‘หมอเบียร์’…กับฟางเส้นสุดท้าย ‘นักรบเสื้อกาวน์’ สัญญาณเตือนถึงระบบสาธารณสุขชายแดน

“ปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องของสาธารณสุขท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องระดับชาติที่รัฐบาลต้องลงมือแก้ไข ไม่เช่นนั้น คนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน ก็จะต้องเสียสละทรัพยากรทางการแพทย์ของตัวเองไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด”

ส่วนหนึ่งของข้อความที่ หมอเบียร์ – พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด ส่งเสียงสะท้อนถึงภาระงานที่หนักอึ้งในระบบสาธารณสุขชายแดน จนทำให้เธอตัดสินใจยื่นใบลาออก หลังถูกสั่งให้ดูแลผู้ป่วยวัณโรค และ HIV ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ


อะไร ? ทำให้แพทย์คนหนึ่งที่ตั้งใจทำหน้าที่ด่านหน้าเพื่อดูแล ป้องกันโรคในพื้นที่ชายแดนตัดสินใจแบบนี้ The Active ชวนหาคำอธิบาย ผ่านการเปิดใจครั้งสำคัญของ หมอเบียร์ เมื่อกรณีนี้คืองานใหญ่ระดับชาติที่ต้องอาศัยหลายหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบอย่างจริงจัง และหาทางออกที่เป็นธรรมต่อทั้งคนไทยและผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ปล่อยให้ระบบสาธารณสุขท้องถิ่นรับภาระเพียงฝ่ายเดียว

หมอเบียร์ – พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด

หมอเบียร์ เป็นอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ที่โรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งได้ทำงานที่นี่ตั้งแต่ปีแรกที่จบการศึกษา ปีนี้มีอายุราชการเข้าสู่ปีที่ 21 เธอเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อมาแล้ว 11 ปี โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ชายแดน ที่มีความท้าทายต่อการรับมือกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและเป็นอันตราย


เธอตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ จากพื้นฐานการทำงานพื้นที่ชายแดนในช่วงที่เป็นแพทย์ทั่วไป โดยพบว่า โรคติดเชื้อมีความแพร่หลายมากในพื้นที่นี้ แต่ไม่มีแพทย์เฉพาะทางที่สามารถดูแลและจัดการได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการเรียนต่อเป็นอายุรแพทย์โรคติดเชื้อจึงเป็นทางเลือกที่เธอมองว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและชุมชนที่เธอดูแล


ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของการทำงาน หมอเบียร์ เริ่มต้นจากการเป็นแพทย์อินเทิร์นที่โรงพยาบาลแม่สอด จากนั้นไปทำงานที่ โรงพยาบาลอุ้มผาง 2 ปี ก่อนที่จะไปเรียนต่อด้านอายุรแพทย์ทั่วไปที่เชียงใหม่ และต่อยอดเป็นอายุรแพทย์โรคติดเชื้อที่ศิริราช หลังจากนั้นก็กลับมาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลแม่สอด เธอพบว่าโรคติดเชื้อที่พบในพื้นที่ชายแดนมีทั้งที่แพร่ระบาดในประเทศ และในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึง โรคคอตีบ, ไอกรน, พิษสุนัขบ้า, โรคแอนแทรกซ์ (ที่พบเป็นเคสแรกในประเทศไทย) มาลาเรีย และชิกุนคุนย่า ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด


ในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 เธอยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ที่มีการแพร่ระบาดมาจากอินเดีย และเมียนมา โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ควบคุมไม่ให้โรคระบาดเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรคที่ชเวโก๊ะโก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในช่วงเวลานั้น


นอกจากงานประจำแล้ว หมอเบียร์ ยังได้สร้างเพจ “เรื่องเล่าหมอชายแดน” เพื่อสื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับการรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อที่เข้ามาทางชายแดน โดยให้ข้อมูลและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจในการช่วยเหลือชุมชนและให้ความรู้แก่ผู้คนในพื้นที่


