เพราะที่ตั้งห่างแค่ 1 กิโลเมตรจากชายแดนไทย-เมียนมา ‘โรงพยาบาลท่าสองยาง’ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จึงเป็นที่พึ่งพิงในยามเจ็บป่วยให้กับผู้คนจากทางฝั่งเพื่อนบ้าน ซึ่งอยู่อีกฝากของแม่น้ำเมย คือ จ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง
ยิ่งในสถานการณ์สู้รบในเมียนมา ที่ยังไม่มีทีท่ายุติลงง่าย ๆ พื้นที่ใน จ.พะอัน จึงถูกตั้งเป็นค่ายอพยพให้ประชาชนหนีภัยสงคราม…
และในฐานะของเพื่อนมนุษย์ ทีมบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ท่าสองยาง ก็ไม่ลังเล ตัดสินใจข้ามพรมแดนธรรมชาติเข้าไปให้ความช่วยเหลือในภารกิจเพื่อมนุษยธรรม
ภารกิจมนุษยธรรมด้านสาธารณสุข
เป็นครั้งแรกที่ The Active ได้ข้ามไปยังแผ่นดินเมียนมาด้วยช่องทางธรรมชาติ พร้อมกับทีมแพทย์ รพ.ท่าสองยาง ทั้งนั่งเรือข้ามแม่น้ำเมย ขึ้นฝั่งนั่งรถกระบะต่อเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จนถึงค่ายอพยพ ที่ตั้งอยู่ใน โรงเรียนคริสตจักรมอโพเก๊ะ
ค่ายลี้ภัยแห่งนี้ สะท้อนภัยจากสงครามเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน ที่พักพิงอยู่ในค่ายแห่งนี้เกือบ 400 คน พวกเขาอพยพหนีสงครามมาจากหลายเมือง ทั้ง รัฐฉานที่อยู่ทางตอนบน, รัฐยะไข่ที่อยู่ติดกับอินเดีย, รัฐมอญที่อยู่ทางใต้ลงไปติดกับ จ.กาญจนบุรี ซึ่งพ่อแม่เด็กส่วนใหญ่ตัดสินใจหนีมาอยู่ที่นี่ เพราะเชื่อว่า จ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง เป็นพื้นที่ปลอดภัยสุดท้าย ที่ยังไม่เกิดการสู้รบ
แทบไม่น่าเชื่อว่าในจำนวนเด็ก เยาวชนภายในค่าย มีเด็ก ๆ บางส่วนโชคร้ายตกอยู่สภาวะกำพร้า เพราะพวกเขาพลัดหลงกับพ่อแม่ในช่วงชุลมุน จนทำให้ขึ้นรถตามกลุ่มเพื่อนมาอยู่ที่นี่ โดยทุกวันนี้ยังไม่รู้อนาคตว่าจะได้เจอพ่อแม่และครอบครัวอีกหรือไม่ ?
แน่นอนว่าค่ายอพยพที่ต้องดูแลเด็ก ๆ และชาวบ้านหลายร้อยคน ต้องใช้อาหาร น้ำดื่มจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้มีไม่เพียงพอ พวกเขาต้องกินข้าววันละ 2 มื้อ คือ มื้อเช้า และมื้อเย็น มีอาหารหลักคือข้าว และบ่อยครั้งที่พวกเขากินเพียงข้าวเปล่า กับน้ำปลาร้า บางมื้อก็มีต้มข้าวโพด หรือ ต้มมะเขือเทศ ในโรงครัวที่นี่ไม่มีเครื่องปรุงรสใด ๆ มีเพียงฟืน กับครกไม้ขนาดใหญ่ เอาไว้ตำน้ำพริกเท่านั้น
นี่คืออีกมื้อที่เด็ก ๆ และผู้คนในค่าย ได้อิ่มท้องมากเป็นพิเศษ เพราะมื้อนี้ทีม รพ.ท่าสองยาง นำไก่สดหลายกิโลมาให้ จึงถือเป็นมื้อแรกในรอบเดือนที่ได้พวกเขาได้กินเนื้อสัตว์
ความอดอยากกลายเป็นความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของเด็ก ๆ หลายคน เด็กเล็กมีภาวะขาดโปรตีน มากไปกว่านั้นน้ำสะอาดที่หายาก เสี่ยงที่จะเกิดภาวะท้องร่วง และมีปัญหาเรื่องสุขอนามัยอื่น ๆ ตามมาด้วย
เหนือความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ท่าสองยาง ท่ามกลางความพยายามผลักดัน ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ จากรัฐบาลไทย ซึ่งมีรูปแบบการช่วยเหลือด้วยการส่งสิ่งของจำเป็นเข้าไปผ่านตัวแทน แต่สำหรับค่ายอพยพแห่งนี้ ก็ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ
สิ่งที่ รพ.ท่าสองยาง ทำได้จึงเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด โดยใช้เงินบริจาคของ มูลนิธิโรงพยาบาลท่าสองยางเพื่อชนชายขอบ ด้วยการตรวจสุขภาพ พร้อมนำวัคซีนจำเป็น ฉีดให้กับเด็ก ๆ พร้อมกับทำข้อมูลสุขภาพเก็บเอาไว้
