รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย กับโอกาสเสี่ยงแผ่นดินไหว สึนามิ

ไม่นานมานี้​หมอดูคนหนึ่งออกมาทำนายว่า จังหวัด ก.ไก่ อาจเกิดสึนามิ ทำให้ประชาชนในจังหวัดที่ขึ้นต้นด้วย ก.ไก่ จำนวนไม่น้อยเริ่มหวาดระแวงว่าจะเกิดภัยพิบัติตามคำทำนาย ในขณะที่นักวิชาการเริ่มออกมาให้ข้อมูลหักล้างคำทำนายว่ามีโอกาสเกิดสึนามิน้อยมาก อีกทั้งปัจจุบันมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าประมาณ 1-2 ชม. ก่อนคลึ่นถึงฝั่ง

จนกระทั่งกลายช่วงบ่ายวันที่ 14 เมษายน 2568 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.5 ความลึก 2 กม. มีจุดศูนย์กลางที่ ต.คลองเขม้า อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ แม้จะรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้แต่ไม่พบความเสียหายร้ายแรง ซึ่งไม่มีการประกาศเตือนภัยสึนามิ แต่ก็ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่แตกตื่นกับเหตุการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ ชื่อของ ‘รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย’ กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกรอบในฐานะจุดกำเนิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ และยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาในรายละเอียดที่ครบถ้วนเพราะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ

ความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ

ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกโดยตรง แต่ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวของแผ่นยูเรเชียและ แผ่นอินโด-ออสเตรเลีย ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวในระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันตกของประเทศ รวมถึงฝั่งอันดามันที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลซึ่งอาจก่อให้เกิดสึนามิได้เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในปี 2547 ดังนั้น ไทยยังคงมีความเสี่ยง และต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง


ไทยมีรอยเลื่อนเสี่ยงมากแค่ไหน และจุดไหนต้องเฝ้าระวัง


ในประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่จัดว่า “มีพลัง” มากกว่า 15 รอยเลื่อน โดยเฉพาะในภาคเหนือ เช่น รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนพะเยา ส่วนภาคตะวันตกมีรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และในภาคใต้ฝั่งอันดามันมีรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยและรอยเลื่อนระนอง จุดที่ควรเฝ้าระวัง คือพื้นที่ที่มีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตและมีรอยเลื่อนตัดผ่านพื้นที่ชุมชนหรือโครงสร้างสำคัญ

รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนระนอง เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน


กลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย ถือว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลังในภาคใต้ มีการเคลื่อนไหวในอดีต โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 มีการศึกษาพบว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีศักยภาพในการเกิดแผ่นดินไหวอีก ความเสี่ยงคือ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อน ถนน หรืออาคารในเขตเมืองชายฝั่ง หากเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล ก็มีโอกาสเกิดสึนามิซ้ำรอย ดังนั้นจึงต้องมีระบบเตือนภัยที่ทันสมัย และแผนรับมือภัยพิบัติที่ครอบคลุม

กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย มีแนวการวางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้าย รอยเลื่อนนี้เริ่มปรากฏในทะเลอันดามันบริเวณทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต และเกาะยาว ในบริเวณอ่าวพังงา รอยเลื่อนยาวต่อเนื่องขึ้นบกบริเวณลำคลองมะรุ่ย อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอท้ายเหมืองของจังหวัดพังงา พาดผ่านต่อเนื่องไปในพื้นที่อำเภอพนม อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอวิภาวดี อำเภอท่าฉาง และอำเภอไชยา ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอปลายพระยา อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ 

รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ถือเป็น 1 ใน 16รอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา เป็นรอยเลื่อนที่วางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ และพาดตัวผ่านหลายจังหวัดของภาคใต้ หากเกิดแผ่นดินไหว และมีการสั่นสะเทือนอาจทำให้จังหวัดใกล้เคียงรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้

The Active รวบรวมข้อมูลจาก กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว พบว่า นอกจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2568 เวลา 14.27 น. ที่ผ่านมา รอยเลื่อนมะรุ่ยเคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้งได้แก่

  • 4 กันยายน 2551 อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ขนาด 3.1
  • 23 ธันวาคม 2551 อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ขนาด 4.1
  • 16 เมษายน 2555 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขนาด 4.3
  • 25 มีนาคม 2558 บริเวณนอกชายฝั่งทางทิศตะวันออกของ จ.ภูเก็ต ขนาด 3.8
  • 7 พฤษภาคม 2558 ในทะเลใกล้เกาะยาว อ.เกาะยาว จ.พังงา ขนาด 4.5

