ภารกิจสำคัญของ “แม่” ที่รัฐต้องช่วยโอบอุ้ม
“นมแม่…แน่ที่สุด”
คือแคมเพนที่เกิดขึ้นช่วงปี 2560 โดยมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์การยูนิเซฟ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หากกล่าวโดยสรุป คือ การรณรงค์และนำเสนอประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และความตระหนักเรื่องการตลาดของนมผง
ย้อนไปก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2551 อีกแคมเพนที่เกิดขึ้น คือ “นมแม่ดีที่หนึ่งเลย” ที่กระทรวงสาธารณสุข พยายามใช้สื่อสารเพื่อเน้นย้ำว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซื้อนมผงแล้ว นมแม่ยังเป็นหยดแรกของสายใยรักแห่งครอบครัว ให้ความรัก ความผูกพันระหว่างแม่ลูกที่อบอุ่น เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการสร้างลูกให้มีคุณภาพ มีผลต่อพัฒนาการและภูมิคุ้มกัน
เราเริ่มต้นอย่างนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าหลายภาคส่วนพยายามกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มานานแล้ว ก่อนที่ปัจจุบันจะมีการให้ข้อมูลระหว่าง “นมแม่” และ “นมผง” ที่แตกต่างออกไป
เชื่อว่าคุณแม่ส่วนใหญ่น่าจะทราบถึงคุณประโยชน์ของนมแม่ในช่วง 0-6 เดือนแรกเป็นอย่างดี มีกุมารแพทย์หลายคนมุ่งมั่นเหลือเกินที่จะทำให้คุณแม่อดทนผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากที่แสนสำคัญนี้ไปให้ได้ แต่ก็มีบ้างที่ถูกคอมเมนต์กลับ
“คนหาเช้ากินค่ำ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะไปทำได้ยังไงกัน”
หนึ่งในนั้นคือ “พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ” กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการด้านทารกแรกเกิด รพ.เมดพาร์ค และผู้เขียนหนังสือ “สร้างชีวิตมหัศจรรย์ด้วยน้ำนมแม่” ที่มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก นมแม่ ป้าหมอสุธีรา กว่า 4.9 แสนคน
คุณหมอสุธีราเล่าถึงความสำเร็จในการติดตามทารกตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเด็กบางคนยังคงติดต่อกันจนพวกเขาจบการศึกษา พบว่า ในกลุ่มที่กินนมแม่ในช่วง 0-6 เดือนแรก หรือจนกว่าจะหมดน้ำนม จะมีภูมิคุ้มกันโรค เช่น ภูมิแพ้ การติดเชื้อต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ แต่ที่พูดถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมาคือ “ความฉลาด” คุณหมอสุธีราย้ำว่า เป็นเรื่องของหลายปัจจัย เช่น ความฉลาดของพ่อแม่ เศรษฐฐานะ การเลี้ยงดู สารอาหาร เปรียบเทียบทั้ง 2 ครอบครัวมีเท่ากัน แต่ครอบครัวที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่กินนมผง ขั้นต่ำ 2 – 7 แต้ม ซึ่งในกรณีสูงถึง 7 แต้ม สามารถขยับอันดับในการสอบ จากอันดับกลาง ๆ ขึ้นมาอยู่ใน Top 3 ได้
“ที่หมอเน้นแบบนี้ ไม่ได้ต้องการจะให้คุณแม่ที่กำลังให้นมผงอยู่ต้องเปลี่ยนมาให้นมแม่ เพียงแต่ต้องการให้กำลังใจคุณแม่ที่ให้นมอยู่ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กน้อยในสังคม อย่าหยุดนมแม่ทั้งที่ยังสามารถให้นมได้ เพราะว่ามีความเข้าใจผิดหลายอย่าง เช่น เพราะกินนมแม่ลูกเลยตัวเล็ก ตัวซีด เป็นลูกแหง่ติดแม่ ซึ่งแต่ละประเด็นสามารถแก้ไขวิธีอื่นที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าต้องหยุดให้นมลูกแล้วเปลี่ยนไปกินนมผง”
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
เมื่อพูดถึงภาวะเศรษฐกิจ ช่วงเวลาในการทำงาน ไม่เอื้อให้คุณแม่หลายคนสามารถให้นมลูกอย่างน้อยจนถึง 6 เดือนได้ โดยเฉพาะแรงงานหาเช้ากินค่ำ คุณหมอสุธีรา ยังคงให้กำลังใจพร้อมยกตัวอย่างคุณแม่ท่านหนึ่งทำงานอยู่ จ.เชียงใหม่ ส่วนลูกอยู่ จ.ปัตตานี สามารถใช้เวลากลางวันและกลางคืนในการปั๊มน้ำนม แช่แข็ง ส่งขนส่งสาธารณะเพื่อให้คุณยายที่อยู่ที่บ้านละลายนมป้อนให้กิน ไม่เพียงจะทำให้ลูกได้กินนมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังช่วยลดภาระค่านมผงซึ่งราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น นมผงสูตรธรรมดา เฉลี่ย 4,000 – 5,000 บาทต่อเดือน สูตรพิเศษสำหรับเด็กแพ้นมผง เฉลี่ย 20,000 – 30,000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม คุณหมอสุธีรา ยังมองถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระดับนโยบายและภาคธุรกิจ เช่น
- รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการลาคลอดเพื่อเลี้ยงลูกของผู้หญิง เช่น ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย สวีเดน ฟินแลนด์ อนุญาตให้ลาคลอดได้ 1 ปี โดยที่ยังได้รับเงินเดือน
- นโยบายสนับสนุน คลินิกนมแม่ ทุกโรงพยาบาล ให้ความรู้และฝึกคุณแม่มือใหม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ “ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี”
- สถานที่ทำงานรัฐ เอกชน ต้องกำหนดเวลาให้คุณแม่ได้ปั๊มน้ำนม มีห้องและอุปกรณ์สำหรับปั๊มน้ำนม
“บางบริษัทที่มีนโยบาย มีอุปกรณ์ต่าง ๆ สนับสนุนให้พนักงานพักปั๊มน้ำนมทุก 3 ชั่วโมง เก็บข้อมูลผลตอบแทนจากการลงทุนในนโยบายดังกล่าว พบกำไรสูงขึ้นเกือบ 1,000 % เพราะคุณแม่ลางานน้อย เนื่องจากลูกไม่ป่วยบ่อย ไม่ต้องใช้สวัสดิการของออฟฟิศในการรักษาพยาบาล”
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