ล่าสุด หมอเบียร์ ตัดสินใจยื่นใบลาออกหลังต้องเข้าไปรับผิดชอบวิกฤตในค่ายผู้ลี้ภัย อะไร ? คือฟางเส้นสุดท้ายในชีวิตราชการของหมอชายแดนคนนี้ และทางออกที่เป็นไปได้เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่าง ‘มนุษยธรรม’ กับ ‘ภาระงาน’ ควรอยู่ตรงไหน ? The Active ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ทั้งหมดได้ในบรรทัดถัดจากนี้ 

ผู้ลี้ภัย

วิกฤตศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย การถอนตัวของ NGO กับผลกระทบที่ตามมา

หมอเบียร์ อธิบายว่า ศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากเมียนมา มีมานานกว่า 40 ปี ปัจจุบัน ประเทศไทยมีศูนย์พักพิงทั้งหมด 9 ศูนย์ โดยศูนย์ขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ใน จ.ตาก เนื่องจากชายแดนไทย-เมียนมา มีความยาวถึง 550 กิโลเมตร เดิมที ศูนย์เหล่านี้เกิดจากการสู้รบในเมียนมาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ทำให้มีประชาชนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ซึ่งศูนย์พักพิงที่จดทะเบียนกับ UNHCR มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 60,000 คน แต่ในความเป็นจริงมีคนเข้า-ออกตลอดเวลา ทำให้จำนวนประชากรอาจสูงถึง 100,000 คน


ที่ผ่านมา องค์กร NGO เป็นผู้ดูแลเรื่องสาธารณสุขทั้งหมด รวมถึงโรงพยาบาลในศูนย์พักพิงเองด้วย NGO เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เช่น องค์กรหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา ที่ให้ทุนสนับสนุนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี


ระบบที่เคยมีอยู่คือ NGO ดูแลผู้ป่วยในศูนย์พักพิง ส่วน กรณีที่ซับซ้อนหรืออาการหนัก จะถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลแม่สอด หรือโรงพยาบาลชุมชน ซึ่ง NGO จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

“ที่ผ่านมา ระบบนี้ทำให้เราทำงานได้อย่างราบรื่น เพราะเราดูแลเฉพาะเคสที่ซับซ้อน แต่ปัญหาก็คือ NGO ได้ยุติการดูแล โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ทำให้เกิดช่องว่างในระบบ และเราต้องเข้าไปดูแลสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน”

วัณโรค – HIV สถานการณ์น่าห่วงในค่ายผู้ลี้ภัย ?

วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่ หมอเบียร์ ยอมรับว่า เป็นเรื่องน่ากังวลอันดับ 1 ที่แม่สอด เพราะมีทั้งผู้ป่วยชาวไทย และชาวต่างชาติ ในโรงพยาบาลแม่สอด มีผู้ป่วยวัณโรคเข้ารับการรักษาประมาณ 300 – 400 คนต่อปี และหากรวมกับผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลชุมชน และหน่วยงาน NGO อื่น ๆ จะอยู่ที่ 600 – 800 คนต่อปี


หลัก ๆ แล้ว หน่วยงานที่ช่วยดูแลวัณโรคในพื้นที่นี้คือ SMRU (Shoklo Malaria Research Unit) ซึ่งมีศูนย์ TB Village เป็นสถานที่กักกันและรักษาผู้ป่วยวัณโรคที่เป็นชาวต่างชาติจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา โดยศูนย์นี้ตั้งอยู่ที่ อ.แม่ระมาด


ส่วน ผู้ป่วย HIV ในพื้นที่ชายแดนก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจาก ชาวต่างชาติที่อาศัยในไทยมักขาดความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ และ ไม่มีสถานพยาบาลที่คอยให้ยาต้านไวรัส


ปัจจุบัน ผู้ป่วยต่างชาติที่ได้รับยาต้านไวรัสจากโรงพยาบาลแม่สอด มีประมาณ 1,000 คน โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเอดส์ของกระทรวงสาธารณสุข และ Global Fund และยังมีผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาเพิ่มเรื่อย ๆ 30 – 40 คนต่อเดือน