อาจารย์อภิชาติ ชุมคง นักวิชาการภัยพิบัติ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สนส.) กล่าวว่า กรณีรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยตัวที่พาดผ่านลงไปอ่าวพังงาแล้วก็ไปที่เกาะยาวระหว่างเกาะยาวกับเกาะภูเก็ตมันค่อนข้างจะยาวแล้วก็ ถึง 150 กิโลเมตรและเราไม่แน่ใจว่ามันจะยาวไปถึงทางเหนือสุมาตราหรือเปล่า เพราะยังไม่มีการสำรวจ เนื่องจากยังติดปัญหาด้านงบประมาณ

“จริง ๆ แล้วควรต้องจัดสรรงบประมาณมาศึกษา เพราะว่าก็น่าห่วง ​ หากการสำรวจยังไม่ครบก็ไม่มั่นใจว่ามันสามารถเกิดในแนวดิ่งได้ไหม ถ้ามันเกิดในแนวดิ่งได้ หมายความว่า สึนามิ หรือการเกิด โลคอลสึนามิ อาจมีโอกาสเกิดขึ้น ระยะเวลาที่คลื่นกระทบฝั่ง มันใช้เวลา ไม่เกิน 20 นาที ซึ่งอาจอพยพไม่ได้ทั้งหมดโดยเฉพาะ ภูเก็ตฝั่งตะวันออก”

ในอดีตเคยมีงานวิจัยรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยว่าเคยเกิดในอดีตขนาด 6 มาก่อน ซึ่งปัจจุบันไทยควรต้องสำรวจเพิ่มและจับตาเพราะเป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลังที่ต้องเฝ้าระวัง ที่ผ่านมารอยเลื่อนนี้เริ่มแอกทีฟมาต่อเนื่องหลังเกิดแผ่นดินไหวในทะเล เมื่อปี 2547 ที่เราเคยเกิดภัยพิบัติสึนามิใหญ่ แต่หากเราสามารถค้นหาและเฝ้าระวังจะเตรียมพร้อมได้ทันจะลดผลกระทบได้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของฝั่งภูเก็ตที่มีโอกาสเสี่ยงภัยสูง ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินสึนามิใกล้ฝั่งเพียง 20 นาที อาจทำให้การรับมือบนบกไม่ทันการได้


ช่องว่างหลักคือการสำรวจรายละเอียดในระดับพื้นที่ย่อยยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและมีความเปราะบางสูง เช่น แหล่งท่องเที่ยวชายฝั่ง ระบบข้อมูลรอยเลื่อนยังไม่สมบูรณ์ในเชิง GIS และการบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานท้องถิ่นยังน้อย จำเป็นต้องผลักดันให้มีงานวิจัยเชิงลึกเพิ่มเติม สนับสนุนงบประมาณเพื่อการสำรวจภาคสนาม และวางนโยบายระดับประเทศในการบูรณาการงานภัยพิบัติกับการวางผังเมือง รวมถึงการติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว ซึ่งปัจจุบันในภาคใต้ฝั่งอันดามันมีเพียง 15 สถานี

อภิชาติ ชุมคง นักวิชาการภัยพิบัติ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สนส.)


ทางรอดหากเกิดภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหว


การเตรียมความพร้อมคือกุญแจสำคัญ ทั้งในเชิงโครงสร้าง เช่น ระบบเตือนภัย อพยพ โครงสร้างอาคารที่ทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน และในเชิงไม่ใช่โครงสร้าง เช่น การฝึกอบรม ประชาสัมพันธ์ การสร้างความรู้ในชุมชน โอกาสเกิดสึนามิแม้จะไม่บ่อย แต่ผลกระทบรุนแรงมาก จึงควรมีการซ้อมรับมือและวางระบบล่วงหน้าเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันที่เคยได้รับผลกระทบมาแล้ว


กลไกการทำงานของรัฐและท้องถิ่นควรมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ปัจจุบันยังขาดความต่อเนื่องในแผนงาน งบประมาณ และการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ควรมีศูนย์ข้อมูลกลางด้านภัยพิบัติระดับภูมิภาคที่ทำงานตลอดเวลา พร้อมทั้ง ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สามารถวางแผนและรับมือภัยพิบัติได้เองในระดับชุมชน รวมทั้งมีนโยบายระดับชาติที่ให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงมากกว่ารอแก้ไขเมื่อเกิดเหตุ

