เลขไทย ราชการไทย : ภัยพิบัติใหญ่ ของการสื่อสาร ‘ในภาวะวิกฤต’ ?

ตามที่เกิดแผ่นดินไหวบนบก
เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๘ เวลา ๑๓.๒๐ น.
ขนาด ๘.๒ ความลึก ๑๐ กิโลเมตร
จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา ปัจจุบันได้
รับการประสานจากกองเฝ้าระวังแผ่น
ดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าผู้มี
ความจำเป็นอย่างยิ่ง สามารถเข้า
อาคารได้ ด้วยความระมัดระวัง
สอบถามโทร.1784

ข้อความดังกล่าว น่าจะเป็น SMS ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ถูกส่งไปยังมือถือ ในยามที่ผู้คนทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง กำลังอกสั่นขวัญแขวนกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่ไม่เคยเจอมาก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่า SMS ข้อความนี้ กลับมีคนพูดถึง มากกว่าจำนวนคนที่ได้รับ


เรื่องสำคัญของข้อความที่ถูกยิงตรงเข้าสู่มือถือของหลาย ๆ คน ในช่วงเวลาที่ห่างจากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนับชั่วโมง ทำให้ตอนนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเซียล โดยเฉพาะความเป็น ราชการไทย ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่าน ตัวเลขไทย ซึ่งกลายเป็นของคู่กันกับสิ่งที่เป็นทางการในระบบแบบไทย ๆ มายาวนาน

ไม่ว่าเรื่องคอขาดบาดตายแค่ไหน เลขไทย ก็ยังเป็นสิ่งที่เดียวที่ต้องถูกรักษาไว้ แม้แต่ข้อความเตือนภัยแผ่นดินไหวดังกล่าว ที่ทำให้การอ่านเนื้อความที่ต้องการสื่อสารบนอุปกรณ์มือถือขนาดเล็ก เป็นไปอย่างยากลำบาก และที่ชวนสับสนยิ่งขึ้นไปอีก คือ ใน SMS เดียวกัน ก็มีการใช้เลขไทย ปะปนกับ เลขอารบิก ด้วย


คำถามสำคัญคือ ขอบเขตการใช้เลขไทยในเอกสารทางราชการอยู่ตรงจุดไหนกันแน่ ?


เสมือนว่าหลักการของราชการ คือ ต้องแปลงเลขอารบิก ที่ปรากฎในสารทั้งหมดให้เป็นเลขไทย โดยไม่มีการตรวจสอบใด ๆ ทั้งสิ้น ผลที่ตามมา คือ การใช้งานอย่างพิลึกพิกล และผิดวัตถุประสงค์ เช่น การใช้คำว่า “Windows ๑๐” แทน “Windows 10”, “H๒O” แทนสมการเคมีของน้ำอย่าง “H2O” บางครั้งถึงขั้นใช้เลขไทยใน URL ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้จริง เช่น ๑๒๑๒.etda.or.th (ของจริงคือ 1212.etda.or.th) ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยซ้ำ

ป้ายประกาศผลการนับคะแนนการเลือกตั้งที่บันทึกเป็นเลขไทย (ภาพเมื่อ ปี ๒๕๖๔)

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้ง Opendream ในฐานะผู้ทำงานด้านดิจิทัล และประชาชนผู้ริเริ่มแคมเปญรณรงค์ยกเลิกการใช้เลขไทยในเอกสารราชการ เคยเสนอไว้เมื่อ ปี ๒๕๖๕ ให้หน่วยงานรัฐทุกระดับ หันมาใช้เลขอารบิกเป็นมาตรฐานในเอกสารราชการ เพื่อความสะดวกของประชาชน และเพื่อให้เกิดความเป็นสากล ทั้งยังช่วยให้การเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากรัฐบาลในสมัยนั้น ไม่ได้ตอบรับข้อเสนอนี้เท่าที่ควร

“กระทรวงวัฒนธรรม เห็นว่าสามารถใช้ได้ทั้ง ๒ แบบ และอยากให้ตระหนักถึงความเป็นไทย เพราะเลขไทยนอกจากมีความสวยงามแล้ว
ก็เป็นเรื่องที่เราได้ใช้มายาวนาน

อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.กระทรวงวัฒนธรรม
(สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

