ชำแหละแนวคิด BCG
กระบวนการสร้างความชอบธรรมกลุ่มทุน
วาระการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) กำลังจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจ ในวันที่ 16-18 พ.ย. นี้ ที่กรุงเทพมหานคร โดยประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุม ภายใต้การโหมโฆษณาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับทุกภาคส่วนในสังคม แต่ในมุมขององค์กรภาคประชาชนสังคมที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมความหลากหลายทางชีวภาพ และข้อตกลงระหว่างประเทศ… กลับไม่คิดอย่างนั้น
“ไม่เน้นกำไร เน้นรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” คือ หลักใหญ่ใจความของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยการประชุมครั้งนี้ไทยได้นำโมเดล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว(Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลัก ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอข้อมูลอีกชุด ผ่านเวทีเสวนา “ชำแหละและวิพากษ์แผนปฏิบัติการ BCG ในเวที #APEC2022 เพื่อผลประโยชน์ใคร ?” ที่องค์กรภาคประชาสังคมจัดขึ้น ฉายเบื้องภาพในอีกมุมหนึ่ง
วาระที่ไม่ได้มีประชาชนเป็นหนึ่งในนั้น
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน FTA Watch กล่าวถึงการประชุม APEC ว่า โดยปกติเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับ APEC เท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นความร่วมมือ ที่ไม่ได้มีข้อผูกมัด เป็นเวทีที่บรรดานักธุรกิจ และผู้นำเศรษฐกิจเดินทางมาคุยกัน และที่ผ่านมามักเป็นพื้นที่ซึ่งกลุ่มทุนขนาดใหญ่สอดแทรกประเด็นของตนเองเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าการประชุมนั้นสำคัญ ขนาดต้องลงไปดู ต่างจากข้อตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ แต่การเข้ามาเจาะลึกในรายละเอียด เกิดขึ้นจากความตั้งใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่น่าชื่นชม
“ทั้งกลุ่มราษฎร ทะลุฟ้า และกลุ่มต่าง ๆ ได้มาชวนองค์กรภาคประชาสังคมให้ลงไปดูว่า มันไม่มีอะไรผิดปกติจริงหรือ เมื่อไปดูข้อมูลจึงได้พบว่ามีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเฉพาะ หากไม่ได้สนใจ หรือติดตามข้อมูล อ่านไปแล้วอาจจะไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร และจะมีผลอย่างไร”
กรรณิการ์ เล่าย้อนว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลไทยโดยคณะรัฐมนตรี ได้เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพ APEC โดยมีร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 วงเงินรวม 40,972.60 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม การสร้างคุณค่า (Value Chain) จากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม รวมทั้งการสร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ มีตัวชี้วัด
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
หนึ่งในวาระที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือความพยายาม ของรัฐ และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ต้องการแก้กฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อเป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 ก็มีความพยายามนี้มาโดยตลอด ซึ่งไม่ได้สนใจ หรือใส่ใจกับสุขภาพ สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนแม้แต่น้อย และครั้งนี้ก็หวังใช้เวที APEC สร้างความชอบธรรมให้กับความพยายามนั้น
“APEC เป็นเวทีระหว่างประเทศในรอบ 2 ทศวรรษ ที่ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้นเลย แต่ว่าด้วยเรื่องรัฐและทุนอย่างเดียว แม้จะแต่งตัวให้ดูสวยงาม สุดท้ายมันคือการฟอกเขียว”
