จากคำทำนายของหมอปลายที่ระบุว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใต้น้ำและอาจเกิดสึนามิบริเวณจังหวัดที่ขึ้นต้นด้วย “ก.ไก่” ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม จนมีตั้งคำถามว่าจังหวัด ก.ไก่ ที่ว่าคือจังหวัดไหนและ มีโอกาสความเป็นได้ที่จะเกิดภัยพิบัติได้มากน้อยแค่ไหน ศาสตราจารย์ สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ “มิตรเอิร์ธ” ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ให้ความเห็นกับ The Active ในประเด็นนี้ด้วยเหตุผลและมุมมองจากทางฝั่งวิทยาศาสตร์
ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ
“ในทางธรณีวิทยา รวมทั้งวิทยาศาสตร์แขนงอื่น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่หมอปลายทำนาย” อาจารย์สันติกล่าว “คำทำนายที่ว่าจังหวัด ก.ไก่ จะแยกผ่ากลาง แผ่นดินยุบลงไปแล้วน้ำเข้ามา ถ้าเป็นเรื่องจริงผมยกมือไหว้ท่วมหัวเลย เพราะจากความรู้ทางวิชาการที่เรียนมา ไม่มีข้อมูลสนับสนุนเรื่องแบบนี้เลย”
#หมอปลายพรายกระซิบ ได้มีการทำนายภัยพิบัติไว้ในรายการ แฉ โดยมีใจความว่า “จังหวัด ก.ไก่ ยังมาอีก ซึ่ง ก.ไก่ อาจจะไม่ใช่ ก.ไก่ ที่ปลายเคยพูด แต่เป็น ก.ไก่ อยู่แถว ๆ ปลาย ๆ ท้าย ๆ เลย”
“ตรงนั้นน่ะ ระวังเรื่องน้ำ และมีสิทธิที่จะแยกผ่ากลาง ประมาณไม่เกินสิงหาค่ะ” “อาจจะเกิดคล้ายกับคำว่า สึนามิ เป็นผลมาจากแผ่นดินไหว มาจากการปะทุจากใต้น้ำ ไม่ใช่ปะทุขึ้นฟ้า” “ตรงนั้นเป็นรอยตรงกลางแล้วถือว่าเป็นส่วนที่บางที่สุด”
หมอปลายกล่าวเพิ่มถึงแผ่นที่แยกออกว่าจะอยู่ใต้ผิวดิน “มันเป็นข้างใต้ค่ะไม่ใช่ข้างบน บ้านที่อยู่แนวนั้นรู้เลยว่า หลังคาทรุด อาจจะมองว่า ก่อสร้างไม่ดี หรือมองว่าฝนตกแล้วดินทรุดเฉย ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันลึกกว่าชั้นดิน”
อาจารย์สันติ ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าคำทำนายดังกล่าวเป็น “แฟนตาซีสุด ๆ” แต่อธิบายว่าภาคใต้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิได้ในบริเวณเขตรอยเลื่อนสุมาตรา-อันดามัน เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในปี 2004 แต่โอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่เช่นนั้นซ้ำมีน้อยมาก
ประชาชนไม่ควรกังวล
“โอกาสที่จะเกิดสึนามิรุนแรงเหมือนครั้งที่แล้วมีน้อยมาก และปัจจุบันเรามีระบบเตือนภัยที่สามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้าประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมงก่อนคลื่นจะขึ้นฝั่ง” อาจารย์สันติอธิบาย
สำหรับพื้นที่เสี่ยงในประเทศไทย มีรอยเลื่อนสำคัญที่พาดผ่านจังหวัดที่ขึ้นต้นด้วย ก.ไก่ ได้แก่:
- จังหวัดกระบี่: รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
- จังหวัดกาญจนบุรี: รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
ขณะที่กาฬสินธุ์และกรุงเทพมหานคร ไม่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน
เพื่อขยายความเรื่องรอยเลื่อน อาจารย์สันติชี้ให้เห็นว่า จาก 16 รอยเลื่อนในประเทศไทย และ 55 รอยเลื่อนรอบบ้าน ฟังดูเหมือนจะเยอะ ดูจากตัวเลขแล้วอาจจะน่ากังวล แต่จริง ๆ แล้วรอยเลื่อนเหล่านี้ไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวบ่อย
