะเผชิญกับความยากลำบาก แต่เธอยังมองในแง่ดี และรู้สึกขอบคุณที่ทุกคนในครอบครัวปลอดภัย ตอนนี้เธอกับลูก ๆ ต้องช่วยกันจัดการโคลนในบ้าน คาดว่าใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน ระหว่างนี้พวกเขาจำเป็นต้องพักในศูนย์พักพิงชั่วคราวไปก่อน
“เห็นบ้านครั้งแรก ตกใจร้องไห้ไป 2 3 วัน ต้องทำใจไม่รู้ทำไง ก็เคลียร์หน้าบ้านก่อนแล้วก็เข้ามาทำในบ้าน คาดว่าต้องใช้เวลาเป็นเดือน ทำมา2 วันได้แค่นี้ อยากให้มีคน หน่วยงานเข้ามาช่วย ต้องฉีดน้ำ ผนัง ต้องฉีดล้างหมด”
พุธ ใจวงค์
มีบ้านอีกหลายหลังที่จมโคลนหลังน้ำลด บางหลังโคลนและขยะปิดทางเข้าออก จนต้องทุบกำแพงบ้านเพื่อเปิดทาง ในเวลานี้ชาวบ้าน แม้จะเป็นผู้ประสบภัย แต่พวกเขาก็ยังหยิบยื่นน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเร่งมือขนโคลนออกจากตัวบ้านให้ทันก่อนที่โคลนจะแห้ง ซึ่งอาจทำให้การทำงานยากขึ้นกว่าเดิมอีก ขณะที่ไฟฟ้าและน้ำประปาก็ไม่ไหล ซ้ำเติมให้การทำความสะอาดบ้านครั้งนี้ยากลำบากมากขึ้น
อาเหมย แซ่ย่าง เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกคน ที่ต้องระดมญาติ ๆ จากพื้นที่อื่นมาล้างบ้าน โดยต้องช่วยกันทำงานแข่งกับเวลา
“ตัวคนเดียวทำไม่ได้ สองคนตายายทำไม่ไหว เอาญาติพี่น้องมาช่วย วันแรก 30 คน วันที่สอง 20 คน ตอนนี้น้ำก็ไม่มี ไฟฟ้าก็ไม่มี อาศัยใช้น้ำป่าอย่างเดียว”
อาเหมย แซ่ย่าง
ขณะที่ ‘บัญฑิตย์ พันธ์พลากร’ สมาชิกสภาเทศบาลเวียงพางคำ บอกว่า ได้ระดมรถแบ็คโฮ รถแทรกเตอร์ จากทั้งหน่วยงานราชการ และอาสาสมัคร เข้ามาช่วยกันโดยเป้าหมายแรกคือการเคลียร์ถนนให้ได้ก่อน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำโคลนออกจากบ้านได้ แล้วเทศบาลจะจัดการโคลนต่อให้
“เริ่มจากทำให้ถนนใช้งานได้ก่อน เพราะเวลานี้กีดขวางทางสัญจร ชาวบ้านจะเข้ามาดูบ้านก็ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็เข้าไม่ถึง การช่วยเหลือก็ทำไม่ได้ ตอนนี้ให้ชาวบ้านขนดินออกมาแล้วเราจะขนไปทิ้งให้ แล้วก็จะเข้ามาช่วยทำความสะอาด ฟื้นฟูคาดว่านาน 2 เดือน”
บัญฑิตย์ พันธ์พลากร
สำหรับโคลนที่ขนออกจากชุมชนเจ้าหน้าที่จะนำมาทิ้งไว้ยัง สุสานแม่สาย ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างตำบลเวียงพางคำ และตำบลป่าเหมือด โดยจะขุดหลุมฝังโคลนและขยะไปพร้อมกัน ขณะที่ดินบางส่วนถูกนำไปถมที่วัดป่าเหมือดรุ่งเจริญ ตามคำร้องขอของเจ้าอาวาส เพื่อใช้เป็นที่จอดรถ และสร้างศาลาสวดศพ บางส่วนนำไปทำคันกั้นดินบริเวณคลองแม่สาย
น้ำใจชาวเชียงราย เปิดที่ดินว่างเปล่า ทิ้งดินโคลนน้ำท่วม
แต่คงไม่ใช่แค่การรอให้หน่วยรัฐเข้ามาจัดการโคลน และขยะเท่านั้น เหตุการณ์น้ำท่วมหนักที่สร้างความเสียหายมหาศาล ยังมาพร้อมกับน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ด้วย
เมื่อโคลน และขยะ เป็นอุปสรรค ยังไร้ที่จัดเก็บ จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ยอมเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน นำดินโคลน และขยะมาทิ้งในที่ดินของตัวเองได้