“ไทยแลนด์แดนขยะ” เมื่อรัฐไทยอ้าแขนรับการนำเข้าขยะสู่ประเทศ
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ย้อนรอยว่านับตั้งแต่ประเทศไทยทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น นั้นมีปริมาณขยะที่นำเข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในโมเดล BCG จะไม่ใช่แค่บางประเทศที่อยู่ในข้อตกลง หลังจากที่จีนมีนโยบายปิดประเทศห้ามนำเข้าขยะเท่านั้น แต่อาจหมายถึงขยะทั่วโลกที่จะเข้าสู่ประเทศไทย และตอนนี้ก็มีบางบริษัทที่หมายตาขยะจากทั่วโลก เพื่อนำเข้ามาจัดการในประเทศไทยแล้ว
“ถ้าเจรจาในเวที APEC สำเร็จ ประเทศไทยจะเปิดรับขยะจากต่างประเทศมารีไซเคิลมากขึ้น โดยไม่ได้มองว่าภายในมันเน่าแค่ไหน และประชาชนต้องอยู่กับอะไร”
เพ็ญโฉม ตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามต้องการเอาของเสียมาแปลงร่าง เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ โดยใช้แนวคิด BCG เป็นเครื่องมือ โดยมีประเทศร่ำรวยที่สร้างขยะจำนวนมหาศาล ส่งขยะไปรีไซเคิลยังประเทศอื่น และต้องการจะทำให้ไทย และอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น HUB ของการรีไซเคิลขยะ อย่างประเทศ สหรัฐอเมริกาที่มีการผลิตขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก กลับมีสัดส่วนรีไซเคิลพลาสติกของตัวเองน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรป
ในขณะที่ความตั้งใจของประเทศไทยนั้น สวนทางกับความตั้งใจการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่ในประเทศ ต่างจากประเทศจีนที่เขาผลักดันไม่ให้มีการคัดแยกพขยะลาสติกในประเทศ เพราะต้องการแก้ปัญหา PM 2.5 และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยมีมาตรการจัดการกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจัดการเรื่องขยะที่จะนำเข้ามาคัดแยก หรือมาทิ้งในประเทศจีน ซึ่งใช้มาตรการที่เด็ดขาดมาก ส่งผลให้ก่อนหน้านี้มีหลายประเทศได้รับผลกระทบต่อการส่งออกขยะพลาสติก ถึงขั้นต้องยกคณะไปเจรจาให้จีนผ่อนผันมาตรการนี้ แต่ไม่สำเร็จผล ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคิดว่าควรจะทำเช่นนี้
ในอนาคตข้างหน้าหากการเจรจาในเรื่องนี้ สำเร็จในการประชุม APEC จะทำให้ขยะพลาสติกจากทั่วโลกทั้งอเมริกา ยุโรป มุ่งเข็มมาสู่ประเทศ และอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันบ้านเรามีขยะพลาสติกที่นำเข้ามาพุ่งไปถึง 500,000 ตัน ในเวลาไม่กี่ปี ตอนนี้ทุกประเทศที่ร่ำรวย ต้องการนำเข้ามาในประเทศไทย จนทำให้โรงงานรีไซเคิลขยะในไทยพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ส่วนใหญ่จะมากระจุกตัวอยู่แถว ๆ ปริมณฑล
“เรากล่าวโทษประเทศร่ำรวยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะรัฐไทยเองก็เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าขยะมาด้วย ทั้งที่ภายในของเราเน่าขนาดนี้ ใน BCG ทุกแผนก็จะพูดแต่หลักการ และแผนปฏิบัติการที่สวยหรูมาก พูดกันภายใต้ชนชั้นสูง และกลางระดับสูงเท่านั้นที่กำลังผลักดันเรื่องนี้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ BCG ไม่ได้พูดถึงเลย…”
เพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า การมองแต่เพียงผลกำไรที่ได้จากการรีไซเคิบขยะ โดยที่ไม่ได้มองถึงปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียจากอุตสาหกรรมนั้นเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังมีความพยายามจะผลักดันโรงงานรีไซเคิล โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จนมีชาวบ้านประท้วง และถูกฟ้องคดีอยู่ด้วย ซึ่งสถิติการคัดค้านโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 50 กว่าแห่ง แผน BCG จึงควรพูดถึงการจัดการมลพิษทางอากาศที่ยังคาราคาซังอยู่ด้วย ว่าจะทำอย่างไร