เพราะไม่มีใครรู้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงเมื่อไร น้ำประปา จึงเป็นอีกสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ต้องมีในค่ายอพยพ รพ.ท่าสองยาง จึงช่วยวางระบบให้ดีขึ้น โดยนำน้ำจากแม่น้ำเมยที่อยู่ข้าง ๆ ขึ้นมาใช้ แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้า ที่มีจำกัดแต่ในช่วงหน้าแล้ง
‘พอลีมู’ วัย 19 ปี สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี สะท้อนว่าระบบการศึกษาของเมียนมามีประสิทธิภาพ แต่ต้องมาหยุดชะงักลงเพราะสงคราม ความสามารถทางภาษาของเธอ อาจจะทำให้เธอมีอนาคตได้อีกไกลในประเทศที่สงบ เธอจึงอยากให้สงครามจบลงโดยเร็ว เธอคิดถึงบ้านที่มั่นคง ที่นอนนิ่ม ๆ เพราะทุกคืน เธอต้องนอนบนพื้นไม้กระดานกับเพื่อนอัดกัน 5 คน พอลีมู อยากไปทำงานที่ประเทศไทย เพื่อหวังจะยกระดับชีวิตครอบครัว ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
‘โซโซนาย’ ครูสอนวิชาชีววิทยา พา The Active สำรวจค่ายอพยพ เขาชี้ให้ดูว่า ครูต้องชาร์ตโทรศัพท์เอาไว้ตลอด เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ติดต่อสื่อสารกัน ขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้ทัน ซึ่งซิมโทรศัพท์ที่ใช้เป็นซิมที่รับสัญญาณมือถือจากประเทศไทย
ระบบการสื่อสารในเมียนมาตอนนี้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ สำหรับการติดต่อกันระหว่างพ่อแม่ และเด็ก ๆ ที่อยู่ที่นี่ หลายคนอาจยังไม่ถึงขั้นพลัดหลงกัน แต่ก็ติดต่อกันไม่ได้ เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จึงทำให้ตอนนี้ไม่รู้ว่าแต่ละคนเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ระบบสาธารณสุขเมียนมา…ล่มสลาย!
ห่างจากค่ายอพยพแห่งนี้ไปหลายสิบกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึง โรงพยาบาลชุมชนของ จ.พะอัน มีสภาพไม่ต่างจากโรงพยาบาลร้าง มีพยาบาลประจำเพียงคนเดียว ที่รัฐบาลทหารเมียนมาส่งมาประจำที่นี่
จริง ๆ แล้วโรงพยาบาลแห่งนี้ ถือว่าเป็นความตั้งใจดีของรัฐบาลเมียนมา ที่ต้องการวางระบบสาธารณสุขก่อนที่จะเกิดภาวะสงคราม เห็นได้จากโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลมีความพร้อมในระดับที่สามารถผ่าตัดคนไข้ได้
แต่น่าเสียดายที่วันนี้ทุกอย่างหยุดชะงักลง โรงพยาบาลไม่มีหมอ เพราะหมอประท้วงหยุดงานคัดค้านรัฐบาลทหาร ที่สำคัญคือการเป็นโรงพยาบาลตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีกด้วยเหตุผลการเมืองในประเทศ
ภาพเหล่าสะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขที่นี่ล่มสลาย เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ชาวบ้านที่เจ็บป่วย ต้องหาทางดิ้นรนข้ามไปหาหมอที่ รพ.ท่าสองยาง ประเทศไทย
ทว่ารัฐกะเหรี่ยง มีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ถือ 2 สัญชาติ คือ ไทยและเมียนมา พวกเขามีบทบาทสำคัญในการเป็นเครือข่าย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ รพ.ท่าสองยาง ที่เข้ามาวางระบบสุขภาพปฐมภูมิในชุมชน จะว่าไปก็ไม่ใช่บทบาทของโรงพยาบาลที่อยู่ในกำกับรัฐไทย