ในเวลานั้น กระทรวงวัฒนธรรม มองว่า ไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิก เพราะการลงออกเลขหนังสือต่าง ๆ อยู่ที่การปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ออกหนังสือ ซึ่งอยากให้เด็กเยาวชน และคนไทยใช้ทั้ง ๒ เลข ทั้งเลขไทย และเลขอารบิกที่เป็นสากลอยู่แล้ว ซึ่งควรจะอนุรักษ์เลขไทยให้เกิดความงดงามไว้ดีกว่า


จากปี ๒๕๖๕ สู่วันนี้ในปี ๒๕๖๘ ความงดงามของเลขไทยได้ปรากฏสู่สายตาประชาชน ผ่าน SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว อย่างไรก็ดี ไม่ว่า SMS นี้จะช่วยเหลือคนไทยได้มากน้อยแค่ไหน แต่เลขไทยกลายเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ของการสื่อสารและวงการข้อมูลไปเสียแล้ว ชวนสำรวจปัญหาของคนในวงการ Data กับการใช้เลขไทย ความเป็นไทยจำเป็นแค่ไหนกับการสื่อสารภัยพิบัติ? และความเอิงเอยของราชการไทยจะไปสุดที่ตรงไหนกัน ?

อ่านยาก-ไม่เป็นสากล-ไม่เป็นมิตรต่อดิจิทัล-เข้าไม่ถึงประชาชน

ในทางปฏิบัติ นโยบายการใช้เลขไทย ไม่ได้เป็นข้อบังคับตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละหน่วยงาน แต่มาตรฐานขององค์กรรัฐส่วนใหญ่บังคับให้ใช้ฟอนต์ TH Sarabun IT๙ ที่มีฟังก์ชันเปลี่ยนเลขอารบิกเป็นเลขไทยโดยอัตโนมัติ เลยพอเข้าใจได้ว่าข้าราชการไทย ไม่ได้ขยันแก้เลขอารบิกที่ปะปนอยู่ใน Hyperlink ทุกกระเบียดนิ้วหรอก แต่เป็นเพราะฟอนต์ต่างหาก ยกตัวอย่าง ถ้าใครเคยไปแจ้งบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ก็จะพบว่าตัวเลขทุกตัวที่พี่ตำรวจกรอกลงไป จะถูกแปลงเป็นเลขไทยทั้งหมดอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง


สำหรับ ปฏิพัทธ์ ในฐานะคนทำงานเชิงข้อมูล และผู้ริเริ่มแคมเปญยกเลิกการใช้เลขไทย มองว่า การกำหนดให้ใช้ฟอนต์ THSarabunIT๙ เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และก่อให้เกิดปัญหาใหม่ เอกสารที่พิมพ์ออกมาอาจแสดงผลต่างกันในคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีฟอนต์นี้ เช่น ตัวเลขที่ควรเป็นเลขไทยอาจกลับไปเป็นเลขอารบิกเมื่อเปิดไฟล์บนเครื่องอื่น และที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ การบิดเบือนข้อมูลดิจิทัล อย่างชื่ออีเมลที่มีตัวเลขอารบิก จะถูกแปลงเป็นเลขไทย ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้ง Opendream และผู้ริเริ่มแคมเปญรณรงค์ยกเลิกการใช้เลขไทยในเอกสารราชการ เมื่อ ปี ๒๕๖๕

ในมุมมองของคอมพิวเตอร์ เลขไทย (๐-๙) ไม่ถูกนับเป็นตัวเลขโดยตรงเหมือนเลขอารบิก (0-9) แต่ถูกมองว่าเป็น สัญลักษณ์ (characters) เช่นเดียวกับ ตัวอักษร เพราะคอมพิวเตอร์ใช้มาตรฐาน Unicode ในการเข้ารหัสข้อมูล ผลกระทบในทางปฏิบัติคือ เราไม่สามารถใช้เลขไทยแทนตัวเลขในเชิงคำนวณได้โดยตรง กล่าวคือ เราต้องแปลงเลขไทยเป็นเลขอารบิกก่อนจึงจะคำนวณได้ ยิ่งไปกว่านั้น ซอฟต์แวร์หลายตัว เช่น ระบบจัดการฐานข้อมูล (SQL) หรือโปรแกรมทางคณิตศาสตร์ อาจไม่รองรับเลขไทย และต้องใช้ฟังก์ชันพิเศษเพื่อแปลงเป็นเลขอารบิกก่อน