“ปัญหาใหญ่ตอนนี้ คือ เมียนมาไม่มีโรงพยาบาลที่สามารถให้ยาต้านไวรัสได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อรับยา ซึ่งสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขของไทยมากขึ้น”

ความซับซ้อนของศูนย์พักพิงฯ ที่มากกว่าแค่เรื่องสาธารณสุข

อีกเรื่องที่ หมอเบียร์ สะท้อนภาพให้เห็นชัด ๆ คือความซับซ้อนของปัญหาภายในค่ายผู้ลี้ภัย ที่ปัจจุบันมีประชากรอยู่รวมกัน 40,000 – 50,000 คนในพื้นที่แคบ ๆ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ คล้ายกับหมู่บ้าน มีโรงเรียน ศูนย์อนุบาล โรงพยาบาล และมีระบบบริหารจัดการภายในคล้ายกับ อสม. ในชุมชนไทย


โซนเหล่านี้อาจถูกแบ่งตามศาสนา หรือสายสัมพันธ์จากอดีต ซึ่งเราก็ไม่มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างภายใน ทำให้การเข้าไปจัดการด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ปัญหาภายในศูนย์พักพิงฯ ยังมีมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้อยู่อาศัย
  • ปัญหายาเสพติด
  • การล่วงละเมิดทางเพศ
  • การกดขี่ข่มเหงกันภายใน

ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ เช่น NGO เดิมที่เคยทำงานในพื้นที่ เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไม ? NGO ที่เคยดูแลศูนย์พักพิงฯ จึงจำเป็นต้องถอนตัวไป 

ในประเด็นนี้พวกเขาแจ้งว่า จะให้คำตอบภายใน 3 เดือน ว่า จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ต่อไปหรือไม่ แต่แนวโน้มคือ ไม่น่าจะได้รับการสนับสนุน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ อาจมองว่าการสนับสนุนศูนย์พักพิงเหล่านี้เป็น ค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย


ปัญหาคือ การถอนตัวของ NGO เกิดขึ้นแบบกะทันหัน โดยไม่มีการส่งต่อข้อมูล ไม่มีการอธิบายระบบการดูแลผู้ป่วย ไม่มีการจัดการขยะ ไม่มีระบบส่งต่อเวร ทำให้เกิด ช่องว่างขนาดใหญ่ในระบบสาธารณสุขของศูนย์พักพิง

“ภายใน 3 เดือนข้างหน้า รัฐบาลไทยต้องคิดแล้วว่าจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการดูแลผู้ป่วย แต่เป็นเรื่องของ ประชาชนเกือบแสนคนที่อยู่ในศูนย์พักพิง”

หมอเบียร์ ระบุด้วยว่า เวลานี้เราต้องการแผนระยะยาวจากรัฐบาล ว่า จะให้หน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบ ทั้งในแง่ของงบประมาณ การบริหารจัดการสาธารณสุข และแนวทางในการดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนจะรับภาระหนักเกินไป และอาจส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศในระยะยาว

ภาระ – ความท้าทาย บุคลากรทางการแพทย์ชายแดน ที่ต้องเจอในสถานการณ์นี้

นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้ หมอเบียร์ ออกมาส่งเสียงสะท้อน โดยเฉพาะภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเจอในวิกฤตภายในศูนย์พักพิงฯ โดยยอมรับว่า โรงพยาบาลแม่สอด มีแพทย์อยู่ประมาณ 80 คน ซึ่งทุกคนเป็นแพทย์เฉพาะทาง เช่น อายุรกรรม ศัลยกรรม ศัลยกรรมกระดูก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแพทย์ฝึกหัดใช้ทุนปีที่ 1 หรืออินเทิร์นเข้ามาช่วยงาน


ประชากรไทยในอำเภอแม่สอดมีประมาณ 200,000 คน ซึ่งตามหลักการจัดสรรแพทย์ของรัฐจะคำนวณจากจำนวนประชากรไทยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง เรามีประชากรข้ามชาติ อีก 200,000 – 300,000 คน ทำให้จำนวนประชากรที่ต้องดูแลอยู่ที่ 400,000 – 500,000 คน