ใกล้ค่ำก่อนเดินทางกลับไปยังฝั่งประเทศไทย ‘นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์’ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง บอกกับ The Active ถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่นี่ คำตอบที่ได้รับไม่ซับซ้อน เพราะในฐานะคนเป็นหมอ เมื่อเห็นสภาพอาหารการกินของเด็ก ๆ ไม่ครบ 5 หมู่ ก็รู้ทันทีว่า จะมีปัญหาสุขภาพตามมา
สภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัยเหล่านี้ สามารถส่งเสริมป้องกันโรคได้ด้วยอาหารที่มีประโยชน์ และระบบน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้ รวมถึงหากมีวัคซีนอื่น ๆ มาป้องกัน ก็จะทำให้เด็ก ๆ ที่นี่เติบโตอย่างแข็งแรง
แต่ในภาวะสงครามแบบนี้ นพ.ธวัชชัย เชื่อว่า การมาที่นี่คงไม่ต่างจากการต่อลมหายใจให้กับเด็ก ๆ และส่วนตัวคุณหมอแล้ว ไม่ได้มองในเชิงพื้นที่ว่าใครเป็นฝ่ายใด แต่หากเพื่อนบ้านกำลังเดือดร้อน ได้รับผลกระทบ โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ก็ต้องช่วยเหลือกันให้ถึงที่สุด
หนีภัยสงคราม กับชีวิต(เกิด)ใหม่ ในดินแดนไทย
‘แม่ตาวคลินิก’ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นอีกหนึ่งที่พึ่งของคนเมียนมา หญิงตั้งครรภ์จำนวนมาก ตัดสินใจข้ามฝั่งมาคลอดลูกที่นี่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ จ.เมียวดี เพราะเมื่อมาถึงที่นี่แล้วพวกเธอก็อุ่นใจได้ว่าทั้งลูกที่กำลังจะเกิดมา และตัวเอง จะปลอดภัยมากกว่าคลอดที่เมียนมาที่ยังเต็มไปด้วยสงคราม
‘พญ.ซินเธีย หม่อง’ ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก ยอมรับว่า ตั้งแต่เปิดคลินิกนี้มา 35 ปี สถานการณ์สู้รบในเมียนมาครั้งนี้รุนแรงที่สุด นับจากรัฐประหารในเมียนมา เมื่อ 60 ปีก่อน ส่งผลให้ตอนนี้แม่ตาวคลินิก เต็มไปด้วยคนไข้เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการทั้งปี 110,000 คน เพียงแค่ต้นปี 2567 มีคนไข้ walk in มาใช้บริการเพิ่ม 50% ขณะที่ผู้ป่วยในปีที่แล้ว ยอดรวม 7,700 คน ก็เพิ่มขึ้นมาอีก 30% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567
โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ที่เข้ามาฝากครรภ์และคลอดลูกก็มีเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ก็เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องเปิดหน่วยให้คำปรึกษาทางใจ เพราะหลายคนป่วยจิตเวช หลังพลัดพรากจากครอบครัว หรือ ถูกเผาบ้านและทรัพย์สิน
คุณหมอซินเธีย เดินทักทายผู้ปกครองของเด็ก ๆ ที่มาหาหมอ ในแผนกกุมารเวช ทั้งหมดเป็นชาวเมียนมาที่ข้ามมาทำงานฝั่งไทย และหนีภัยการสู้รบ
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เป็นกลุ่มเปราะบางที่หมอเป็นห่วงมากที่สุด พวกเขาพลาดโอกาสการรับวัคซีน จากระบบสาธารณสุขในเมียนมาที่ล่มสลาย
ชายชาวเมียนมาอุ้มลูกน้อยวัยเพียงไม่กี่เดือน นั่งอยู่บนพื้น ท่ามกลางผู้ป่วยที่มาหาหมอที่แม่ตาวคลินิก เป็นภาพที่มีให้เห็นเป็นประจำ ด้วยสภาพของผู้มาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งความสามารถรองรับผู้ป่วยนอก (OPD) ต่อวันรับได้อย่างเต็มที่ 350 คน
แต่บางวันมีผู้ป่วยนอก เข้ามาใช้บริการมากถึง 400 คน ขณะที่มีหมอ 20 คน เป็นหมอที่รักษาจริง ๆ 10 คน ส่วนกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบเพียงเล็กน้อยก็มีบ้างประปราย หากบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งหญิงที่ต้องผ่าคลอด ก็จะถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลแม่สอด