ปฏิพัทธ์ ย้ำว่า ประเด็นเลขไทยเป็นเรื่องเล็ก แต่กลับสะท้อนถึงทัศนคติของราชการไทยที่ไม่เห็นหัวประชาชน โดยความอุตริของราชการไทย ในมุมของเขาจึงมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ

  • มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๔๓ ขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการใช้เลขไทยโดยไม่มีการระบุขอบเขตการใช้ ส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากระบบราชการไทยมีลักษณะการสั่งการจากบนลงล่าง

  • ข้าราชการมักปฏิบัติตามกรอบที่กำหนดไว้เท่านั้น และไม่ทำเกินสิ่งที่ได้รับอนุญาต แม้การใช้เลขอารบิกจะช่วยให้อ่านง่ายขึ้นและส่งข้อมูลสะดวกกว่า แต่เมื่อไม่มีคำสั่งหรือการเปิดทางให้ใช้ ข้าราชการก็เลือกทำตามที่กำหนดไว้เท่านั้น

  • ระดับบริหารของภาครัฐมองว่า “เอกสารราชการมีไว้เพื่อให้ข้าราชการใช้อ่านกันเอง” ไม่ได้คำนึงถึงความสะดวกของประชาชนที่ต้องใช้งานเอกสารร่วมกัน

“เอาจริง ๆ ประเด็นเลขไทยเป็นเรื่องเล็ก
แต่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทำให้เห็นว่า
ราชการไทยในระดับบริหาร ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนเลย
เพราะเขามองว่า นี่เป็นวัฒนธรรมระหว่างราชการกับราชการ
เขาใช้แบบนี้ เขาไม่มีปัญหาอะไร ประชาชนเองต่างหากที่มีปัญหา”

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา

ปฏิพัทธ์ จึงนิยามว่า นี่เป็น การใช้เลขไทยอย่างไม่บันยะบันยัง เพราะไม่มีใครรู้ขอบเขตการใช้งาน ล่าสุดได้ลามไปถึงการใช้เลขไทยในสถานที่ที่ต้องการความชัดเจน อย่างป้ายถนน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้ถนน เพราะเลขไทยบางตัว เช่น ๔ กับ ๕ หรือ ๗ กับ ๙ มีลักษณะใกล้เคียงกัน อาจทำให้เกิดความสับสนและเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ได้ เลขไทยจึงอาจขยายไปได้ทุกที่ที่มีราชการเป็นส่วนเกี่ยวข้อง

ที่มา: Wayfinding Bangkok
ภาพล่างเมื่อปี ๒๕๖๗
ที่มา: Wayfinding Bangkok
ภาพเมื่อปี ๒๕๖๕

ผู้ใหญ่ลีซินโดรม : ความเป็นไทยกับการสื่อสารเรื่องทางการ

ปัญหาการสื่อสารของราชการไทย เป็นปัญหาสุดคลาสสิก ไม่ใช่เรื่องใหม่ สะท้อนในบทเพลงคุ้นหูทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างเพลง ผู้ใหญ่ลี ของ พิพัฒน์ บริบูรณ์ ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนสังคมในยุคแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก (พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๙) ภายใต้การปกครองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มุ่งพัฒนาประเทศด้วยโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ ส่งคำสั่งจากบนลงล่าง ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

“…ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร
ฝ่ายตาสีหัวคลอน ถามว่าสุกรนั้นคืออะไร
ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด สุกรนั้นไซร้ คือหมาน้อยธรรมดา…”

เนื้อเพลงมีการเสียดสีนโยบายของรัฐที่ใช้คำสั่งและ ภาษาสุภาพ ที่ไม่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตชาวบ้าน จนทำให้เกิดความสับสน และความเข้าใจผิด เช่น การใช้คำว่า สุกร แทน หมู จนทำให้ผู้ใหญ่ลี เข้าใจผิดไปว่า สุกร หมายถึง สุนัข หรือ หมา นั่นเอง ซึ่งเป็นการสะท้อน แนวคิดแบบรัฐนิยม ที่ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน ผ่านการสื่อสารที่เอารัฐเป็นที่ตั้ง ไม่ได้มองว่าประชาชนจะเข้าใจ หรือเจออุปสรรคในการรับรู้ข้อมูลหรือไม่ ดังตัวอย่างข้างต้น คือ การใช้เลขไทยอย่างไม่คำนึงถึงประสิทธิผล