โดยปกติ อัตราส่วนแพทย์ที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 1,000 คน แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ทว่า แพทย์ที่โรงพยาบาลแม่สอด ต้องรับผิดชอบคนไข้ถึง 1 ต่อ 5,000 คน ซึ่งเป็น ภาระที่มากกว่ามาตรฐานถึง 5 เท่า


นี่เป็นแค่เรื่องของจำนวน แต่ความยากของเคสที่มาจากศูนย์พักพิงฯ อาจมากกว่านั้น เพราะ…

  • ปัญหาด้านการสื่อสาร – ผู้ป่วยหลายคนไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจรักษาเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า
  • ผู้ป่วยต่างชาติส่วนใหญ่มักเข้าสู่ระบบช้า – คนไทยมักเข้ารับการรักษาเร็ว แต่คนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ มักมาช้า ทำให้โรคที่เป็นรุนแรงขึ้น โอกาสเสียชีวิตสูง และต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าในการรักษา
  • ภาระงานที่สะสมเรื่อย ๆ – ระบบไม่ได้เพิ่มบุคลากรให้ตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งหมดนี้เป็นภาระที่โรงพยาบาลชายแดนต้องแบกรับมาตลอด โดยที่ไม่ได้มีบุคลากรเพิ่มขึ้นเลย

“พอภาระงานหนักขึ้น แพทย์และพยาบาลก็ทยอยลาออก เพราะพวกเขามีทางเลือกที่ดีกว่า บางคนเป็นคนต่างถิ่นก็ต้องย้ายกลับบ้าน แต่เมื่อขอย้ายแล้วไม่ได้รับอนุญาต พวกเขาก็ลาออกไปเลย

นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และยิ่งเลวร้ายขึ้นเมื่อต้องรับมือกับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ลี้ภัย

อะไร ? ทำให้สถานการณ์หนักขึ้น 

หมอเบียร์ ฉายภาพปัญหาให้เห็นชัดขึ้นว่า ปัจจุบันหากมีประชากรต่างชาติเพิ่มขึ้นอีก 100,000 คน เท่ากับว่าเราต้องดูแล ประชากรเพิ่มขึ้นเท่ากับอีก 1 อำเภอ โดยหลักการแล้ว 1 อำเภอควรมีโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง และแพทย์อีกหนึ่งชุด แต่ในความเป็นจริง เราไม่มีทรัพยากรเพิ่มขึ้นเลย


ขณะที่ ศูนย์พักพิงฯ หรือ ค่ายผู้ลี้ภัยมีขนาดเท่ากับ 1 อำเภออยู่แล้ว แต่กลับไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีแพทย์เพิ่มเติม มันจึงกลายเป็นภาระที่โรงพยาบาลแม่สอดต้องรับไว้ทั้งหมด


สรุปคือ โรงพยาบาลแม่สอด ต้องดูแลผู้ป่วยทั้งคนไทยและคนต่างชาติ รวมถึงแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงฯ โดยที่บุคลากรยังคงเท่าเดิม หรืออาจน้อยลงเพราะมีคนลาออกไปเรื่อย ๆ

“ส่วนภาครัฐยังจัดสรรบุคลากรโดยอิงจาก จำนวนประชากรไทยเท่านั้น ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริง ทำให้ภาระตกอยู่กับบุคลากรที่ยังเหลืออยู่ จนกลายเป็นวิกฤตของระบบสาธารณสุขชายแดน”

ปกติ โรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง จะมีอายุรแพทย์เพียง 1 คน ซึ่งต้องดูแลทุกโรค ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ปอด มะเร็ง รวมถึง HIV และวัณโรค เรียกได้ว่าต้องรับผิดชอบ ทั้งอำเภอ เพียงลำพัง

“เมื่อภาระหนักขนาดนี้ การจะให้แพทย์โรงพยาบาลชุมชนไปดูแลโรคที่ต้องใช้เวลาตรวจละเอียดอย่าง HIV และวัณโรคเพิ่มเติม มันเป็นไปไม่ได้เลย พอเขาไม่สามารถรับผิดชอบได้ ก็ต้องโยนมาที่เรา ให้โรงพยาบาลแม่สอดดูแลแทน”