ทารกไทย 1 ใน 3 กินนมแม่ 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายโลก
ความพยายามในการสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องนมแม่ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังเกตจากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย องค์การยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบทารก 1 ใน 3 คน (ร้อยละ 29) ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่ตัวเลขนี้ ยังต่ำกว่าเป้าหมายโภชนาการโลก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 50 ภายในปี 2568 ซึ่งในสัปดาห์นมแม่โลก ช่วงต้นเดือนสิงหาคมปีนี้ ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ปล่อยมินิแคมเพนออนไลน์ “เดอะ มาสเตอร์พีซ” เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งสำคัญมาโดยตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แม้ในสังคมยุคปัจจุบันกำลังเผชิญอุปสรรคหลากหลายด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ขาดการสนับสนุนอย่างทันท่วงทีจากบุคลากรทางการแพทย์เมื่อมีปัญหาในการให้นม หรือขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัว ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการตลาดของนมผงที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านมผงดีเทียบเท่านมแม่ นอกจากนี้ การขาดการสนับสนุนจากสถานที่ทำงานมักทำให้แม่จำนวนมากไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อได้ เมื่อต้องกลับไปทำงาน
ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุเพิ่มเติมว่า ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้สถานที่ทำงานจัดทำนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัวมากขึ้น เช่น นโยบายลาคลอด 6 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง การจัดบริการดูแลเด็กเล็กในราคาที่เข้าถึงได้ ตลอดจนการจัดให้มีมุมนมแม่และการจัดเวลาพักเพื่อให้แม่บีบเก็บน้ำนม และการสนับสนุนจากผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน
ส่องนโยบายพรรคการเมือง ใครบ้างรับปากดูแลแม่และเด็ก
แม้ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลดูเหมือนจะยังไม่นิ่ง แต่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กที่เอื้อต่อการให้นมบุตร เมื่อวิเคราะห์จากช่วงหาเสียงแล้ว หลายพรรคพร้อมสนับสนุนคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กแทบทั้งสิ้น แต่จะพูดไว้ชัดแค่ไหนทั้งในนโยบายและคำแถลงพรรค ณ เวลานี้
- เพื่อไทย จากถ้อยแถลงเนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค. 2566 ระบุในหมวดสิทธิและสวัสดิภาพแรงงานไว้ว่า จะผลักดันสิทธิวันลาคลอดและสิทธิแรงงานคู่สมรส ลาเลี้ยงลูกเพื่อสร้างรากฐานครอบครัวให้แข็งแรง
- ประชาชาติ ขยายสิทธิการลาคลอดบุตร ทั้งพ่อและแม่ คนละ 180 วัน โดยได้รับเงินเดือนปกติ
- เสรีรวมไทย มีแนวคิดว่า เด็กทุกคนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ต้องพัฒนาให้เติบโตอย่างดี โดยเฉพาะในช่วง 0-6 ปี และต้องสร้างให้เป็นรูปธรรม
- ก้าวไกล มีการพูดไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ชูนโยบายสิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ เพื่อให้บุตรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด มีศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน ห้องปั๊มน้ำนมในที่ทำงาน
- ไทยสร้างไทย ตั้งกองทุนแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีอยู่ประมาณ 370,000 คน ให้มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเอง และลูกได้อย่างมั่นคง
- ประชาธิปัตย์ กำหนดสิทธิลาคลอดแก่แม่ ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และให้พ่อลาหยุดเพื่อร่วมดูแลลูกเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยได้รับเงินชดเชยค่าจ้างจากความร่วมมือระหว่างนายจ้างและสำนักงานประกันสังคม
ซึ่งหากวิเคราะห์จากบริบททางการเมืองที่ผ่านมา นโยบายที่กล่าวมาทั้งหมดอาจเกิดขึ้น เกิดขึ้นล่าช้า หรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ขณะเดียวกันแม้แต่พรรคที่ไม่ได้ประกาศชัดเจน แต่มาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ก็เคยมีปรากฏให้เห็นแล้วเช่นกัน เพราะการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ ถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่เด็กไทย ซึ่งจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กุมารแพทย์หลายท่านเน้นย้ำ คือการเติบโตอย่างมีคุณภาพประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น สภาพเศรษฐกิจ การเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งหนีไม่พ้นการมีนโยบายและสวัสดิการที่ดีอีกเช่นกัน ดังนั้น หากคุณแม่ท่านไหนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการมีน้ำนมให้ลูก ทำให้ต้องหันมาพึ่งนมผงด้วยปัจจัยใด ๆ ก็แล้วแต่ ผู้เขียนอยากขอเป็นกำลังใจ และยืนยันว่าคุณไม่ได้เป็นแม่ที่ล้มเหลว เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกยังสามารถเชื่อมถึงกันได้หลากหลายวีธี ผ่านความมหัศจรรย์ของสัญชาตญาณความเป็นแม่