แผน BCG ฟอกเขียว เอื้อกลุ่มทุน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ครั้งแรกที่เราได้ยินว่า BCG จะเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของไทย เราชื่นชมผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันแนวคิดนี้ เนื่องจากตนทำงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมามากกว่า 20 ปี ที่จะเคารพความหลากหลาย และสิทธิเหนือทรัพยากรชีวภาพ และสิทธิชุมชนที่มีส่วนในการสร้างความหลากหลายนั้น แต่ในที่สุดแล้วเมื่อได้เห็นกรอบยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการของ BCG เรากลับเห็นว่าสิ่งที่เราคาดหวังเป็นเรื่องตรงกันข้าม และน่าผิดหวังอย่างยิ่ง การผลักดันเป็นวาระในการประชุม APEC นี้ ชัดเจนมากว่าส่อเจตนาใน 3 เรื่องใหญ่ คือ
1.) การฟอกเขียวอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศ และมีคำถามเรื่องความยั่งยืนในระดับโลก 2.) เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนได้พบเจอกับหุ้นส่วนทางธุรกิจ และผู้นำเขตเศรษฐกิจมากมาย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐหยิบยื่นให้ ซึ่งอาจใช้เป็นการระดมทุนเพื่อขยายกิจการในไทยและระดับโลกได้ และ 3.) การยอมรับเรื่อง BCG ในระดับโลก มีแถลงการณ์เป็นเอกเทศ จะสร้างความชอบธรรมให้บริษัททั้งหลายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไส้ในนั้นตรงกันข้ามกับหลักการ BCG โดยสิ้นเชิง
“เราเห็นด้วยกับแนวคิด BCG แต่ต้องไม่ใช่การซ่อนสิ่งที่ทำลายระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในนั้น…”
วิฑูรย์ ตั้งข้อสังเกตถึงผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันแนวคิด BCG นี้ว่าเป็นการ “ขับเคลื่อนโดยเอกชนยักษ์ใหญ่แทบจะ100%” แม้รัฐบาลจะย้ำถึงหลักการ “ประชารัฐ” ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน/ประชาสังคม และเมื่อดูหน้าตาของบุคคลที่เข้ามาเป็นกรรมการขับเคลื่อน BCG ในครั้งนี้ ก็เป็นกลุ่มเดียวกับการปฏิรูปประเทศโดยคณะกรรมการประชารัฐ หลังการรัฐประหารเมื่องปี 2557 แทบไม่มีประชาชนเลย
โดยคณะกรรมการมี 3 ระดับ คือ คณะกรรมการบริหารฯ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการจำนวน 9 ราย จาก 21 ราย “เกือบครึ่ง” ของกรรมการทั้งหมดเป็นทั้ง อุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล และอาหารทะเลยักษ์ใหญ่ รวมถึงค้าปลีก และการแปรรูปแอลกอฮอล์ด้วย เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG ที่มีรัฐมนตรีกระทรวง อว. เป็นประธานด้วย
แต่ที่น่าสนใจมากที่สุด คือ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 คณะ โดยในการขับเคลื่อน BCG คณะที่มีบทบาทและสำคัญมากที่สุด คือ คณะนวัตกรรม และคณะอาหาร เพราะเช่น คณะนวัตกรรม ที่มีภาคเอกชนอาหารยักษ์ใหญ่เป็นประธาน และกรรมการทั้ง 17 คน ล้วนแต่เป็นภาคเอกชนทั้งสิ้น และไม่ใช่เป็นเพียงตัวแทนในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ แต่มาในฐานะตัวแทนบริษัท เข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ประเด็นที่ วิฑูรย์ และ BIOTHAI ให้ความสำคัญ คือ การปลดล็อกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อควงามหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2540 ซึ่งเป็นแม่แบบของกฎหมายที่ UN แนะนำให้ประเทศอื่นๆ มุ่งแก้ไขตามเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ไทยเองกำลังจะเปลี่ยนแปลง โดยต้องการแก้นิยาม “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” ซึ่งมองว่าเป็นอุปสรรคของการพัฒนาพันธุ์พืชในบริษัทเอกชน ขัดต่อการเคารพสิทธิของคนตัวเล็กตวัน้อย และความหลากหลายของระบบนิเวศ