ความจำเป็นควบคุมโรคระบาดในค่ายผู้ลี้ภัย กับ ความเสี่ยงที่อาจตามมา

ถ้าค่ายผู้ลี้ภัย ไม่มีการควบคุมที่ดีโรคระบาดจะกลายเป็นภัยใหญ่หลวง นี่คือสิ่งที่ หมอเบียร์ สะท้อนความกังวล เพราะในกรณีที่โรคที่แพร่ระบาดได้ง่าย เช่น โรคทางเดินหายใจหรือโรคที่สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัส เช่น โควิด-19 หากผู้คนในค่ายติดโรคและ หลุดออกมา พวกเขาก็จะไปแพร่เชื้อสู่ภายนอกหรือใน แหล่งงาน ที่เขาอาจจะไปทำงานใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว


การปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องพิจารณา เพราะถ้าผู้คนในค่ายไม่ได้รับการดูแลเรื่องสุขาภิบาลอย่างดี จะทำให้แหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกันกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อแบคทีเรียได้


ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการ ควบคุมโรค และ ดูแลสุขาภิบาล ในค่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดภายในค่ายหรือสู่สังคมภายนอก

“การดูแลสุขภาพและป้องกันโรคในค่ายผู้อพยพ เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ขณะเดียวกัน ไม่สามารถทำได้ทั้งหมดโดยหน่วยงานท้องถิ่น ด้วยบุคลากรที่จำกัด ดังนั้นจำเป็นต้องมี การสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานภายนอก ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้การจัดการด้านสุขภาพและการควบคุมโรคในค่าย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

หมอเบียร์ ยอมรับว่า ต้องการคนที่สามารถมาช่วยทำงานในด้านนี้ หรือจ้างผู้ที่มีความสามารถในด้านการควบคุมโรคและสุขาภิบาลมาเสริมการทำงาน เพื่อให้ สถานการณ์ในค่ายมีการควบคุมได้ การดูแลในค่ายเป็นเรื่องสำคัญ และเราต้องทำอย่างดีที่สุด แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมดด้วยตัวเอง ต้องมีการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ฟางเส้นสุดท้าย! ก่อนตัดสินใจลาออก 

หมอเบียร์ ยอมรับว่า รู้สึก Burn Out (ภาวะหมดไฟ) มานานแล้ว ชวนให้ลองนึกภาพว่า ช่วงโควิด 3 ปีที่ผ่านมา ทำงาน 24 ชั่วโมงต่อวัน รับโทรศัพท์ตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่มีวันหยุด แม้แต่ตอนนี้ ก็ยังต้องรับโทรศัพท์ตลอดเวลา เพียงแค่ไม่ได้หนักเหมือนช่วงโควิด แต่เมื่อเกิดโรคระบาดเมื่อไร เราต้องลงมือทำทันที ไม่มีเสาร์อาทิตย์ ไม่มีเวลาพัก


สภาพแวดล้อมการทำงาน ไม่มีใครช่วยเหลือกันได้ ในองค์กรเองทุกคนต่างก็เหนื่อยล้า ไม่มีใครมีเวลามาถามกันว่า “เป็นยังไงบ้าง?” “มีอะไรให้ช่วยไหม?” เพราะทุกคนก็ตึงมือกันหมด ระบบมันทำให้คนทำงานหนักจนไม่มีเวลาแม้แต่จะดูแลกันเอง มันไม่มีพื้นที่ให้กับความเข้าอกเข้าใจ ทุกคนแค่ต้องรอดไปให้ได้ในแต่ละวันเท่านั้น


สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคำสั่งให้โรงพยาบาลแม่สอดจัดรถไปรับผู้ป่วย HIV และวัณโรค มาตรวจที่โรงพยาบาล อย่างน้อยก็ยังดีที่ ไม่บังคับให้หมอเดินทางไปตรวจเอง แต่…ทุกวันนี้หมอไม่มีเวลาว่างอยู่แล้ว