“ในบรรดารอยเลื่อน 55 มีตัวตนจริง ๆ แต่กิจกรรมภาพรวม เป็นกิจกรรมที่ต่ำมาก โดยเฉพาะรอยเลื่อนในประเทศไทย”
“พูดง่าย ๆ ดุน้อยมาก หรือต่อให้มันดุแค่ไหน แค่การก่อสร้างทำตามกฎหมายที่บังคับไว้ ก็ปลอดภัยอยู่แล้ว”
“ในเรื่องแผ่นดินไหว ประชาชนไม่ควรกังวลอะไรเลย การกังวลมากเกินไปไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว “ความน่ากังวลเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐประเมินอยู่แล้ว และที่หน้าที่จากภาครัฐที่ควรออกมาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุม”
สิ่งที่ภาครัฐอาจจะยังต้องพิจารณาเพิ่มเติม ในมุมมองของเจ้าของเพจ มิตรเอิร์ธ นั่นคือการอพยพจากภัยพิบัติ ที่อาจจะต้องมีแผนสำหรับเหตุการณ์ภัยที่อาจจะเกิดในช่วงกลางคืน ที่คนไทยยังไม่คุ้นชินและอาจจะทำให้การอพยพเกิดไม่ทัน หรือแผนอพยพทั่วไปยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเปราะบาง หรือคนเหล่านั้นยังไม่สามารถเข้าถึงแผนหรือวิธีการอพยพได้
“พี่ก็ชี้ประเด็นไปหลายวง เรายังไม่มีโปรโตคอลสำหรับเด็กในห้องคลอด บ้านพักคนชรา อาม่าในครอบครัว ญี่ปุ่นเขาทำแผนไว้ อย่างครอบครัวนี้มีอาม่า มีเด็กอ่อนจะทำอย่างไร พอถึงวันนั้น จะได้รู้ว่าพวกเราทำหน้าที่ วางแผนการอพยพไว้สมบูรณ์แล้ว”
ฟังหมอก็กลัว อ่านข้อมูลก็กลัว จริง ๆ แล้ว ต้องกลัวไหม
อาจารย์สันติชี้ว่า โอกาสการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 7.7 ในฝั่งสุมาตราน้อยมาก และหากเกิดขึ้น อาจารย์ก็มองว่า ประเทศไทยพร้อมรับมือเหตุการณ์นี้แล้ว
“พี่จะขอตอบว่า ประเทศไทยพร้อมแล้ว ไม่ได้โลกสวย”
“แผ่นดินไหว 7.7 ที่ผ่านมามันรุนแรง แล้วกรุงเทพร่วงแค่ตึกเดียว ถ้าญี่ปุ่นโดนก็มีร่วงเหมือนกัน เฮย์ติแผ่นดินไหว 7.0 เสียชีวิต 230,000 คน กรณีปากีสถาน เมืองล้มระเนระนาด ต้องฟื้นฟูใหม่ปีสองปี ประเทศไทยถือว่าสอบผ่านมาก”
ส่วนของภัยสึนามิ ด้วยธรรมชาติของสึนามิ ทำให้นักวิชาการสามารถเตือนภัยได้ก่อนสึนามิขึ้นฝั่งประมาณ 1.30 – 2.00 ชั่วโมง และประเทศไทยมีเครื่องมือและการเตรียมการที่พร้อมมากกว่ากรณีสึนามิปี 2004 อยู่แล้ว นั่นแปลว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามจะไม่หนักเท่ากับกรณีปี 2004
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล “หาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล” อาจารย์สันติกล่าว “สิ่งที่หมอปลายพูดไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ด้วยความเคารพ วิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกเวลาการเกิดภัยได้แม่นยำขนาดนั้น”
“ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษา ผมขอแนะนำให้เชื่อความเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์” อาจารย์สันติกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ The Active รวบรวมข้อมูล สถิติย้อนหลังว่า จำแนกว่า จังหวัด ก.ไก่ ในประเทศไทย เคยเจอภัยอะไรบ้าง เริ่มจาก
กรุงเทพฯ