พิกัด : ตรงข้าม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ชินวิทย์ โสดี เป็นคนหนึ่งที่โพสต์ รับทิ้งดินโคลนจากพื้นที่น้ำท่วม จ.เชียงราย โดยระบุว่า “เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ชาวเชียงราย ใครกำลังหาที่ทิ้งโคลน ผมมีที่อยู่แปลงหนึ่ง จำนวน 15 ไร่ มีบ่อ 4 บ่อ ด้านหน้าติดถนน ขับรถเข้าออกสะดวก ฝั่งตรงข้าม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บ้านดู่ ติด ๆ กับวัดสันต้นกอก ห่างจากตัวเมืองไม่มาก หากใครต้องการทิ้ง ดินโคลน ที่เกิดจากน้ำท่วม ขนไปลงหน้าที่ได้เลยนะครับ เจ้าของที่ยินดีช่วยเต็มที่ครับ โทร. มาที่ผมได้ 092-462-9959”
ชินวิทย์ เปิดใจกับ The Active ว่า เห็นจากโพสต์ของ บก.ลายจุด ที่ถามหา “ใครมีที่ทางในเชียงรายอยากได้ดินโคลนไปถมที่” จึงปรึกษากับพี่ชาย ในเมื่อมีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานาน และที่นั่นมีบ่อน้ำ เป็นที่นาลุ่ม อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นถนน ความคิดแรกคือ อยากช่วยคนขนย้ายดิน ตั้งใจว่าจะช่วยออกค่ารถขนให้ ซึ่งราคาอยู่ที่เที่ยวละประมาณ 400 บาท ให้ขนย้ายดินออกจากพื้นที่มาลงไว้ก่อน แล้วจะดำเนินการปรับพื้นที่ใหม่กันเองในภายหลัง ซึ่งรถในเชียงรายตอนนี้หายากมาก มีคนติดต่อมาเยอะ ก็จะให้ติดต่อรถจากทางหน่วยงานรัฐไปก่อน ส่วนที่ดินหลังจากนี้ ค่อยมาดำเนินการเกลี่ยภายหลัง หรือเอาดินมาถมทับปรับที่ก็ได้ คาดว่าต้องใช้เวลา
“มีคนติดต่อมาเยอะเลยครับ ชาวบ้านเองที่มีที่ดินก็โทรมา เราเหมือนเป็นศูนย์กลางช่วยประสานไปอีกทางด้วย ส่วนเรื่องขยะ เราไม่ได้รู้สึกเป็นกังวล เพราะเตรียมใจกันไว้ตั้งแต่ก่อนประกาศแล้ว เขาคงไม่สามารถคัดแยกได้อยู่แล้ว ก็คงมีทั้งเศษไม้ เศษเหล็ก จึงบอกกับทุกคนว่า ไม่ต้องกังวล ชาวบ้านไม่ต้องห่วงเรื่องต้องมารับผิดชอบพื้นที่ที่เอาดินมาทิ้งเลย ขอแค่ถ้ามีอะไรที่เป็นชิ้นใหญ่ ๆ ให้วางไว้ เดี๋ยวเราเก็บเอง อยากอำนวยความสะดวกให้คนที่ได้รับผลกระทบก่อน เป็นเจตนาที่เราตั้งใจตั้งแต่แรก ”
ชินวิทย์ โสดี
พิกัด : บ้านบ่อทอง อ.เมืองเชียงราย
ส่วนอีกจุดที่เปิดรับดินโคลนมาถมที่ดิน คือ บ้านบ่อทอง อ.เมืองเชียงราย ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.แม่สาย ประมาณ 30 กิโลเมตร โดย ขวัญจิตร ท้าวโยธา ชาวบ้านบ่อทอง ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย บอกกับ The Active เช่นกันว่า เธอเป็นผู้ดูแลที่ดินผืนนี้ ส่วนเจ้าของที่ดินตัวจริงอยู่ที่กรุงเทพฯ และไม่ประสงค์ออกนาม ก่อนตัดสินใจโพสต์รับดินมาถมที่ ได้ปรึกษากันว่าอยากจะช่วยพี่น้องชาว จ.เชียงราย หลังสถานการณ์ดีขึ้น ปัญหาที่พบคือดินโคลนจากภูเขาจำนวนมาก และในสวนมีบ่อปลาขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นบ่อเลี้ยงปลานิล แต่ได้หยุดเลี้ยงไปสักพัก จะมีหญ้าขึ้นรก คิดว่าการให้คนเอาดินมาทิ้งได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่เดือดร้อน แต่ถ้ามีคนอยากเอาดินมาถมจริง เธอจะดำเนินการแจ้งท้องถิ่นต่อไป (ติดต่อ คุณขวัญจิตร โทร. 094-681-3803)