ถ้าหมอมีเวลาว่างในช่วงบ่าย มีเวลาพัก และถูกขอให้ทำเพิ่ม ก็คงไม่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริง หมอที่นี่ ทำงานหนักจนไม่ไหวแล้ว และยังมีการเพิ่มภาระงานเข้าไปอีก

มันไม่ใช่เรื่องของความไร้มนุษยธรรม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราทำเต็มที่มาตลอด แต่ครั้งนี้ มันเกินกำลังเราจริง ๆ ตลอด 20 ปีที่ทำงานมา มีคนขอให้อยู่ต่อเสมอ เรารู้ดีว่างานที่ชายแดนไม่มีขอบเขต มันเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบ มีโรคระบาดใหม่มาเรื่อย ๆ แม้งานจะหนัก แต่เราก็ยัง สนุกกับมัน เรายังมีความสุขที่ได้ดูแล คนไข้ยากจนและขาดโอกาส เราได้ประสบการณ์ ได้ connection ใหม่ ๆ แต่…ทุกอย่างมันต้องมีขีดจำกัด”

หมอเบียร์ ระบุด้วยว่า ตอนแรก โรงพยาบาลแม่สอดดูแลประชากร 200,000 คน ตามจำนวนคนไทยในพื้นที่ แต่ในความเป็นจริง เราต้องดูแลประชากรนอกระบบอีก 200,000 คน ทำให้ภาระงานหนักขึ้นเท่าตัว


ล่าสุด มีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 100,000 คน เทียบเท่ากับการเพิ่มขึ้นของ 5 อำเภอ แต่บุคลากรทางการแพทย์ยังเท่าเดิม มันกลายเป็นว่า หมอที่มีอยู่น้อยอยู่แล้ว ต้องแบ่งเวลามาดูแลชาวต่างชาติอีกครึ่งหนึ่ง และตอนนี้ ยังถูกดึงให้ไปทำงานนอกโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก


แล้ว คนไทยในพื้นที่ล่ะ ? พวกเขาต้องเสียสละเวลาเพิ่มขึ้น ต้องรอหมอนานขึ้น ต้องเผชิญกับปัญหาหมอขาดแคลน


หมอที่ทนไม่ไหวก็ลาออกไป โดยเฉพาะหมอเฉพาะทางที่ ขาดแคลนมาก ๆ เช่น หมอมะเร็ง ซึ่งกว่าเราจะได้มา 1 คนมันยากมาก แล้วถ้าต้องรับภาระหนักขึ้นจนทำไม่ไหว เขาก็เลือกลาออกไปอยู่เอกชนแทน มันเป็นวิกฤตของระบบสาธารณสุขที่ชายแดน ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครมองเห็น

แผนต่อไปหลังลาออก ?

หมอเบียร์ ยอมรับว่า ตำแหน่งที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาก ๆ หาคนทำแทนได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น หมอไต ก็ไม่สามารถให้หมอสาขาอื่นมาฟอกไตแทนได้ หรือ หมอศัลยกรรม ก็ไม่สามารถให้ใครมาผ่าตัดแทนได้ ในโรงพยาบาลที่มีบุคลากรจำกัด การขาดแพทย์เฉพาะทาง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการรักษา


ปัจจุบัน โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง อยู่ในสภาวะขาดแคลนบุคลากร ไม่ใช่แค่ที่แม่สอด แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และในกรณีนี้เอง การที่เป็น หมอติดเชื้อเพียงคนเดียวในโรงพยาบาล และยังมีปัญหาด้านโรคระบาดในค่ายผู้ลี้ภัย นี่คือเรื่องที่น่ากังวลมาก


แต่ถึงจะออกจากตำแหน่งไป ก็ยังสามารถให้คำปรึกษาแก่แพทย์คนอื่น ๆ ได้เสมอ เช่นเดียวกับแพทย์อาวุโสหลายท่านที่เกษียณไปแล้ว แต่ยังคอยให้คำแนะนำในกรณีจำเป็น

มีโอกาสเปลี่ยนใจไหม ?