ปฏิพัทธ์ จึงชวนย้อนกลับไปเมื่อ ปี ๒๔๘๕ โดยเล่าว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยกำหนดให้ราชการใช้เลขไทยมาแล้ว ก่อนจะถูกยกเลิกในปี ๒๔๘๗ โดย ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่า การใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไม่ใช่เรื่องใหม่


อย่างไรก็ตาม ๕๖ ปีหลังจากนั้น คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร มีข้อกังวลถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เห็นว่า สังคมช่วงนั้นกำลังเห่อกับการใช้ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ โดยเฉพาะการใช้ในหน่วยงานราชการ อาจกระทบต่ออัตลักษณ์ของชาติ ส่งผลให้รัฐบาลขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการใช้ พ.ศ. แทน ค.ศ. และสอดแทรกการ “ส่งเสริม” การใช้เลขไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓

“มันต้องตั้งคำถามกับความเป็นไทยก่อน ความเป็นไทยคืออะไร ?
เลขไทย มันก็ไม่ใช่เลขของไทยคนเดียว เราใช้เลขร่วมกับเขมรและลาว

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา
ธนบัตร ๕๐๐ เรียลกัมพูชา
ธนบัตร ๑๐๐,๐๐๐ กีบลาว

เขายังชวนสังเกตว่า รัฐไทยอาจมีภาพจำของ ความเป็นไทย ที่แข็งกระด้างเกินไปหรือไม่ ? ยกตัวอย่าง การเผยแพร่ข้อมูลในอินโฟกราฟิกของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนใหญ่ก็ใช้เลขอารบิกเพื่อให้อ่านง่าย แต่บางกรณี เช่น วันสำคัญทางพุทธศาสนา ก็จะใช้เลขไทยแบบวิจิตรมาก ทำให้เห็นว่า พอเป็นเรื่องไทย ๆ เราก็จะมีสี มีโทน มีรูปแบบการนำเสนอที่กำหนดไว้อยู่แล้ว และความแข็งกระด้างนี้เข้าไปตีกรอบการสื่อสารหรือการใช้งาน ทั้งที่เราสามารถตีความ ความเป็นไทย ได้ในแบบที่หลากหลาย


ทั้งนี้ยืนยันว่า ตัวเขาเองไม่ได้ต้องการทำให้เลขไทยหายไปจากสังคม และย้ำอีกว่าเลขไทยไม่มีวันหายไปไหน สถานการณ์นี้คล้ายกับการเลิกใช้ ฃ (ฃวด) และ ฅ (ฅน) ซึ่งแม้จะไม่มีการใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่ยังคงอยู่ในชุดอักขระและแป้นพิมพ์ ใครอยากใช้ก็ใช้ได้ เช่นเดียวกับเลขไทย ที่ยังปรากฏอยู่บนงานวรรณกรรม กาพย์ กลอน ตลอดจนศิลปะไทยทุกแขนง เพียงแต่ว่า ในการสื่อสารของทางการซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ควรเป็นสากล เข้าใจง่าย และไม่ทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือน เลขอารบิกจึงตอบโจทย์กว่า

“เลขไทยสามารถเป็น Soft Power ได้ด้วยซ้ำ ถ้ารัฐจัดให้ถูกที่ถูกทาง…แต่กระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งควรเป็นคนวางมาตรฐานดิจิทัล ยังใช้เลขไทยปนกับเลขอารบิกอยู่เลย ซึ่งน่าห่วง เพราะหากไม่จัดระเบียบข้อมูลกันใหม่ตั้งแต่วันนี้ อีกสิบปีข้างหน้า แนวคิดรัฐบาลดิจิทัลหรือ Digitalization ที่เคยพูดไว้คงไปไม่ถึงไหน

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา

ข้อเสนอปฏิรูปรัฐไทย มองเห็นประชาชน เป็น User

ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเลขไทย แต่เป็นปัญหาค่านิยมแบบไทย ๆ ของระบบราชการที่ให้ความสำคัญกับระเบียบขั้นตอนมากกว่าประสิทธิผล อย่างการสื่อสารภัยพิบัติที่เป็นช่วงเวลาของความเป็นความตาย การขอส่ง SMS แจ้งเตือนต้องผ่านกระบวนการอนุมัติหลายขั้นตอน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ไปยังอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงนามในเอกสาร และขออนุมัติจาก กสทช. ทำให้เกิดความล่าช้าในสถานการณ์เร่งด่วน