บทบาทของภาคประชาชนและภาคเอกชนในการเตรียมพร้อม

  1. เรียนรู้ความเสี่ยง – เข้าใจภัยแผ่นดินไหว/สึนามิ และสัญญาณเตือนภัย
  2. เตรียมพร้อมในบ้าน – มีแผนอพยพ กระเป๋าฉุกเฉิน และซ้อมร่วมกัน
  3. ร่วมมือกับชุมชน – เข้าร่วมฝึกซ้อมและเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ
  4. สื่อสารข้อมูล – เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

สำหรับ แนวทางเตรียมตัวของภาคเอกชนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวและสึนามิ เชิงโครงสร้าง ตรวจสอบและเสริมความแข็งแรงของอาคารให้ทนแรงสั่นสะเทือน ออกแบบสิ่งปลูกสร้างให้มีทางหนีภัยและพื้นที่ปลอดภัยติดตั้งระบบเตือนภัยและไฟสำรองในอาคาร

ด้านแผนฉุกเฉิน จัดทำแผนเผชิญเหตุชัดเจน เช่น เส้นทางอพยพ จุดรวมพล และผู้รับผิดชอบ ฝึกซ้อมอพยพเป็นประจำ เพื่อให้พนักงานรับมือได้ทัน เตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน เช่น วิทยุสื่อสาร ชุดปฐมพยาบาล น้ำดื่ม


กรณีศึกษาจากต่างประเทศการมีส่วนร่วมทำให้ระบบรับมือภัยพิบัติเข้มแข็งขึ้น


ภาคีหลายฝ่ายระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน ทำให้ การเตือนภัย-การอพยพ-การฟื้นฟู เกิดระบบการรับมือที่เข้มแข็ง
และมีความยืดหยุ่น นำไปสู่การฝึกซ้อมและวางแผนร่วมกันล่วงหน้า คือหัวใจของ “ความพร้อม” โดยสามารถนำไปเปรียบเทียบกับระบบของต่างประเทศ ช่น

  • ญี่ปุ่น : โมเดลการร่วมมือในระบบเตือนภัยสึนามิภาครัฐจัดตั้ง ศูนย์เตือนภัยกลาง (JMA) ทำงานร่วมกับนักวิจัย, อปท., บริษัทโทรคมนาคม และชุมชนภาคเอกชน (เช่น โรงแรม, ห้างสรรพสินค้า) มีแผนอพยพเฉพาะขององค์กร และฝึกซ้อมสม่ำเสมอประชาชนมีส่วนร่วมผ่าน การฝึกซ้อมระดับเมืองทุกปี และโครงการ “โรงเรียนปลอดภัย”
  • นิวซีแลนด์ : Christchurch หลังแผ่นดินไหวปี 2011 รัฐบาลท้องถิ่นจับมือกับภาคธุรกิจและ NGO สร้าง โครงการ “Resilient Greater Christchurch” มีการวางแผนฟื้นฟูโดยเปิดเวทีฟังเสียงชุมชนกว่า 100 เวทีธุรกิจในพื้นที่เสี่ยงปรับปรุงอาคารตามโค้ดใหม่ พร้อมจัดตั้ง แผนธุรกิจต่อเนื่อง (BCP)
  • ชิลี: ระบบเตือนภัยร่วมภาครัฐ-เอกชนหลังแผ่นดินไหวและสึนามิ รัฐประสานความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ มือถือ และวิทยุท้องถิ่น กระจายการเตือนภัยโรงงานและอุตสาหกรรมในเขตชายฝั่งมี เส้นทางอพยพและจุดรวมพลในแผนผังโรงงานมีระบบ “ชุมชนเตือนภัยตนเอง” ที่คนในท้องถิ่นช่วยกันเฝ้าระวังและแจ้งเตือนล่วงหน้า เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนจริง ๆ ให้ชาวบ้านทุกกลุ่มได้ร่วมอพยพ ไม่ใช่แค่ดูกลุ่มเปราะบาง (ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ) ต้องมีแผนเฉพาะ มีระบบประเมินผลหลังการฝึกซ้อม และนำบทเรียนมาแก้ไขแผนฉุกเฉิน