หมอเบียร์ ตอบว่า ทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องของตัวเองอยู่แล้ว แต่ที่แน่ ๆ ไม่เสียใจเลย เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ได้ทำงานเต็มที่มาก ๆ ถ้าจะให้พิสูจน์ก็สามารถไปย้อนดูผลงานที่ผ่าน ๆ มาได้

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยื่นลาออก เคยยื่นมาหลายรอบแล้ว
แต่ก็มีเหตุให้ต้องอยู่ต่อเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้”

แต่ที่ต้องออกจริง ๆ เพราะ สุขภาพไม่ดี ส่งผลต่อร่างกาย และจิตใจมาก เครียดสะสม ไม่มีเวลาพักผ่อนเต็มที่ และตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้แต่การไปเที่ยวพักผ่อน ก็ยังต้องเปิดโทรศัพท์รอรับสายตลอดเวลา ต่อให้ไปต่างประเทศ ก็ต้องเปิดโรมมิ่งไว้ เพราะมีเคสต้องปรึกษาตลอด มันไม่เคยหยุดเลย

ทางออกสร้างสมดุลระหว่าง ‘มนุษยธรรม’ กับ ‘ภาระงาน’  

จริง ๆ แล้ว หมอเบียร์ เสนอแนวทางมาตั้งแต่แรก โดยเฉพาะตอนที่สหรัฐฯ ไม่ต่อสัญญาสนับสนุนด้านสาธารณสุข โดยแนะนำว่า ควรจ้างแพทย์จากองค์กรเดิมต่อไป เพราะพวกเขาทำงานมา กว่า 10 ปี และรู้ระบบการดูแลผู้ลี้ภัยเป็นอย่างดี รัฐเพียงแค่ จัดงบประมาณไปสนับสนุน ให้พวกเขาทำงานต่อ โดยโรงพยาบาลแม่สอดช่วย ดูแลเฉพาะเคสที่ซับซ้อน ต้องการที่ปรึกษาทางการแพทย์ รวมถึงการสนับสนุนด้านยาและอุปกรณ์ วิธีนี้จะช่วยให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่บุคลากรของโรงพยาบาลแม่สอด ไม่ต้องรับภาระงานเพิ่มจนเกินขีดจำกัด


นอกจากนี้ ประเทศไทยยัง ต้องมีแนวทางจัดการจำนวนผู้อพยพ ถ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีระบบรองรับ มันไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวย ที่สามารถรองรับคนจำนวนมากได้ตลอดไป เราต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ผู้อพยพควรอยู่ในสถานะไหน

  • หากเป็นผู้ลี้ภัย ต้องมีกฎหมายรองรับ และต้องมีแนวทาง Resettlement ส่งต่อไปยังประเทศที่สาม
  • หากเป็นแรงงานข้ามชาติ ต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ
  • ต้องมีการเตรียมความพร้อม ทั้งการสอนภาษาไทย อบรมอาชีพ เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมไทยได้จริง

“ปัญหานี้ถูกปล่อยสะสมมา 40 ปี ถึงเวลาต้องมีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม”

ข้อเสนอจ้างแพทย์ภายนอกดูแลค่ายผู้ลี้ภัย ถูกตอบรับแค่ไหน ?

“เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะต้องหารือกัน แต่สิ่งที่ทำในปัจจุบันคือ ให้แพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลชุมชน รวมถึงหมอโรงพยาบาลแม่สอด มาช่วยกันแบกรับภาระ”

ตอนนี้ยัง เป็นช่วงเริ่มต้น ปัญหาหลายอย่างยังไม่ชัดเจน

  • ยังไม่มีโรคระบาด
  • ยังไม่มีปัญหาความแออัดของระบบ
  • ยังไม่มีปัญหาการแย่งอาหาร หรือความขัดแย้ง

แต่ถ้าเวลาผ่านไป และปัญหาพวกนี้เกิดขึ้น ทุกคนจะได้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ระบบที่เราใช้อยู่ตอนนี้มีช่องโหว่ขนาดไหน ?