และประเด็นต่อมา คือ การผลักดันให้เกิดการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMO ที่อาจนำไปสู่การผูกขาด และทำลายความหลากหลาย ยังส่งผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย โดยความพยายามนี้เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 2 โดย ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนั้น ได้ซ่อนข้อความที่ทำให้บริษัทไม่ต้องรับผิดเมื่อเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึงอาจเปิดทางโดยปริยายให้เกิดการใช้สารเคมีอย่างกว้างขวาง และรุนแรงมากขึ้น
คาร์บอนเครดิต สร้างความชอบธรรมผู้ก่อมลพิษ
ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) กล่าวถึงเหตุผลที่ภาคประชาสังคมซึ่งทำงานในด้านนี้ถึงมาวิพากษ์วิจารณ์โมเดล BCG เนื่องจากเป็นวาทกรรมในกระบวนการฟอกเขียวครั้งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อโลก ก่อสภาวะโลกร้อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้เงินลงทุนเพื่อทำลายล้างสิ่งแวดล้อมต่อไป
“คุณเติมคำว่า Green เข้ามา เพื่อขยายความชอบธรรม ให้กับกลุ่มที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการทำลายล้างระบบนิเวศ และก่อมลภาวะ อำพรางให้ปัญหาหลายอย่างหายไป”
กฤษฎา กล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้เกิดการอ้างความชอบธรรมใหม่ขึ้นมา แต่โครงสร้างการพัฒนา และวิธีคิดการใช้ทรัพยากรไม่ต่างจากเดิม เราพบปัญหาที่ปรากฏใต้พรมเต็มไปหมด และเรื่องที่สร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มทุนมากที่สุด คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องมีการปฏิรูป ควบคุม รื้อถอน ระบบทุนนิยมของโลกที่พึ่งพาฟอสซิล ทำให้กระแสฟอกเขียวบานสะพรั่ง โดยเฉพาะการฟอกเขียวผ่าน Climate Change
จึงเกิดการเอาแนวคิด เรื่อง การชดเชยคาร์บอนมาใช้ เป็นบัญชีปล่อย และดูดคาร์บอน หากปล่อยเยอะ ก็ต้องดูให้เยอะเท่ากับที่ปล่อย จึงจะชดเชยกันให้คาร์บอน์เป็นกลาง โดยการดูดคาร์บอน์นั้น อาจเรียกว่าเป็น Carbon Credit แต่กรณีเช่นนี้ กฤษฎา มองว่า ผู้ก่อมลพิษไม่ได้จ่ายเพื่อแก้มลพิษที่ตัวเองก่อ แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้สิทธิในการทำให้โลกร้อนขึ้น และไม่ได้ลดหรือแก้ปัญหาการกระทำที่สร้างผลกระทบต่อโลกเลย
“เหมือนเป็นการเอาธรรมชาติมาลงทุน ลงทุนปลูกป่า เอาจำนวนมานับเป็นคาร์บอน มาหักกลบกับสิ่งที่ตัวเองปล่อยก๊าซเรือนกระจกมามหาศาล เมื่อฉันไม่ลด ก็เลยไปลงทุนที่อื่น ธรรมชาติจึงกลายมาเป็นปัจจัยการผลิตของทุน และสิ่งที่นับว่าดูดคาร์บอนได้ ต่อไปจะถูกนับเป็นสินค้า ที่นำไปต่อยอดทางธุรกิจอีกที”
กฤษฎา กล่าวต่อว่า ความพยายามของภาครัฐเริ่มต้นขึ้นแล้ว ว่าจะต้องปลูกป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% จะต้องมีป่า 11 ล้านไร่ คำถาม คือ จะเอาที่ตรงไหนมาปลูก ทุกที่มีเกษตรกรใช้ประโยชน์อยู่ทั้งนั้น นี่คือการสร้างแรงกดดันครั้งใหญ่ ไม่อยากให้เป็นเหมือนบางประเทศ ที่กลุ่มทุนอยากลงทุนปลูกคาร์บอนเครดิต แล้วรัฐบาลไปจัดการหาที่ให้ โดยไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แล้วปลูกป่า ซึ่งชาวบ้านที่ถูกไล่ ไม่ได้รู้เรื่องเลย ธุรกิจคาร์บอนเครดิตกำลังถ่ายโอนภาระมาสู่ประชาชน
การล่าอาณานิคมใหม่ และกลโกงคาร์บอน
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า BCG Model เรื่องกลายเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปีที่แล้ว 2564 และในวาระการประชุม APEC ก็มาเป็นแนวคิดหลักในการสร้างความร่วมมือ เราสามารถสรุปในเบื้องต้นว่า BCG เป็นกลไก หรือเครื่องจักร ที่ประสานสารพัดนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ และจะเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อจากนี้ไปด้วย