เหตุการณ์ล่าสุดที่สะเทือนความรู้สึกคนกรุงเป็นอย่างมาก คือผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ส่งผลให้อาคารหลายแห่งได้รับความเสียหาย และอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทรุดถล่มพังทั้งตึก ปฏิบัติค้นหาผู้สูญหายยังดำเนินการต่อเนื่องตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาสู่การตั้งคำถามสำคัญมากมาย
อีกหนึ่งภัยพิบัติในความทรงจำคนกรุงเทพฯ คือน้ำท่วมปี 2554 ที่ส่งผลกระทบ 74 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับกรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยเผชิญน้ำท่วมแบบวงกว้างและระยะเวลานานนับเดือน นับว่าหนักสุดในรอบ 70 ปี มีพื้นที่ประสบภัย 36 เขตจากทั้งหมด 50 เขต โดยประกาศพื้นที่อพยพ 17 เขต เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ประสบภัยในกรุงเทพฯ มากกว่า 8 แสนครัวเรือน
กระบี่
คลื่นยักษ์สึนามิปี 2547 ซัด 6 จังหวัดภาคใต้ รวมถึง จ.กระบี่ ที่มีผู้เสียชีวิต 693 คน สูญหาย 776 คน บาดเจ็บ 1,376 คน บ้านเรือนเสียหาย 394 หลัง เรือ 1,044 ลำ มูลค่าความเสียหายของสถานประกอบการรวม 2,683.65 ล้านบาท
จ.กระบี่ ยังมีเหตุธรณีพิบัติเกิดขึ้นหลายครั้ง กรมทรัพยากรณีบันทึก 19 เหตุการณ์ในช่วงปี 2547 – 2566 ครั้งที่สูญเสียมากที่สุดเกิดขึ้นในปี 2554 ฝนที่ตกหนักทำให้หลายหมู่บ้านใน อ.เขาพนม จ.กระบี่ เกิดน้ำท่วมและดินโคลนถล่มจนเสียหายอย่างหนักและผู้เสียชีวิต 12 คน
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ถือเป็นเหตุอุทกภัยที่รุนแรงมากอีกครั้งหนึ่งของไทย ที่การจัดการสาธารณภัยถูกยกระดับเป็นสาธารณภัยระดับ 3 ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางใน 12 จังหวัด ประชาชนกว่า 1.8 ล้านคนต้องเดือดร้อน มีผู้เสียชีวิตมากถึง 95 คน โดย 3 คนอยู่ใน จ.กระบี่
ปี 2562 เป็นอีกครั้งที่ภาคใต้ต้องเผชิญวาตภัย เมื่อ “พายุปาบึก” เคลื่อนผ่านไทย ซึ่งนับเป็นพายุโซนร้อนที่ก่อตัวเร็วที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ (ตามสถิติขณะนั้น) และยังกระทบไปถึงภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่างที่ติดชายฝั่งทะเลอีกด้วย รวมแล้วมี 23 จังหวัดและประชาชนมากกว่า 8.7 แสนคนได้รับผลกระทบ ส่วน จ.กระบี่ มีฝนตกหนักใน 8 อำเภอ น้ำเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และมีบ้านเรือนเสียหาย 5 หลัง
กาญจนบุรี
เริ่มต้นปีนี้ไม่เท่าไหร่ก็เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนใน อ.ไทรโยค 75 หลังเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ถนนหลายเส้นทางถูกตัดขาด การช่วยเหลือประชาชนออกจากพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก
ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนก็มีน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ จนมีการประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพื้นที่ประสบสาธารณภัย 5 อำเภอ ผู้ประกอบการกระชังปลาได้รับผลกระทบ 133 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 235 ล้านบาท