แม้จะดูเป็นการปฏิบัติตามระเบียบ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการรับมือเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ ก็มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความจำเป็นของข้าราชการผู้น้อยที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อป้องกันเรื่องคดีความที่อาจเกิดขึ้นได้


แนวคิด “รัฐเป็นผู้ให้บริการ (Provider) และประชาชนเป็นผู้ใช้งาน (User)” จึงควรได้รับการตระหนักมากขึ้น เมื่อลูกค้าจ่ายภาษี รัฐต้องให้บริการสาธารณะ รัฐควรออกแบบระบบโดยยึดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง คิดถึงประสบการณ์ของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและบริการ เช่นเดียวกับที่บริษัทเอกชนให้ความสำคัญกับประสบการณ์ลูกค้า


ปฏิพัทธ์ เลยชวนถอยกันคนละก้าว เพื่อทำให้ราชการเป็นของประชาชน เริ่มต้นจากเรื่องที่เล็กที่สุดอย่าง เลขไทย โดยเปรียบเทียบแนวทางการใช้กับอีก 3 ประเทศ ดังนี้

  • อินเดีย – กำหนดให้ใช้เลขสากล (อารบิก) ในเอกสารราชการโดยชัดเจน ขณะที่ภาษาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมยังคงอยู่ โดยอินเดียระบุในรัฐธรรมนูญว่าให้ราชการใช้ตัวอักษรเทวนาครี (ภาษาฮินดี) แต่ตัวเลขต้องเป็นเลขสากล

  • ญี่ปุ่น – ใช้ตัวเลขจีน (คันจิ) และเลขสากลร่วมกัน แต่กำหนดให้ใช้เลขสากลในกรณีที่ต้องคำนวณหรือตัวเลขอยู่ในตาราง เพื่อความชัดเจนและสะดวกในการใช้งาน

  • กลุ่มประเทศอาหรับ – ใช้ทั้งตัวเลขตามวัฒนธรรมท้องถิ่นและเลขสากลควบคู่กันในทุกบริบท เช่น เอกสารราชการ ป้าย หรือข้อมูลสำคัญ เพื่อรักษาวัฒนธรรมและอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระดับสากล

การใช้เลขไทยอาจมีลักษณะคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น หรืออินเดีย ซึ่งมีตัวเลขเฉพาะในวัฒนธรรมของตนเอง แต่ไม่ได้ถูกใช้งานในชีวิตประจำวันมากนัก ส่วนใหญ่จะพบได้ตามสถานที่ท่องเที่ยว การศึกษา และศิลปะวัฒนธรรม


อย่างไรก็ตาม อินเดียอาจเป็นตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับไทยมากกว่า เพราะตัวเลขที่ใช้ในระบบหลักของประเทศยังคงเป็นเลขสากล (อารบิก) เหล่านี้เป็นตัวอย่างการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับความเป็นสากลที่ไทยเอาไปปรับใช้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องมี “ขอบเขต” หรือ “แม่แบบ” ของการสื่อสารจากภาครัฐเสียที ไม่เช่นนั้น เราจะก็พบการสื่อสารแบบเลขไทยปนอารบิกใน SMS เตือนภัยแผ่นดินไหวที่ผ่านมา


คำถามทิ้งท้าย คือ รัฐต้องทบทวนว่าเขามองเห็นตัวเองในบทบาทใด ? แม้หลายหน่วยงานมักมีคำขวัญขึ้นบนหน้าเว็บว่า “บริการประชาชน” แต่จะเป็นจริงได้ ต้องเริ่มคิดจากการให้ประชาชนเป็นผู้ใช้งานก่อน (User) โดยเชื่อว่า ในหลายหน่วยงานราชการ มีคนที่อยากจะช่วยพัฒนาการบริการ และการสื่อสารให้ดีขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าประชาชนเองก็พร้อมที่จะช่วย โดยไม่ต้องการผลตอบแทน เพียงแค่ต้องการให้การสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล

“บางครั้งรัฐก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง แต่เมื่อรู้แล้วว่าทำไม่ได้ รัฐต้องฟัง นำเข้าความเชี่ยวชาญเหล่านั้น เข้าไปเปลี่ยนแปลงและออกแบบให้ตรงความต้องการ
เพื่อให้ราชการเป็นของประชาชนเสียที”

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง