วันพระใหญ่ เข้าพรรษา เวียนมาอีกปี ท่ามกลางคำถามที่ยังวนเวียนอยู่กับ วิกฤตศรัทธาในวงการพุทธศาสนา ในช่วงเวลาที่ชาวพุทธเสพข่าวฉาวของพระสงฆ์รายวัน จากปม ปัจจัย (เงิน) ทุจริต ฉ้อฉล เลยเถิดถึง ความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ของคนในผ้าเหลือง
หลายเรื่องราวฉาวในวัด อาจเป็นเพียงพฤติกรรมส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้หมู่คณะสงฆ์มีรอยด่างพร้อย แต่สิ่งนี้กลับค่อย ๆ บั่นทอนศรัทธาชาวพุทธไปเรื่อย ๆ อะไร ? คือที่มาที่ไปของการทำให้พุทธศาสนาไทยถลำลึกมาได้ไกลถึงขนาดนี้ แล้วยังพอมีทางไหนบ้าง ที่จะพยายามกอบกู้ศรัทธาให้กลับคืนมาได้
The Active ชวนหาคำตอบผ่านงานศึกษา และมุมมองของ ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยนโยบายการกำกับดูแลที่ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อหาคำอธิบายในสิ่งที่กำลังบ่อนทำลายพุทธศาสนา และทางออกจากนี้
‘เจ้าอาวาส’ อำนาจล้น กินรวบ ขาดกลไกดูแล
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชวนเปิดประเด็น ด้วยการตั้งข้อสังเกต และเชื่อว่า หลาย ๆ ครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในวัด ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเรื่อง เงิน ที่ก็มักมีพระชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ เจ้าอาวาส ที่มีส่วนรู้เห็น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงต้องยอมรับว่า ปัจจุบันขาดกลไกกับกำดูแล แม้เป็นเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของ มหาเถรสมาคม แต่การกำกับดูแลวัด เป็นอำนาจของเจ้าอาวาส ไปจนถึงคณะกรรมการวัดที่เจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำให้เชื่อว่าได้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ไร้กลไกติดตาม ตรวจสอบ

และเชื่อว่าวัดส่วนใหญ่ แทบไร้ระบบติดตาม ตรวจสอบการบริหารจัดการเงินวัด ขาดการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ทำให้คนที่ไม่หวังดี ใข้วัดเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ จากศรัทธาบุญของชาวพุทธ
แม้จะมีหน่วยงาน อย่าง มหาเถรสมาคม หรือแม้แต่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แต่ก็ไร้อำนาจควบคุม เพราะ กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ให้อำนาจสำนักพุทธฯ แค่การส่งเสริม ประสานงาน และอำนวยความสะดวก ให้กับพระสงฆ์และวัดเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ในการควบคุมดูแล กล่าวคือ เป็นการให้เงินอุดหนุน เพื่อทำกิจกรรทางศาสนา มากกว่าจะลงไปดู หรือ ไปควบคุมวัด และพระสงฆ์ โดยให้ทำหน้าที่แค่ 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
- การศึกษาพระปริยัติธรรม วัดไหนที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม ก็จะได้รับเงินไปสนับสนุนการเรียนการสอน
- สนับสนุนเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น วัดไหนเขียนโครงการเข้าไป อาจจะเป็นการจัดกิจกรรมพาเด็กนักเรียนมาอบรม ก็สามารถเขียนโครงการของบประมาณไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาได้
- สนับสนุนเงินบูรณะ ซ่อมแซม สร้าง วัด
เมื่อกลไกการเงินขาดการติดตาม นักวิจัยทีดีอาร์ไอ จึงเชื่อมโยงต่อไปถึง คดีเงินทอนวัด ที่เป็นลักษณะของการ ที่มีเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ติดต่อไปยังเจ้าอาวาสวัดให้ไปเขียนโครงการขอเงินทำนุบำรุงวัด แล้วใช้ช่องว่างแสวงหาประโยชน์ อย่างในกรณีที่พบ คือ ให้วัดขอเงิน 10 ล้าน ไปใช้สร้าง ซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ ในวัด แต่วัดกลับได้เงินจริงเพียงแค่ 1 ล้านบาท ส่วนอีก 9 ล้าน เป็นเงินทอนให้กับเจ้าหน้าที่ โดยไร้การตรวจสอบ
“ดังนั้นการขาดกลไกเหล่านี้ กลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ที่ทำให้ใครก็ได้ ที่อยากใช้วัดเป็นเครื่องมือทุจริต หรือ ยักยอกเงินของวัดได้”
ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ
วัดเยอะ เงินมาก เปิดช่องแสวงหาผลประโยชน์
ข้อมูลในวิจัยยังพบว่า วัดในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น โดยพบว่า ตอนทำวิจัย ปี 2562 มีวัด 41,000 แห่ง แต่ข้อมูล ปี 2566 เพิ่มขึ้นมาเป็น 44,000 แห่ง ขึ้นมา 3,000 แห่งในระยะเวลาไม่กี่ปี จำนวนวัดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มาพร้อมกับรายได้จำนวนมากเช่นกัน
สำหรับข้อมูลที่นำมาทำวิจัย จาก ผศ.ณดา จันทร์สม จากนิด้า ที่ศึกษาวัดทั่วประเทศ เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินของวัด 490 แห่ง เมื่อปี 2555 แม้ว่าอาจจะเป็นข้อมูลที่เก่า แต่ก็ยังพบว่า รายได้เฉลี่ยของวัด อยู่ที่ 3.24 ล้านบาทต่อปี และเป็นเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซมโบสถ์ หรือ ศาสนสถาน 2.02 ล้านบาทต่อปี รองลงมาคือ รายรับจากการสร้างเครื่องบูชา เฉลี่ย 1.46 ล้านบาทต่อปี ตอนนี้ผ่านมา 10 กว่า ปี เงินรายได้วัดน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
“วัดมาก เงินมาก ยิ่งเป็นโอกาสเสี่ยงในการกระทำผิด ยิ่งขาดกลไกการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นวัดไหนทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ ก็มีสิทธิ์ที่ใครจะเข้าไปหาผลประโยชน์ได้”
ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ
อีกมุมหนึ่ง ที่ทำให้วัดมีรายได้จากเงินบริจาค ธารทิพย์ ชวนตั้งคำถาม ว่า เป็นเพราะคนไทยสิ้นหวังหรือเปล่า ? เลยต้องหวังที่พึ่งทางใจ หันมาสร้างวัดมากขึ้น ประกอบกับการสร้างวัดทำได้ง่าย เพราะไม่มีการตรวจสอบการสร้าง ไม่มีการลงพื้นที่ ว่าวัดเดิมในพื้นที่มีมากอยู่แล้วหรือไม่ แล้วจำเป็นต้องมีเพิ่มอีกไหม หรือมองอีกมุมหนึ่งในแง่ร้าย ที่มองว่า วัดเป็นช่องทางหารายได้ ก็เลยมีคนนิยมสร้างวัดมากขึ้น เพราะวัดมีทั้งเงินทุน เงินบริจาคที่มาพร้อมกับความศรัทธา ทำให้คนอยากสร้างวัดมากขึ้นหรือไม่
ขณะเดียวกันกิจกรรมของวัดก็จำเป็นต้องอาศัยเงิน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัด การซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในวัด เพราะฉะนั้นการหารายได้เข้าวัด ยิ่งมากก็ยิ่งดี ก็ต้องทำให้วัดมีชื่อเสียง ทำให้เจ้าอาวาสวัด มีชื่อเสียง ยิ่งมีชื่อมาก คนศรัทธามาก ก็จะยิ่งทำบุญมากขึ้น ยิ่งเงินเข้ามามาก ความเสี่ยงในการยักยอกเงินเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวก็ยิ่งมีมากขึ้น หรือความเสี่ยงที่ทำให้คนหวังผลประโยชน์ก็จะวิ่งเข้าหาวัดมากขึ้นเช่นกัน

วัด กับ โอกาสกลายเป็นดินแดน ‘ฟอกเงิน’ ?
คำถามนี้… ธารทิพย์ วิเคราะห์วัดในไทยอาจไม่ได้เป็นลักษณะของการฟอกเงินที่ชัดเจน อย่างเรื่องราวของ วัดไร่ขิง ก็เป็นการยักยอก แต่ประเด็นการฟอกเงิน คือต้องนำเงินผิดกฎหมายมาทำให้ถูกกฎหมาย โดยกล่าวย้อนไปถึง คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีการยักยอกเงิน นำไปซื้อที่ดิน ไปถวายให้วัดชื่อดังย่านคลองหลวง ซึ่งเป็นรูปแบบการฟอกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่การทำให้เงินขาว แต่นำไปเป็นสินทรัพย์อย่างอื่น บริจาควัด เป็นการใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
“หรือจริง ๆ อาจจะมี ซึ่งอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้ หรือเกิดแล้ว แต่ไม่มีการตรวจสอบ เช่น การนำเงินที่ได้จากการยักยอกทรัพย์ หรือ การกระทำผิดบางอย่าง หรืออาจจะเกิดจากการค้ายาเสพติด แล้วนำเงินไปติดต่อกับเจ้าอาวาสวัด เพื่อขอสร้างวัตถุมงคล แล้วนำมาปล่อยเช่า ทำให้เงินที่ได้จากการทำผิดกฎหมาย กลายเป็นเงินถูกกฎหมาย เป็นรายได้ ซึ่งเป็นกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการใช้วัดฟอกเงินเช่นกัน ตราบใดที่เรายังขาดกลไกการกำกับดูแลวัด ก็มีความเสี่ยง ที่จะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้”
ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ
ต้องสังคายนา เพิ่มกลไกการตรวจสอบ
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ มองทางออกเรื่องนี้ คือ ต้องสังคายนา ต้องรื้อระบบใหม่ โดยการปรับกลไกการตรวจสอบกำกับดูแลวัด เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สำนักพุทธฯ เพราะแค่การสนับสนุน ส่งเสริม อาจยังไม่พอ แต่ต้องลงไปตรวจสอบ ทั้งเรื่องการเงิน การบริหารจัดการ มีการจ้างบริษัทลงไปตรวจสอบ หรือ การจัดหาบุคคลภายนอก เข้าไปช่วยพระในวัด หรือกรรมการวัด จัดทำบัญชีให้ได้มาตรฐาน
อีกอย่างที่ควรต้องปฏิรูปเลยคือ อำนาจบริหารจัดการวัดของเจ้าอาวาส คือ เจ้าอาวาสสามารถแต่งตั้งใครมาช่วยดูแลการเงินของวัดก็ได้ และหากเรามองว่า วัดเป็นองค์กร ก็ควรตั้งกรรมการ เข้ามาช่วยบริหารจัดการวัด และการตั้งกรรมการต้องมีความโปร่งใส มีที่มา
พร้อมยกตัวอย่าง ประเทศศรีลังกา ที่มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด (Buddhist Temporalities) กำหนดเรื่องการติดตามตรวจสอบการเงิน โดยให้กรรมการที่เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของวัด ต้องจัดทำบัญชีการบริหารจัดการทรัพย์สินในรูปแบบของงบการเงิน และรายงานให้แก่รัฐ ทุก ๆ 6 เดือน เหมือนกับที่ นักการเมืองเปิดเผยบัญชีกับ ป.ป.ช.
เพราะว่าวัดเกี่ยวข้องกับเงิน เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมาก เพราะฉะนั้นกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการเงินของวัด ต้องเปิดเผยและโปร่งใส กรรมการเองต้องมีหน้าที่ช่วยตรวจสอบ ทำบัญชีของวัด และทำร่วมกับเจ้าอาวาส หากไม่ทำ ในประเทศศรีลังกา มีโทษ รวมถึงเจ้าอาวาสด้วย เพราะเจ้าอาวาสปกครองวัด แต่กลับไม่ดูแลให้มีการทำตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นในไทยก็ควรจะมีการกำกับดูแล เมื่อแต่งตั้งกรรมการต้องมีความโปร่งใส กำหนดหน้าที่ให้ชัด มีบทลงโทษ ในเรื่องการส่งงบฯ การเงิน การเปิดเผยข้อมูลการเงินของวัด

ปิดช่อง ‘กรรมการ’ วัดไทย ใช้คนกันเอง
ธารทิพย์ ยังให้ความเห็นด้วยว่า ในความจริงของวัดไทยตอนนี้ส่วนใหญ่เจ้าอาวาส มักสูงวัย จึงให้ลูกหลาน คนใกล้ชิด มาช่วยดูแลวัด กรรมการเองก็อาจจะดึงคนในครอบครัวมาช่วยดูแล จึงกลายเป็นระบบบริหารจัดการวัดแบบครอบครัว หรือให้คนสนิทมาช่วยดูแล
“เมื่อเป็นคนสนิท อาจจะมีการพูดคุยกันได้ เพราะฉะนั้นความโปร่งใสของการได้มาซึ่งกรรมการวัดก็สำคัญเช่นกัน”
ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ
ที่ผ่านมามหาเถรสมาคม มีความพยายามปรับโดยการออกแบบฟอร์มให้กับวัดทุกแห่งในการจัดทำรายงานการเงิน แต่ด้วยความที่เป็นเพียงแนวปฏิบัติ ยังไม่ใช่การบังคับใช้ จากข้อมูลที่พบเมื่อปี 2558 พบว่า ส่งรายงานทางการเงินเพียง 50% เท่านั้น คือ ใครอยากทำก็ทำ ใครอยากส่งก็ส่ง เหมือนอย่างกรณี วัดไร่ขิงที่มีเงินเยอะมาก แต่ส่งรายงานไม่กี่บัญชี และเงินที่ส่งแค่ 70 ล้านบาท ส่วนต่างเยอะมาก ทำไมสำนักพุทธฯ ไม่เอะใจ นี่คือ จุดสำคัญที่ต้องสังคายนากัน
อย่างไรก็ตามทีดีอาร์ไอเคยจัดประชุม และเชิญ สำนักพุทธฯ มาร่วมด้วย ก็บอกว่า ตามกฎหมายเขามีหน้าที่แค่ส่งเสริม จะให้เขาไปควบคุมวัดก็เป็นไปไม่ได้ กฎหมายเขียนไว้ชัดเลยว่า อำนาจในการจัดการดูแลวัดเป็นของเจ้าอาวาส ดังนั้น การจะแก้ตั้งแต่ต้นทางได้ ก็ต้องแก้ไขกฎหมาย
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ย้ำด้วยว่า ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ ใช้มาตั้งแต่ปี 2505 โดยสังคายนาใหม่ ในเมื่อบอกว่าสำนักพุทธฯ ไม่มีอำนาจควบคุม ก็ต้องเพิ่มอำนาจให้ควบคุม และเพิ่มบทลงโทษลง โดยสำนักพุทธฯ ต้องเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ในการทบทวนกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการเปิดเผยข้อมูล
ความหวังฟื้น เรียกคืนศรัทธาชาวพุทธ
ต้องยอมรับว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของพระสงฆ์บางรูป อาจไม่ได้ทำให้ชาวพุทธทำบุญน้อยลง เพราะแต่ละคนก็อาจมีศรัทธาที่ต่างกัน บางคนมองว่า ทำมาก ได้มาก บริจาคไปแล้ว จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรก็แล้วแต่วัด
แต่พอมีข่าวแบบนี้ หลายคนคงเริ่มคิดแล้วว่า เงินที่บริจาคเพื่อไปทำบุญ ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ? นำไปใช้ทำอะไร ? หลายคนเริ่มมองว่านำเงินไปทำบุญกับสัตว์ดีกว่า เช่น หมาแมวจรจัด ก็จะเริ่มไม่ทำบุญกับวัด แต่อีกส่วนก็มีคนที่ยังเชื่อยังศรัทธาอยู่
แต่การจะทำให้ความศรัทธา ไม่สลายไปมากกว่านี้ ก็จำเป็นต้องรับปรับระบบ สร้างกลไกเพื่อทำให้เงินบริจาคทุกบาท ที่ผู้คนทำบุญไป เห็นผล หรือถูกนำไปสร้างประโยชน์ต่อสังคม เหมือนอย่างการเอาไปบริจาคให้กับเด็กยากจน ให้มีทุนการศึกษา เพราะถ้าหากทำให้วัดสร้างรูปธรรมจากศรัทธาของผู้คนได้ ก็อาจทำให้ วัด ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่สร้างประโยชน์ได้จริง จึงน่าจะเป็นอีกหนทางการฟื้นจากวิกฤตที่เกาะกินใจชาวพุทธอยู่ทุกวันนี้ได้ไม่น้อย