นอกจากน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากที่มักประสบอยู่เนือง ๆ กาญจนบุรีเคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวหลายเหตุการณ์ ล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2566 จำนวน 7 เหตุการณ์ เกือบทั้งหมดมีจุดศูนย์กลางใน ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ ส่วนใหญ่เป็นการสั่นไหวขนาดเล็ก
จ.กาญจนบุรี มีรอยเลื่อนพาดผ่าน 2 รอยเลื่อนด้วยกัน คือ กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ที่เริ่มตั้งแต่ประเทศเมียนมา มาถึง จ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.อุทัยธานี และจ.สุพรรณบุรี ขนานตัวกับแม่น้ำแควใหญ่ ความยาว 220 กิโลเมตร และกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ที่พาดผ่านประเทศเมียนมา และ จ.กาญจนบุรี ขนานตัวกับแม่น้ำแควน้อย ความยาว 200 กิโลเมตร
ปี 2566 นี้ยังเกิดหลุมยุบถึง 11 หลุมที่ อ.ทองผาภูมิ บางหลุมมีความลึกมากกว่า 50 เมตร ซึ่งทำให้ช้างป่าตกลงไปตายราว 4-5 ตัว
กาฬสินธุ์
จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี โดยพายุหลายลูกในปี 2560 ส่งผลกระทบไม่น้อย มวลน้ำเข้าท่วมพื้นที่ 272,405 ไร่ เขื่อนลำปาวมีปริมาณนํ้าไหลลงเขื่อนสะสมและปริมาณน้ำระบายสะสมมากที่สุดในรอบ 10 ปี
ขณะที่น้ำท่วมปี 2562 ก็เสียหายไม่แพ้กัน พื้นที่ท่วม 330,220 ไร่ เดือนร้อนประชาชน 210,787 คน ที่อยู่อาศัยเสียหาย 3,018 หลัง ถนนและสะพานมากถึง 1,078 แห่ง
ปี 2564 พายุฤดูร้อนทำให้เกิดวาตภัย พัดทำบ้านเรือนเสียหาย 17 ครัวเรือน ยังไม่รวมถึงพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่เสียหาย
กำแพงเพชร
ปี 2545 เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำสาขา ทำ จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็น 1 ใน 58 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ประชาชน 75,906 คน 20,116 ครัวเรือนต้องเดือดร้อน พื้นที่เกษตรเสียหาย 171,511 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 96 ล้านบาท ในระยะเวลาประสบภัยราว 1 เดือนครึ่ง
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมปี 2560 ส่งผลต่อหลายภูมิภาค เพราะมีพายุที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยถึง 10 ลูกในปีเดียว รวมถึง จ.กำแพงเพชร ที่ถูกน้ำท่วม 458,940 ไร่ แต่ยังน้อยกว่าเหตุน้ำท่วมปี 2554 ที่กินพื้นที่ไป 992,026 ไร่
ย้อนดูน้ำท่วม จังหวัด ก.ไก่ “กาฬสินธุ์” บ่อยสุด
ประเทศไทยมีน้ำท่วมแทบทุกปี รวมถึงบางจังหวัด ก.ไก่ ที่เมื่อดูข้อมูลปี 2562 – 2567 พบว่า จ.กาญจนบุรี และ จ.กาฬสินธุ์ มีน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก ทั้ง 6 ปี รองลงมาคือ จ.กระบี่ จ.กำแพงเพชร 5 ปี และ กรุงเทพฯ 3 ปี
เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของ 5 จังหวัด เห็นได้ว่าต้องเฝ้าระวังมากที่สุดใน จ.กาฬสินธุ์ กระทบทั้งชีวิตและพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนมาก ทั้งยังมีแนวโน้มมากขึ้น รวมถึง จ.กำแพงเพชร ที่มักสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนมาก โดยเฉพาะนาข้าว ส่วน จ.กาญจนบุรี แม้จะมีเหตุน้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี แต่มีแนวโน้มความเสียหายลดลง