ทารกทุกคนคลอดออกมาอย่างปลอดภัยที่แม่ตาวคลินิก โดยมีหน่วยจัดทำข้อมูลเด็กทารกทุกคนที่เกิดในฝั่งไทย แต่ยังไม่ถึงกับได้สัญชาติไทย หากพ่อแม่ถือสัญชาติเมียนมา หรือเป็นคนไร้สถานะ อย่างน้อยการเกิดในฝั่งไทย ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการขอสัญชาติได้ในอนาคต หากเติบโตและได้ศึกษาต่อที่ประเทศไทย
เป็นภาพชินตาที่ได้เห็นชาวเมียนมา และผู้ไร้สถานะ จำนวนมากมารักษาที่แม่ตาวคลินิก เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเช่นนี้มานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคลินิกเมื่อ 35 ปีที่แล้ว โดยคลินิกฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และเป็นเครือข่ายในระบบสาธารณสุขชายแดนของไทย โดยมีโรงพยาบาลแม่สอด เป็นแม่ข่ายรับส่งต่อ
ที่นี่น่าจะเป็นสถานพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่แจกจ่ายอาหารฟรีให้กับญาติที่เข้ามาเฝ้าไข้ผู้ป่วย ญาติที่ติดตามผู้ป่วยมาอยู่ที่แม่ตาวคลินิกจึงรู้สึกอุ่นใจ และไม่อดตาย
แต่นั่นก็ทำให้คลินิกฯ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จึงเปิดรับบริจาคโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นเงินเท่านั้น แต่สามารถบริจาคได้ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องอุปโภคบริโภค ต่าง ๆ มาที่คลินิกได้โดยตรง เพื่อช่วยพยุงสถานการณ์ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
เจ้าของรางวัลแมกไซไซ (รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ) ประจำปี 2546 ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือ ผู้ลี้ภัย และชาวเมียนมาที่อพยพมาอยู่ฝั่งไทยต่อไป แม้จะยอมรับว่าตอนนี้รายจ่ายติดลบมา 2 เดือนแล้ว แต่ก็ยังพยายามแสวงหาความร่วมมือจากหลายส่วน และสื่อสารกับองค์กรผู้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ปักธงมนุษยธรรม ต้องไม่เลือกข้าง
การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข ที่สะท้อนบทบาทด้านมนุษยธรรมให้กับพื้นที่ที่กำลังประสบภัยสงครามเป็นแนวทางสำคัญที่ รศ.ดุลภาค ปรีชารัชช รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองวส่า ไทยต้องปักธงเรื่องนี้โดยไม่แบ่งแยก พร้อมทั้งต้องวางท่าทีทางการทูตอย่างสมดุลทางกับทั้งสองฝ่าย
พร้อมทั้งประเมินอนาคตของเมียนมาไว้หลายฉากทัศน์ แต่ที่มีความน่าจะเป็นมากที่สุด คือ สถานการณ์จะยืดเยื้อ ยังไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะ แต่ก็ไม่ควรจะตัดความเป็นไปได้ ที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด
“ไทยมีประสบการณ์รับมือกับผู้ลี้ภัยมาหลายครั้งแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศ เข้ามาช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม”
รศ.ดุลภาค ยังเสนอให้ไทยอำนวยความสะดวกด้านพื้นที่ชายแดน โดยอาจกำหนดพื้นที่บางตำบลใน จ.แม่ฮ่องสอน, ตาก และกาญจนบุรี ให้เป็นพื้นที่ค่ายอพยพ แต่ก็ต้องระมัดระวัง รอบคอบการกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาด้านความมั่นคง และกำหนดเงื่อนไขการส่งกลับเมื่อสถานการณ์สงบลง