กระทรวงสาธารณสุข – รัฐบาล ต้องทำอะไร ?

หมอเบียร์ ยังตอกย้ำคำเดิม คือ เรื่องค่ายผู้ลี้ภัย เป็นประเด็นละเอียดอ่อน มีทั้งเรื่องมนุษยธรรม งบประมาณ และการบริหารจัดการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สาธารณสุขระดับจังหวัดหรือท้องถิ่นจะแบกรับได้ นี่เป็น ปัญหาระดับประเทศ หรืออาจจะเป็น ปัญหาระดับโลก ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานส่วนกลางต้องเข้ามาวางแผนระยะยาว ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า


ต้องคิดเผื่อไปถึงอนาคตว่า ถ้าวันหนึ่งไม่มีองค์กรไหนมาสนับสนุนอีกต่อไป เราจะทำยังไง ? ประเทศไทยต้องมีทิศทางที่ชัดเจนในการจัดการปัญหานี้ โดยที่ผลกระทบต่อทุกฝ่ายต้องน้อยที่สุด


และอีกเรื่องที่อยากฝากไว้คือ ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนมันหนักมาก มันเป็นแบบนี้มาตลอด และขอขอบคุณรายการที่ให้โอกาสพูด เพราะเรื่องนี้ ไม่ค่อยเป็นประเด็นในสังคม เนื่องจากมันไม่ได้กระทบกับคนส่วนใหญ่โดยตรง

“ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์ของไทยขาดแคลนอย่างหนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น คุณภาพชีวิตของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ไม่ได้ดีพอ Work-Life Balance แทบไม่มี ค่าตอบแทนก็ไม่เหมาะสมมานานแล้ว”

แต่สิ่งที่ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยยังคงแข็งแกร่งได้ เป็นเพราะบุคลากรของเรามีจรรยาบรรณสูง พวกเขามีความเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้ป่วย และยึดหลักธรรมในการทำงาน ทำให้ประเทศไทยมี ระบบสาธารณสุขที่ดีติดอันดับต้น ๆ ของโลก ดูจากการรับมือโควิดที่ผ่านมา เราไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง


ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อให้พวกเขามีแรงทำงาน ดูแลประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี และลดอัตราการเสียชีวิต เรื่องนี้ ไม่ควรถูกละเลย

“ลองจินตนาการดูนะคะ ถ้าเราปล่อยให้สถานการณ์ในค่ายผู้อพยพยังคงเป็นแบบเดิม โดยไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ? แน่นอนค่ะว่า ผลกระทบจากโรคระบาดจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ก่อนหน้านี้ ผู้ที่อาศัยในค่ายเหล่านี้ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา หรือการเตรียมพร้อมในเรื่องของการใช้ชีวิตในสังคม พวกเขาไม่มีอาชีพที่ชัดเจน ไม่มีข่าวสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก พวกเขาเหมือนอาศัยอยู่ใน โลกที่ปิด ทำให้เมื่อเกิดปัญหาความขาดแคลน ทรัพยากรพื้นฐาน เช่น อาหารและน้ำ พวกเขาต้องแย่งกันจนเกิดการต่อสู้หรือจราจล


ถ้าสถานการณ์นี้ยังไม่ถูกควบคุม อาจทำให้พวกเขาหนีออกมาจากค่าย ซึ่งจะเป็น ภัยอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาจะออกมาโดยขาดการเตรียมพร้อม ทั้งในเรื่องสุขภาพและการอยู่ร่วมในสังคมภายนอก เพราะการขาดการฝึกฝนทำให้พวกเขาไม่สามารถ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ได้

“ดังนั้นการเตรียมตัวในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีการ ฝึกอบรมผู้คนในค่าย ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกได้ โดยการสร้างอาชีพและมอบสิทธิพลเมืองในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การทำงาน และการดูแลสุขภาพ หากไม่สามารถทำได้ทั้งหมด อาจต้องพิจารณาผลักดันกลับ หรือช่วยเหลือไปยัง ประเทศที่ 3 ในที่สุด”

หมอเบียร์ ฝากทิ้งท้าย