ธารา กล่าวว่า ในมุมของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ประกาศเอาไว้ คือ เราต้องการลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 (จาก 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าลดลงเป็น 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) เป็นเพดานที่ตั้งไว้สูงเกินไป รัฐบาลจำต้องจํากัดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เพิ่มสูงสุดภายในปี 2568 (ไม่เกิน 368 ล้านตัน) และต้องลดลงหลังจากน้ัน (เหลือ 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2573) เพราะ ไม่เช่นนั้นจำนวนที่ลดลงมาอาจเป็นไปตามอัตราที่ตั้งไว้ แต่จำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยนั้นไม่ได้ลดงจริง ๆ
นอกจากนั้น ธารา ยังกังวลถึงนโยบาย Carbon Credit ที่อาจนำไปสู่การล่าอาณานิคมคาร์บอน (Carbon Colonialism) จะกลายเป็นความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขเพื่อมีอิทธิพล และครอบงําต่อประเทศใดหนึ่งประเทศหนึ่ง และ/หรือกลุ่มคนที่ไร้ อํานาจต่อรอง กลุ่มคนชายขอบและเปราะบาง โดยกลุ่มชนชั้นนําของประเทศที่รํ่ารวย ที่กําลังลงทุนในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) และกําหนดวิธีการรักษาที่ดิน และป่าไม้ให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อไป
“ข้ออ้างว่าจะช่วย หลีกเลี่ยงการพังทลายของสภาพภูมิอากาศและสร้างรูป แบบใหม่ของลัทธิล่าอาณานิคมใหม่-การล่าอาณานิคม ทางสภาพภูมิอากาศ”
ความมั่นคงทางยา และการเข้าถึงของประชาชน
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงการโฆษณาของรัฐบาลไทยด้านการสาธารณสุข ในเวที APEC 2022 นั้นมีความย้อนแย้งกับการปฏิบัติจริง แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกับไทยจะพยายามถอดบทเรียนวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ว่ายา วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้องเข้าถึงทุกประเทศอย่างเท่าเทียม แต่ข้อเท็จจริงเราพบว่าประเทศร่ำรวยยังคงกักตุน และกว้านซื้อวัคซีนไว้ในประเทศตัวเอง ซึ่งหลายประเทศก็เป็นสมาชิก APEC ด้วย
ในแง่ของการผลักดันวาระสำคัญระหว่างประเทศข้อเสนอระงับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในภาวะวิกฤตโรคระบาด (TRIPs Waiver) โดยประเทศไทยมีท่าที “นิ่งเฉย” ในขณะที่ประเทศร่ำรวยอีกหลายประเทศมีท่าที “ไม่เอา” ต่อข้อเสนอดังกล่าว นั้นยิ่งทำให้ชัดเจนว่าวาระของการผลักดันระบอบทรัพย์สินทางปัญญาจะยิ่งเข้มงวดมากขึ้น จากเวที APEC นี้
“เวที APEC ต้องการทำให้ระบอบสิทธิบัตรเข้มงวดมากขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อราคาและการเข้าถึงยาเกิดการผูกขาดตลาดยาไว้อย่างยาวนาน”
เฉลิมศักดิ์ ยังตั้งข้องสังเกต และกังวลต่อแผนปฏิบัติการ BCG ในเวที APEC ในเรื่องของ Medical Hub/Tourism & Wellness Tourism ที่ยังมีคำจำกัดความไม่ชัดเจน และยังกังวลต่อภาวะ “สมองไหล” ของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถจำนวนมาก จาก รพ.รัฐ สู่ รพ.เอกชน และอาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพลดลง นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพในอนาคต
ภาคประชาสังคมยังเน้นย้ำถึงบทบาทของประชาชนในฐานะผู้ตรวจสอบ ที่ต้องติดตามข้อตกลงต่อจากนี้ แม้จะไม่มีการเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ แต่อาจมีข้อตกลงที่เกิดก่อน หรือหลังการประชุม ซึ่งอาจเกิดข้อผูกมัด และตั้งคำถามซึ่งความยั่งยืน เกิดโอกาสทางธุรกิจสำคัญคนทุกคนอย่างแท้จริงตามที่โพรโมตหรือไม่ หรือเป็นเป็นเพียงวาระของการพบกันระหว่างผู้นำ และธุรกิจยักษ์ใหญ่ในระดับโลกเท่านั้น