“ไม่แน่ใจว่าการเอารถขนดินเข้ามาในพื้นที่จะลำบากไหม เพราะที่ดินอยู่โซนใน ถ้ามีคนติดต่อมาก็จะแจ้งผู้นำ ผู้ใหญ่บ้านก่อน เพราะทางที่ผ่านมามีหมู่บ้าน”
ขวัญจิตร ท้าวโยธา
พิกัด : บ้านป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว
ไม่ต่างจาก ทับทิม บุญประเสริฐ ชาว จ.เชียงราย ที่อาสารับดินโคลนมาถมที่สวน บ้านป่าก่อดำ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งห่างออกไปจาก อ.แม่สาย แต่อยู่ไม่ไกลจาก อ.เมืองเชียงรายมากนัก เธอ ระบุว่า ที่บ้านสวนมีบ่อใหญ่ ๆ 3 บ่อ พื้นที่เกือบ 10 ไร่ ก่อนหน้านี้เลี้ยงปลา และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงพักบ่อปลาเอาไว้ ประกอบกับราคาปลาไม่ดี ทำให้มีความคิดอยากถมบ่อสัก 2 บ่อมาก่อนหน้านี้ ซึ่งพื้นที่ของเธออยู่ใกล้กับคลองชลประทานน้ำระบายออกได้ดี และอยู่ห่างไกลจากบ้านเรือนและชุมชน ซึ่งเธอเองเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้เช่นกัน เนื่องจากบ้านหลังที่อาศัยอยู่บริเวณ ห้าแยกพ่อขุนเม็งราย อ.เมืองเชียงราย หลังจากน้ำลด พยายามทำความสะอาดบ้าน แต่ดินโคลนไม่มีที่ไป จึงขอร่วมเป็นหนึ่งน้ำใจครั้งนี้ (ติดต่อ คุณทับทิม โทร. 085-033-1784)
“ประสานกับทางผู้ใหญ่บ้าน ก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกังวลเรื่องขยะ แต่ ณ เวลานี้ อยากช่วยให้เอาออกจากพื้นที่ก่อน เราจึงไม่อยากกังวล เพราะน้ำท่วมแล้วลด ทุกคนต้องล้างบ้านเหมือนกัน แต่โคลนก็ไม่ไปไหน ปัญหายังไม่หมดไป แม้ว่าเทศบาลจะเริ่มมีรถเข้าไปตักออกมาบ้างแล้ว ตอนนี้ยังไม่มีใครติดต่อขอมาทิ้ง เขาน่าจะทิ้งในที่ใกล้ ๆ ก่อน”
ทับทิม บุญประเสริฐ
นอกจากนี้ยังมีน้ำใจจากเจ้าของที่ดินอีกหลายคน ที่อาสารับทิ้งดินโคลนจากน้ำท่วม เช่น
- ที่ดินขนาด 136 ตารางวา พิกัด ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย หลังแม็คโคร ใกล้กับร้านคาเฟ่ ใจปัน อยู่บ้านสุขใจซอย 3 หัวมุมถนน สามารถนำดินโครนทรายมาทิ้งไว้ได้ รบกวนช่วยทิ้งให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะเป็นที่ดินในหมู่บ้าน มีบ้านคนอาศัยอยู่ (ติดต่อ คุณเติร์ก โทร. 089-199-5464)
- ที่ดิน 2 ไร่ จุดินได้ประมาณ 200 รถดั้ม อยู่ในหมู่บ้านสันสลี ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ทางเข้าอยู่เส้นบายพาส หน่วยงานไหน หรือใครต้องการทิ้งเศษดินโคลนน้ำท่วม หิน/ดิน/ทราย แต่ไม่ใช่ขยะ สามารถนำมาทิ้งได้ (ติดต่อ คุณครูวราง 089-484-0635 หรือ เทวินทร์ 080-506-9304)
- ที่ดิน 100 ไร่ ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย (ติดต่อ คุณ Pim Jai 082-392-3438)
ถึงตรงนี้จากความเห็นของผู้คนในโลกออนไลน์ บางส่วนก็กังวลว่า “ดินโคลนน้ำท่วม” ไม่ได้มีแค่ดิน แต่จะมีเศษซากอาคารบ้านเรือน ขยะจากน้ำท่วมปะปนมาด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อที่ดินที่นำไปถม และผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเสนอว่า ควรจะมีการศึกษาให้ดี โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งจะต้องจัดหารถสำหรับขนดินออกจากพื้นที่อีกด้วย