ย้อนไปประมาณ 20 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ไทยได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ครั้กแรก มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน บทเรียนครั้งนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเตือนภัยไทยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะ ‘ทุ่นเตือนภัยสึนามิ’ ที่ถือเป็นอีกกลไกสำคัญในการเตือนภัย ท่ามกลางความกังขาว่าปัจจุบันทุ่นเตือนภัยสึนามิยังใช้งานได้ดี และมีความพร้อมสำหรับการแจ้งเตือนภัยได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน
สถานะทุ่นเตือนภัยสึนามิในปัจจุบัน (ณ วันที่ 9 ธ.ค. 2567 )
ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ National Oceanic and Atmospheric Administration’s ที่แสดงตำแหน่งและรายละเอียดของทุ่นเตือนสึนามิทั่วโลก โดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่า ทุ่นที่อยู่ในความดูแลของประเทศไทย จำนวน 2 ทุ่น ได้แก่ทุ่นเตือนภัยสึนามิระยะไกลของไทย คือ สถานี 23401 ทุ่นระยะไกลขึ้นสถานะสีเหลือง พร้อมใช้งาน(ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2567ตามรอบซ่อมบำรุงทุก 2ปี )ห่างจาก จ.ภูเก็ต 965 กิโลเมตร หากเกิดเหตุแผ่นดินไหว และเกิดสึนามิขึ้น จะสามารถเตือนภัยล่วงหน้า 1 ชั่วโมง 45 นาที และ ทุ่นเตือนภัยสึนามิระยะใกล้ คือ สถานี 23461 ห่างจาก จ.ภูเก็ต ไปทางตะวันตกประมาณ 340 กิโลเมตร แสดงสถานะสีแดงไม่พร้อมใช้งาน (มีแผนที่จะเปลี่ยนตามรอบซ่อมบำรุงทุก 2 ปี ในปลายเดือนธันวาคมนี้ )ซึ่งทุ่นนี้อยู่ระหว่างหมู่เกาะอันดามัน และภูเก็ต จะสามารถแจ้งเตือนได้ภายใน 45 นาที
พล.อ.อ.สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้แทนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีความก้าวหน้าด้านการจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ไทยได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของหน่วยงานระหว่างประเทศในการจัดการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยสึนามิในอนาคต มาปรับใช้
ปัจจุบันสถานะทุ่นเตือนภัยสึนามิของไทยสถานี 23401 ทุ่นระยะไกลขึ้นสถานะสีเหลือง พร้อมใช้งานแล้ว โดยเป็นทุ่นเตือนภัยสึนามิที่มีการอัปเดตด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้นจากเดิม สำหรับการติดตั้งทุ่นเตือนภัยสึนามิต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมมือกัน เรื่องนี้มีความจำเป็นมาก สำหรับการเดินทางไปติดตั้งตามแผนอาจต้องดูสภาพอากาศและคลื่นลมสงบและความปลอดภัยเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการวางทุ่น และวันนี้ไทยก็ให้ความสำคัญกับระบบเตือนภัยต่อเนื่อง
ระบบการเตือนภัยสึนามิ ทำงานอย่างไร
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ติดตามเฝ้าระวังและเจ้งเตือนตามระเบียบ ด้วยการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าเกิดสึนามิ พื้นที่ 6 จังหวัด ติดชายฝั่งอันดามันจะรู้ทันที โดยหอเตือนภัยสึนามิขนาดใหญ่ 130 แห่งจะดังขึ้นหลังกดสัญญาณเตือนภัย ภายใน 5 นาที
การแจ้งเตือนภัยสึนามิผ่านหอเตือนภัยจะเป็นข้อความเสียงที่ส่งไปยังหอเตือนภัยและอุปกรณ์เตือนภัย เมื่อได้รับการยืนยันการเกิดสึนามิจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องมือเฝ้าระวัง ร่วมกับข้อมูลจากหน่วยงานเครือข่ายต่างประเทศ จะแจ้งเตือนเป็นข้อความเสียงอีกครั้ง ด้วยข้อความว่า “โปรดทราบ โปรดทราบ ขณะนี้เกิดคลื่นสึนามิ ขอให้ออกจากชายหาาดให้ไกลที่สุด ไปยังพื้นที่สูงโดยด่วน” ซึ่งจะมีถึง 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้อพยพไปที่สูงได้ทันท่วงที
ไทยมีการติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ 2 สถานีตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
- ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 เมื่อปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ (DART II) เป็นครั้งแรกในมหาสมุทรอินเดีย โดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ได้มอบทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 1 ทุ่น พร้อมทั้งอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งทุ่น และประเทศไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับเรือวางทุ่นและดูแลรักษาระบบดังกล่าวในระยะยาว โดยทำการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคคลื่นสึนามิในน่านน้ำสากลบริเวณละติจูด 9 องศาเหนือ ลองติจูด 89 องศาตะวันออก ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร หรือประมาณ 600 ไมล์ ในระหว่างวันที่ 1-7 ธันวาคม 2549 โดยเรือ M.V. SEAFDEC จากศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรือจากกองทัพเรือ
2.ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในฝั่งทะเลอันดามัน สถานี 23461 เมื่อปี พ.ศ. 2559 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิในฝั่งทะเลอันดามัน ณ ตำแหน่งพิกัดที่ละติจูด 9 องศา 32 ลิปดา 28 ฟิลิปดาเหนือ ลองจิจูด 95 องศา 40 ลิปดา 4 ฟิลิปดา ตะวันออก บริเวณเขตน่านน้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กม. ในระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2560 โดยเรือ M.V. SEAFDEC
ส่วนประกอบของระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ
ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ เป็นแบบทุ่นลอย ประกอบด้วย เครื่องมือ 2 ส่วน เป็นระบบที่ได้รับการออกแบบโดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (Nation Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) เพื่อทำหน้าที่ในการเฝ้าสังเกตการณ์ ตรวจจับ และวัดระดับน้ำ พร้อมทั้งรายงานการเกิดคลื่นสึนามิ ประกอบด้วย
1. ทุ่นลอย (Surface Buoy) ผลิตจากวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน ทนแดด และ ทนการกัดกร่อน
ของน้ำทะเล ไม่เป็นสนิม รวมทั้งมีสมอ และสายโยงยึดสมอ ที่มีความเหนียวทนทานสูง ประกอบด้วย เครื่องตรวจวัดอื่น ๆ (Optional sensor mast) ทำหน้าที่ตรวจวัดค่าอื่น ๆ เช่น ทิศทางลม อุณหภูมิ เครื่องรับคลื่นเสียงความถี่ต่ำจากเครื่องบันทึกความดันใต้ท้องทะเล (Bottom Pressure Recorder : BPR) เครื่องแปลงสัญญาณเป็นสัญญาณดาวเทียม เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม และแบตเตอรี่พลังแสงอาทิตย์
2.ชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล (Bottom Pressure Recorder: BPR) ถูกติดตั้งอยู่ที่พื้นมหาสมุทร ทำหน้าที่ในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล แล้วส่งสัญญาณให้ทุ่นลอยบนผิวน้ำ เพื่อใช้สำหรับ การคำนวณหาระดับความสูงของน้ำด้านบน รวมทั้งยังสามารถบันทึกข้อมูล วัน และเวลาที่บันทึกข้อมูลค่าแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ รวมถึงการตรวจสอบและติดตามสถานภาพของอุปกรณ์ด้วย ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
- ตัวรับ-ส่งสัญญาณเสียง (Acoustic transducer) ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณระหว่าง BPR และทุ่นลอย
- ตัวปล่อยสัญญาณเสียง (Acoustic release) ทำหน้าที่ปล่อยสัญญาณเสียง
- หน่วยประมวลผลกลาง (Central processing unit: CPU) ทำหน้าที่หลักในการประมวลผลข้อมูลแรงดันน้ำทะเล เพื่อคำนวณหาระดับน้ำทะเล
- แบตเตอรี่ (Batteries) ทำหน้าที่จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเครื่องบันทึกความดันน้ำ
- ตัวตรวจวัด (Sensor) ทำหน้าที่ตรวจวัดแรงดันน้ำทะเลติดตั้งอยู่ลึกลงไป 3,600 เมตรใต้ผิวน้ำทะเล ประกอบด้วย เครื่องวัดความดันน้ำ เครื่องประมวลผล เครื่องส่งสัญญาณเสียงความถี่ต่ำและแบตเตอรี่การทำงานของระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิการทำงานของระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิหลักการทำงานของระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องตรวจวัดความดันน้ำและทุ่นลอยที่ผิวน้ำ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองชนิดเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีการสื่อสารกันตลอดเวลา โดยเครื่องตรวจวัดความดันน้ำจะทำหน้าที่ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและนำข้อมูลที่ได้ส่งผ่านไปยังทุ่นลอยในรูปของสัญญาณเสียง จากนั้นระบบจะทำการรวบรวมข้อมูลพร้อมทั้งส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังดาวเทียม เพื่อให้ดาวเทียมส่งข้อมูลที่ได้ไปยังสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินในรูปของสัญญาณดาวเทียม เมื่อสถานีรับภาคพื้นดินได้รับข้อมูลดังกล่าวแล้วก็จะทำการประมวลผลผ่านแบบพยากรณ์ จากนั้นข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลนี้จะถูกส่งไปยังศูนย์เตือนภัยสึนามิเพื่อออกประกาศเตือนต่อไป
กลไกลเฝ้าระวังสึนามิของไทย ?
สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเลในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชน และสถานที่ท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดียเป็นอย่างมาก ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 230,000 คน และมีประเทศที่ได้รับผลกระทบ 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และไทยภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการป้องกันและกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากคลื่นสึนามิให้มีประสิทธิภาพ รัฐบาล
โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบวิเคราะห์คาดการณ์การเกิดคลื่นสึนามิล่วงหน้าและระบบแจ้งเตือนภัยคลื่นสึนามิของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ปภ.โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ได้มีการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 2 จุด โดยจุดที่ 1 ติดตั้งในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 965 กิโลเมตร และจุดที่ 2 ติดตั้งไว้ในทะเลอันดามันสถานี 23461 ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 340 กิโลเมตร ซึ่งการวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จะมีการวางทดแทนทุ่นเดิมตามวงรอบของการบำรุงรักษา ทุก 2 ปี ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน เพื่อให้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการส่งต่อข้อมูลไปยังระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศ
ไขข้อกังวลหากทุ่นเตือนภัยสึนามิไม่ทำงาน
ปัจจุบันมีระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิที่ใช้ร่วมกับข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) นอกจากทุ่นเตือนภัยก็ยังมี ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำทะเลจากเว็บไซต์ของ The Intergovernmental Oceanographic Commission : IOC โดยเฉพาะข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังวางใจได้เพราะปัจจุบันการติดตั้งทุ่นเตือนภัยสึนามิระยะไกลใช้งานได้ปกติแล้ว เป็นทุ่นติดตั้งในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 965 กิโลเมตร
โดยก่อนหน้านี้ ปภ.ได้ปล่อยเรือเพื่อวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ไปแล้ว จำนวน 1 จุด บริเวณฝั่งทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 25 พ.ย. 2567 ที่ท่าเรือน้ำลึก ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต พร้อมร่วมมือกับ 8 หน่วยงานและภาคีเครือข่ายประกอบด้วย กองทัพเรือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย มูลนิธิชุมชนไท และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการแจ้งเตือนภัยและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งอันดามัน คาดว่าจะติดตั้งทุ่นเตือนภัยตัวที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้
นอกจากนี้ ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ปภ. และ 8 หน่วยงานและภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นความร่วมมือต่อเนื่องครั้งที่ 2 เพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันในการสนับสนุนและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของไทย และร่วมกันสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ รวมทั้งร่วมกันอำนวยความสะดวก ประสาน และติดตามทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ (ปภ.) และ 8 หน่วยงาน จะให้การสนับสนุนร่วมกันทั้งในด้านการวางระบบและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการติดตั้ง ดูแลรักษา เฝ้าระวัง และติดตามทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ การให้ข้อมูลด้านการประมงและการประชาสัมพันธ์ให้กับเรือประมงได้รับทราบ เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการช่วยสอดส่องดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ
รวมถึงการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการร่วมเฝ้าระวังและติดตามทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ทั้งในภาวะปกติและกรณีทุ่นหลุดจากตำแหน่งที่ติดตั้ง อันจะส่งผลให้ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมสำหรับใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนภัย และสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนและภาคีเครือข่ายชุมชน ซึ่งสนับสนุนและผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การดูแลรักษาระบบการแจ้งเตือนภัยสึนามิของไทย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยแก่ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยวพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ตลอดจนผู้ที่อยู่อาศัยในภูมิภาครอบมหาสมุทรอินเดีย จะได้สามารถเตรียมพร้อมรับมือและอพยพหนีภัยสึนามิได้อย่างทันท่วงที
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในฐานะคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยกับ The Active ว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ทุ่นเตือนภัยสึนามิของไทย ชำรุดบ่อยมาก และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง แต่ก็มีความจำเป็น เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เป็นภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่เราจะสามารถคาดการณ์ และเตือนภัยสึนามิได้ ด้วยการใช้ข้อมูลเตือนภัยจะทำให้หนีทัน ด้วยฐานข้อมูลสำคัญที่ต้องบอกความสูงของคลื่นและการคาดการณ์แต่ละพื้นที่จะเกิดสึนามิสูงแค่ไหน เพราะผังเมืองในพื้นที่เสี่ยงเปลี่ยนไปมาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องหันหน้ามาคุยกัน มองว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดทำฐานข้อมูลสำคัญแบบละเอียดเชิงท้องถิ่น เพราะจังหวัดคือคนที่รู้จักพื้นที่ หากเกิดเหตุการณ์ก็จะเตือนภัยแบบชัดเจน แต่รัฐบาลกลางก็ต้องสนับสนุนองค์ความรู้ และวางระบบให้เป็นมาตรฐาน
อย่างในต่างประเทศ เช่นที่ญี่ปุ่นมีฐานข้อมูลการศึกษาในอดีตแผ่นดินไหวที่ไหนบ้าง และมีการคาดการณ์แบบจำลองกว่า 2 แสนฐานข้อมูล ว่าเขาจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะเกิดจริง/เกิดไม่จริง การมีฐานข้อมูลล่วงหน้าทำให้มีการเตือนภัยที่แม่นยำขึ้น ภายใน 2 นาทีเขารู้แล้วว่าจะวางแผนรับมืออย่างไร ไทยก็ต้องปรับและพัฒนาให้ทันเพื่อรับมือกับภัยพิบัติอนาคต