อย่างไรก็ตาม หากมองสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวม สถานการณ์ในจังหวัด ก.ไก่ ไม่ได้รุนแรงที่สุด
ล่าสุด ปี 2567 ทั่วประเทศมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งสิ้น 6,209,192 ไร่ ในกลุ่มจังหวัด ก.ไก่ จ.กาฬสินธุ์ น้ำท่วมมากที่สุดคือ 30,956 ไร่ คิดเป็น 0.50% ของทั่วประเทศ และ จ.กำแพงเพชร ท่วม 10,607 ไร่ คิดเป็น 0.17% ขณะที่กรุงเทพฯ กระบี่ ไม่มีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเลย นอกจากนี้ จ.กระบี่ ยังมีฝนตกน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ น้อยกว่าปกติ 20.39%

แต่ปีนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มฝนมากกว่าปกติ 17% โดยฝนอาจทิ้งช่วงราวกรกฎาคมถึงกันยายน ก่อนจะกลับมาตกมากอีกครั้งในช่วงตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะมีฝนมากกว่าค่าปกติ 29% ดังนั้นคงไม่ใช่แค่จังหวัด ก.ไก่ ที่ต้องเตรียมพร้อม แต่เราต้องตื่นตัวกันทุกจังหวัด
แผ่นดินไหว “กาญจนบุรี” มากสุด แต่ขนาดเล็ก
จากการรายงานการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ปี 2566 ของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ทั้งหมด 1,164 เหตุการณ์ พบว่าใน 5 จังหวัด ก.ไก่ มี 3 จังหวัดที่เป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดย จ.กาญจนบุรี เกิดเหตุมากที่สุด
กาญจนบุรี 7 เหตุการณ์
- 7 ม.ค. 66 ขนาด 1.6 ความลึก 4 กิโลเมตร ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์
- 17 ก.พ. 66 ขนาด 2.1 ความลึก 1 กิโลเมตร ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์
- 22 เม.ย. 66 ขนาด 2.2 ความลึก 1 กิโลเมตร ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์
- 25 พ.ค. 66 ขนาด 2.8 ความลึก 2 กิโลเมตร ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์
- 7 มิ.ย. 66 ขนาด 1.9 ความลึก 8 กิโลเมตร ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์
- 19 พ.ย. 66 ขนาด 4 ความลึก 6 กิโลเมตร ต.หนองลู อ.สังขละบุรี
- 1 ธ.ค. 66 ขนาด 2.3 ความลึก 1 กิโลเมตร ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์
กระบี่ 2 เหตุการณ์
- 16 ม.ค. 66 ขนาด 2.3 ความลึก 7 กิโลเมตร ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึกเหนือ
- 16 ม.ค. 66 ขนาด 1.1 ความลึก 5 กิโลเมตร ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึกเหนือ
กำแพงเพชร 1 เหตุการณ์
- 25 ม.ค. 66 ขนาด 2.1 ความลึก 1 กิโลเมตร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน
- 29 มิ.ย. 66 มีรายงานความเสียหายจากแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลาง จ.พิษณุโลก มีบ้านใน จ.กำแพงเพชร แตกร้าว
ขณะที่กรุงเทพฯ มีรายงานรับรู้การสั่นไหวจำนวนมากจากแผ่นดินไหวขนาด 6.0 นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 66
ส่วนปี 2567 มี จ.กาญนบุรี เป็นจังหวัด ก.ไก่ จังหวัดเดียวที่เป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยเกิดเหตุ 6 เหตุการณ์
8 มีนาคม 2567 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ขนาด 1.9 ลึก 1 กม.