โดยสรุป ประเทศไทยเริ่มต้นได้ดีในบางพื้นที่ แต่ยังไม่ครอบคลุมและไม่ลึกพอ รวมถึงยังไม่มีการการฝึกซ้อมที่มีประสิทธิภาพ และควรบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมพร้อมจำลองสถานการณ์จริง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม

อีกประเด็นที่สำคัญคือการสร้างความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการรับมือภัยพิบัติภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือประสบการณ์จากคนในพื้นที่สามารถนำมาใช้ในการเตรียมความพร้อมโดย

  1. ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นตัวเสริมการเตือนภัย ชาวบ้านในบางพื้นที่มี สัญญาณธรรมชาติที่ใช้สังเกตได้ เช่น พฤติกรรมสัตว์ น้ำทะเลเปลี่ยนสี คลื่นซัดผิดปกตินำองค์ความรู้เหล่านี้มาผนวกกับ ระบบเตือนภัยสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มความแม่นยำและสร้าง ความเชื่อมั่น
  2. กำหนดเส้นทางอพยพโดยอิงจากสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่คนในพื้นที่รู้จักดีใช้เส้นทางที่ชาวบ้านคุ้นเคย เช่น ทางเดินริมสวน ทางขึ้นเขา วัด หรือศาลาที่ปลอดภัย ชาวบ้านร่วมออกแบบแผนที่ภัยพิบัติของตนเอง (Community Hazard Map)
  3. ประยุกต์การฝึกซ้อมให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ผสมผสาน ประเพณีท้องถิ่น เช่น งานประจำปี หรือกิจกรรมโรงเรียน เพื่อแทรกการฝึกซ้อมหนีภัย ใช้ ภาษาและสื่อท้องถิ่น เช่น ลิเก หนังตะลุง เพลงพื้นบ้าน ในการสื่อสารเรื่องภัยพิบัติ
  4. ส่งเสริมบทบาทผู้นำชุมชนและปราชญ์ท้องถิ่น ให้ผู้นำชุมชนมีบทบาทใน การสื่อสารความเสี่ยงและจัดการฝึกซ้อม ใช้ความน่าเชื่อถือของผู้สูงวัยในชุมชนในการถ่ายทอดความรู้และกระตุ้นการมีส่วนร่วม

ประเทศไทย มีการฝึกซ้อมภัยพิบัติอยู่บ้างโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสึนามิ เช่น จังหวัดพังงา ภูเก็ต ระนอง กระบี่ ตรัง สตูลมีการซ้อม อพยพสึนามิระดับจังหวัด (เช่น ที่เขาหลัก และเกาะพีพี) การฝึกซ้อมมักจัดโดย ปภ. / อบจ. / ท้องถิ่น ร่วมกับ หน่วยงาน เช่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัด เช่น: ครอบคลุมพื้นที่ไม่ทั่วถึง (บางชุมชนชายฝั่งหรือเกาะเล็ก ๆ ไม่ได้ฝึกซ้อมเลย) ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและประชาชนบางกลุ่มการฝึกซ้อมยังเน้นตามบทบาทราชการ มากกว่าการซักซ้อมสถานการณ์จริงที่ซับซ้อน


การฝึกซ้อมที่มีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร

  • ฝึกแบบบูรณาการหลายภาคส่วนรัฐ เอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น โรงเรียน โรงแรม และชุมชน ต้องร่วมกันฝึกซ้อม ไม่ใช่แค่ “สั่งอพยพ” แต่มีบทบาทจำลองเช่น การช่วยเหลือคนเจ็บ การสื่อสารฉุกเฉิน การปิดถนน
  • จำลองสถานการณ์ให้ใกล้เคียงจริง ฝึกในเวลาที่ “ไม่รู้ล่วงหน้า” เช่น จำลองการเกิดเหตุกลางคืนหรือช่วงคนกำลังนอน
    มีบททดสอบหลากหลาย เช่น ระบบเตือนภัยล่ม การสื่อสารขัดข้อง หรือเกิดแผ่นดินไหวก่อนสึนามิ
  • เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนจริง ๆ ให้ชาวบ้านทุกกลุ่มได้ร่วมอพยพ ไม่ใช่แค่ดูกลุ่มเปราะบาง (ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ)
    ต้องมีแผนเฉพาะ มีระบบประเมินผลหลังการฝึกซ้อม และนำบทเรียนมาแก้ไขแผนฉุกเฉิน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์