14 พฤศจิกายน 2567 ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขนาด 2.2 ลึก 1 กม.
18 พฤศจิกายน 2567 ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขนาด 1.3 ลึก 2 กม.
30 พฤศจิกายน 2567 ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขนาด 2.2 ลึก 2 กม.
2 ธันวาคม 2567 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขนาด 1.6 ลึก 1 กม.
7 ธันวาคม 2567 ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขนาด 2.3 ลึก 3 กม.
และปี 2568 ข้อมูลถึงเดือนกุมภาพันธ์ พบว่าเกิดขึ้นกับ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ขนาด 2.3 ลึก 2 กม. ที่ ต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก ส่วนจังหวัด ก.ไก่ อื่น ๆ ยังไม่พบเกิดเหตุ
35% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงตลอดช่วงระยะเวลา 20 ปีนี้ (ปี 2547 – 2566) คือขนาด 2.0-2.9 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก โดยแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศไทยที่รุนแรงที่สุดในปัจจุบัน คือเหตุแผ่นดินไหว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 เกิดอาฟเตอร์ช็อก 1,254 ครั้ง บ้านเรือนเสียหาย 11,173 หลัง มูลค่าความเสียหาย 781 ล้านบาท นับเป็นเหตุการณ์ที่คนแม่ลาวยังจำได้ไม่ลืม
ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติพร้อมแค่ไหน
ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในเวลานี้น่าจะอยู่ที่ความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยเฉพาะ “ระบบแจ้งเตือน” ที่จะช่วยลดความสูญเสียหากเกิดภัยพิบัติขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม พื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติสึนามิของไทย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และ สตูล ครอบคลุมพื้นที่ 27 อำเภอ 102 ตำบล 509 หมู่บ้าน ปัจจุบันหลายพื้นที่มีการพัฒนาระบบเตือนภัยต่อเนื่อง และมีการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยต่าง ๆ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความพร้อมเผชิญเหตุมากน้อยแค่ไหน
รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของ “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ที่รับข้อมูลและข่าวสารจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ ทุ่นตรวจวัดสึนามิ และข้อมูลจากเครือข่ายฯ ในพื้นที่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และตัดสินใจ โดยใช้ความรู้ทางเทคนิค หรือผู้เชี่ยวชาญเกณฑ์การพิจารณาการประเมินสถานการณ์ แจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยว่าพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการซ้อมอพยพอย่างเป็นระบบ
ช่วงจังหวะเวลานี้ที่น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะปลุกให้สังคมเปลี่ยนจาก ‘ความตื่นตระหนก’ มาเป็น ‘ความตระหนัก’ และได้ย้อนกลับมาทบทวนให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบแจ้งเตือน ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่ไม่รู้ว่าจเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนรอย สึนามิ 2547 คลื่นยักษ์ซัดไทย เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
- ครบรอบ 20 ปีสึนามิ ทุ่นเตือนภัยไทยพร้อมยัง ?
- 20 ปี สึนามิ : อุปกรณ์เตือนภัย – อาคารหลบภัย พร้อมไหม ?
- ไทยเสี่ยงเกิดสึนามิ ในอนาคตอันใกล้ วิเคราะห์ ‘จุดอ่อน’ ปรับ ‘นโยบาย’ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
- กฎหมายการจัดการภัยพิบัติของไทย… มาไกลแค่ไหน ?
- ไทยตามหลังหรือไม่? เปรียบเทียบระบบป้องกันภัยพิบัติที่รอบด้านจากรอบโลก
- สมุดปกแดง ลายแทงสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด
- ติดตามนโยบาย การจัดการภัยพิบัติ ใน Policy Watch Thai PBS
- ติดตามนโยบาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน Policy Watch Thai PBS
- 20 ปี ไทยสูญเสียจาก ‘ภัยพิบัติ’ แค่ไหน ในวันที่โลกกำลังเผชิญกับความรุนแรงจาก ‘โลกรวน’